posttoday

ทำไมต้องสนใจ ‘อีอีซี’

10 กุมภาพันธ์ 2561

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ ใครที่ได้ผ่านหูผ่านตาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันบ้าง น่าจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “อีอีซี”

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ ใครที่ได้ผ่านหูผ่านตาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันบ้าง น่าจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “อีอีซี” (มาจาก Eastern Economic Corridor : EEC) และในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ยิ่งได้ยินหนาหูเป็นพิเศษ เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 5-6 ก.พ. มีวาระการประชุมสำคัญคือการผลักดันโครงการอีอีซีนี้ให้มีผลต่อการพัฒนาภาคตะวันออกและเศรษฐกิจของประเทศ

ในฐานะที่ผู้เขียนเองทำข่าวอยู่ในสายที่ได้ติดตามโครงการนี้ตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงตอนนี้ซึ่งถือว่าโครงการเดินมาถึงจุดที่เป็นรูปเป็นร่างมากพอสมควร จึงอยากใช้พื้นที่ตรงนี้เขียนสู่กันอ่านสำหรับผู้ที่อาจจะยังไม่รู้จริงๆ ว่าอีอีซีคืออะไร เกี่ยวกับชีวิตเราอย่างไร แล้วทำไมจะต้องสนใจอีอีซี 

บางคนอาจคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจช่างเป็นเรื่องไกลตัว น่าปวดหัว ไม่เห็นมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการงานที่ทำอยู่สักเท่าใด แต่ผู้เขียนอยากให้คนไทยทุกคนให้ความสนใจกับโครงการนี้สักเล็กน้อยก็ยังดี เพราะในเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศแล้ว อีอีซีจะเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยตามขั้นตอนทางนโยบายแล้วตอนนี้เรียกว่าโครงการนี้มีแต่เดินหน้า ไม่มีถอยหลัง เพราะรัฐบาลมีการจัดทำเรื่องนี้ออกมาเป็นกฎหมาย ให้แน่ใจว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ต้องเดินหน้าต่อ และเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจะมีอาชีพการงานใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย และงานบางประเภทนั้นต้องการแรงงานและคนที่มีชุดความสามารถที่ต่างจากอดีต ซึ่งบางอย่างอาจไม่มีการเรียนการสอนในหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย

นั่นหมายความว่า เราๆ ท่านๆ ที่อยู่ในตลาดแรงงาน หรือแม้แต่ที่เป็นเจ้าของกิจการ อาจได้เห็นโอกาสใหม่ๆ จากการเกิดขึ้นของอีอีซี แต่นั่นจะต้องมาพร้อมกับความเข้าใจและปรับตัวให้รับกับโอกาส

โครงการอีอีซีนี้เกิดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยรัฐบาลต้องการให้มีระดับการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น จึงได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการลงทุนมาขึ้นใน 10 กลุ่ม แยกเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพที่จะต่อยอดได้คือ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร กับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต คือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ ชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจร และกำลังมีแนวคิดเพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่มที่ 11 คือ อุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ

การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ หมายความว่าในทางนโยบายการให้มาตรการจูงใจนักลงทุนต่างๆ จะเน้นให้สิทธิกับผู้ที่ลงทุนผลิตสินค้าสนกลุ่มเป้าหมายนี้ ไม่ใช่ใครลงทุนอะไรให้หมดแบบในอดีต เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว กล่าวคือ มีนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่างจากอดีตที่ประเทศเป็นเกษตรกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่

 ส่วนพื้นที่ที่จะรองรับการลงทุน “อุตสาหกรรมใหม่” นั้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้โครงการเกิดได้เร็ว ไม่ต้องมีการไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนมากนัก จึงกำหนดให้มีการเข้ามาลงทุนในพื้นที่เดิมของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อนและมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย จากประเทศเกษตรกรรมมาสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างปัจจุบัน

โดยรัฐบาลประกาศให้ 3 จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ แต่ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมดของทั้ง 3 จังหวัดจะเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนมาแล้วได้รับสิทธิประโยชน์ แต่มีการประกาศให้สิทธิประโยชน์เป็นจุดๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่รอบๆ สนามบินอู่ตะเภา ที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับอากาศยาน

นอกจากการกำหนดอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศแล้ว ยังมีการกำหนดพื้นที่สนับสนุน เช่น เขตเฉพาะที่จะจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาตั้งสถาบันการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพื้นที่ที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านดิจิทัล การให้สิทธิประโยชน์กับสถาบันการศึกษาระดับโลกเพื่อมาเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ การอำนวยความสะดวกให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาทำงานในอีอีซีง่ายขึ้น นานขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้คนไทย

รวมถึงมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่สำคัญ เช่น รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองเชื่อมสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา พัฒนาเมืองตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รวมถึงโครงการพัฒนาระบบคมนาคมทางบก ทางน้ำ และอากาศอื่นๆ รวม 168 โครงการเงินลงทุนรวมเฉียดล้านล้านบาท

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมจากปัจจุบันไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองต่างๆ ที่กล่าวมาคงไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดได้ทันทีทันใดใน 5-10 ปี แต่มันจะค่อยๆ เกิดขึ้นตามกรอบนโยบายและกฎหมายที่กำลังจะออกมา ไม่ต่างจากค่อยๆเกิดและเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยของอีสเทิร์นซีบอร์ดใน 30 กว่าปีที่ผ่านมา

แม้จริงๆ เวลาเห็นข่าวสารทางนโยบายแล้วเรามักรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับอีอีซีแล้วอยากให้ทุกคนสนใจ แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ยังดี เพราะโครงการนี้จะเป็นคลื่นที่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจประเทศของเราในอีก 2-3 ทศวรรษถัดไป และจะส่งผลถึงอาชีพการงานของเราและลูกหลานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้