posttoday

นายจ้างสร้างแบรนด์ จูงใจคนมิลเลนเนียลส์

02 กุมภาพันธ์ 2561

หากพูดถึงกลุ่มคนทำงานที่มีการ เปลี่ยนงานมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นกลุ่มมิลเลนเนียลส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ชอบความท้าทาย ความแปลกใหม่ และมีความยืดหยุ่น

โดย...จะเรียม สำรวจ

หากพูดถึงกลุ่มคนทำงานที่มีการ เปลี่ยนงานมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นกลุ่มมิลเลนเนียลส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ชอบความท้าทาย ความแปลกใหม่ และมีความยืดหยุ่น จึงทำให้คนกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย เมื่อทำงานกับองค์กรที่ไม่มีความยืดหยุ่น

วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เด็กยุคใหม่เวลาทำโปรเจกต์มักใช้วิธีคุยกับเพื่อน ขณะเดียวกันก็ใช้งานคลาวด์ในการเก็บข้อมูลต่างๆ ทำให้พฤติกรรมของคนกลุ่ม มิลเลนเนียลส์จะเป็นในรูปแบบ Any Where Any Time จากพฤติกรรม ดังกล่าวทำให้กลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ มีความคาดหวังว่าเมื่อเข้ามาทำงานจะได้ร่วมงานกับองค์กรที่มีความยืดหยุ่นเช่นกัน

นอกจากนี้ กลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ยังมีมุมมองที่ว่าอยากได้รับการดูแลจากองค์กรเหมือนกับที่องค์กรดูแลลูกค้า เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่จะมีการดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี จึงมีความต้องการที่จะให้องค์กรดูแลตัวเองให้ดีเหมือนกัน

ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ กล่าวว่า กลุ่มพนักงานมิลเลนเนียลส์ถือเป็นกลุ่มที่มีความเบื่อง่าย ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมจะพบว่าคนกลุ่มนี้จำนวน 2 ใน 3 จะทำงานในแต่ละองค์กรไม่เกิน 5 ปี และขณะที่นั่งทำงานอยู่ก็จะเสิร์ชหางานใหม่ในอินเทอร์เน็ตควบคู่กันไป

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นดังกล่าวของกลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ส่งผลให้บริษัทในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้น เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับพนักงานในกลุ่มมิลเลนเนียลส์ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นต่อเนื่องแล้ว ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพล และส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของพนักงาน

ด้วยเหตุนี้หลายองค์กรขนาดใหญ่ของไทยจึงเริ่มหันมาสร้างแบรนด์ขององค์กร เพื่อให้เกิดมุมมองการเป็นนายจ้างที่ดี เนื่องจากกลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มคนมิลเลน เนียลส์ที่จะเข้ามาร่วมงานได้เป็นอย่างดี

หลังจากสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายที่จะนำเข้ามาร่วมงานได้แล้ว ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองก็ต้องมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงให้ทันเช่นกัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจบุคลากรแต่ละคนที่อยู่ในองค์กรว่ามีความต้องการอะไร เพราะแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน

"หากองค์กรสามารถตอบโจทย์ความต้องการในเรื่องนี้ได้ ก็จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคลากร โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลส์ทำงานร่วมกับ องค์กรนั้นๆ ได้นานมากขึ้น" ศิริยุพา กล่าว

ด้าน เดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า พนักงานแต่ละเจเนอเรชั่นให้คุณค่า และลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องค้นหาว่า อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานเหล่านั้น เช่น ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคง และโอกาสที่หลากหลายในที่ทำงาน

ยกตัวอย่างพนักงานกลุ่มมิลเลนเนียลส์ต้องการทำงานที่มีความยืดหยุ่น และเพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทจึงมีบริการระบบคลาวด์เข้ามาช่วยองค์กรต่างๆ ให้บริหารทรัพยากรบุคคลได้ดียิ่งขึ้น