posttoday

ค้าปลีกเร่งปั้นยอดขายสู้ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม

28 มกราคม 2561

ค้าปลีกเร่งเพิ่มยอดขายให้ได้อย่างน้อย 8-13% หลังต้นทุนค่าแรงพุ่ง 11.83%

ค้าปลีกเร่งเพิ่มยอดขายให้ได้อย่างน้อย 8-13% หลังต้นทุนค่าแรงพุ่ง 11.83%

น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ภาครัฐประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 8-22 บาท ด้วยการแบ่งค่าแรงขั้นต่ำออกเป็น 7 ระดับในปีนี้ ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานเกินอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ อาจยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะแรก เนื่องจากสามารถบริหารต้นทุนได้แม้ว่าค่าจ้างแรงงานจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ประมาณ 2% แต่ในส่วนของค้าปลีกขนาดเล็กอาจได้รับผลกระทบทันที

ปัจจุบันอัตราค่าจ้างแรงงานพื้นฐานของธุรกิจค้าปลีกโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 6-9% ต่อยอดขาย แต่ตามข้อกำหนดใหม่ ธุรกิจค้าปลีกจะมีค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 2% บวกกับเงินสมทบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น 10% และเงินกองทุนทดแทนที่เพิ่มขึ้นอีก 1.83% รวมอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 11.83% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าจ้างพนักงานพื้นฐานใหม่กลายเป็น 7.09-10.64% ต่อยอดขาย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.68-2.25% ของยอดขาย

ทั้งนี้ จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องขายสินค้าให้ได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 8.61-13.33% เพื่อที่จะมีกำไรไปจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังไม่นับรวมถึงจำนวนพนักงานปัจจุบัน พาร์ตไทม์ เอาต์ซอร์ส แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย และซับคอนแทรกต์อื่นๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15% ของพนักงานประจำทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเจรจาขอปรับเพิ่มค่าแรงด้วย

น.ส.จริยา กล่าวอีกว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว สมาคมฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐพิจารณาใน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ภาครัฐควรมีการออกมาตรการระยะสั้นช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการ 2.ให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าจ้างแรงงานทั้งหมดไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า 3.ควรออกกฎกระทรวงประกาศค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกกฎหมาย และ 5.จัดหาดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำภายในประเทศ