posttoday

โออิชิปั้น 3 ขาธุรกิจ ดันแพ็กฟูดส์-ลุยซีแอลเอ็มวี

17 มกราคม 2561

โออิชิ กรุ๊ป วางวิสัยทัศน์ ขยายตัวจาก 2 ขาธุรกิจเดิม กลุ่มเครื่องดื่ม กับกลุ่มอาหาร 47.9% ไปเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มเครื่องดื่ม

โดย...พรพรต ชัยศรีบุญเรือง

เพื่อให้การเติบโตมีเสถียรภาพยั่งยืนตามนโยบายทีทีซีของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ทางโออิชิ กรุ๊ป บริษัทในเครือ จึงวางวิสัยทัศน์หรือวิชั่นของ โออิชิ ให้ขยายตัวจาก 2 ขาธุรกิจเดิม กลุ่มเครื่องดื่ม 52.1% กับกลุ่มอาหาร 47.9% ของรายได้รวมรอบปีบัญชีบริษัท 2560 (ต.ค. 2559-ก.ย. 2560) ที่ทำได้ 1.36 หมื่นล้านบาท ไปเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มเครื่องดื่มสัดส่วนกว่า 33% กลุ่มร้านอาหารกว่า 33% และกลุ่มอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน (Packaged Food) กว่า 33% ของรายได้รวม

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า การแยกกลุ่มอาหารพร้อมทานออกมาเป็นอีกขาธุรกิจ เพื่อให้เกิดการโฟกัสในกลุ่มสินค้านี้เพิ่มขึ้น จากเดิมแพ็กเกจฟู้ดส์รวมอยู่ในกลุ่มอาหาร ที่รายได้หลักมาจากเชนร้านอาหาร เช่น ร้านโออิชิ ร้านชาบูชิ ซึ่งกลุ่มแพ็กเกจฟูดส์โอกาสในตลาดยังโตได้อีกมาก เมื่อโครงสร้างใหม่กลุ่มเครื่องดื่มก็โต กลุ่มเชนร้านอาหารก็โต และกลุ่มแพ็กเกจฟู้ดส์อัตราโตเร็วขึ้นมาเป็น 3 ขาธุรกิจ โออิชิ กรุ๊ป ก็จะกระจายเสี่ยงได้มากขึ้น เสริมจุดแข็งตำแหน่งธุรกิจเดิม ความเป็นญี่ปุ่น ที่มี นวัตกรรม คุณภาพแบบญี่ปุ่น และสร้างมูลค่ามากกว่าแค่กินอิ่ม เช่น อร่อย คุ้มค่า บริการบรรยากาศดี

ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่ให้กับ 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.ต้องให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง 2.อินโนเวชั่นสินค้าและบริการแปลกใหม่ 3.พัฒนาแบรนด์ให้ทรงพลัง และ 4.รับการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลนำมาเพิ่มประสิทธิภาพเข้าถึงลูกค้า เพื่อให้เป็นไปตามแผนระยะยาววิสัยทัศน์ 2020 (พ.ศ. 2563) เป็นผู้นำในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นในภูมิภาค โตทั้งตลาดในประเทศและอาเซียน

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่าโรงงานผลิตอาหารแห่งใหม่เป็นโรงงานที่ใหญ่มาก ขณะนี้ใช้กำลังการผลิตแค่ 20-30% หากจะขายผ่านเชนร้านอาหารที่เปิดใหม่เฉลี่ยปีละ 50 สาขา ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ถึงจะใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ดังนั้นการขยายไปรูปแบบแพ็กเกจฟู้ดส์จึงเป็นกลยุทธ์ที่ดี

สำหรับธุรกิจร้านอาหารมูลค่า 4 แสนล้านบาท โตปีละ 2-4% แบ่งเป็นร้านอาหารที่เป็นเชน 1.2-1.4 แสนล้านบาท ปีนี้จะมี 4 แนวโน้ม คือ 1.อาหารสุขภาพ 2.ผู้บริโภคใช้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้น 3.มีตัวเลือกอาหารหลากหลายขึ้น และ 4.ผู้บริโภคยินดีจ่ายสินค้าที่ คุ้มค่าไม่ได้ดูจากราคาถูกอย่างเดียว ส่วนเซ็กเมนต์ร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิเป็นผู้นำ 6,493 ล้าน ฟูจิ 3,136 ล้าน ยาโยอิ 2,721 ล้าน เซน 2,137 ล้าน ซีอาร์จี 1,363 ล้านบาท ภาพรวมโตปีละ 10%

ขณะที่กลุ่มอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน กชกร อรรถรังสรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า อาหารแบบแพ็กเกจฟู้ดส์ออสเตรเลียบริโภคมากปีละ 3 กก./คน/ปี ส่วนไทยยังแค่ 0.7-0.8 กก./คน/ปี ยังขยายได้อีกมากทั้ง 3 กลุ่มของบริษัท คือ 1.สแน็กทานเล่น หรือเป็นแอพิไทเซอร์ 2.อาหารปรุงสำเร็จเข้าไมโครเวฟรับประทานได้ทันที และ 3.แซนด์วิชและเบเกอรี่ เพราะจากการสำรวจคนไทยกินอาหารทั้งทานเล่นและมื้อหลักรวมวันละ 7 มื้อ

ด้านกลุ่มเครื่องดื่ม เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป กล่าวว่า หลังปี 2559 โออิชิมีส่วนแบ่งแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งด้วยแชร์ 43% รองไปเป็นอิชิตัน 40% รอบปี 2560 โออิชิมีส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 46% รองไปเป็น อิชิตัน 34% ส่วนภาพรวมชาเขียวติดลบ 6% ดังนั้นเพื่อให้กลุ่มเครื่องดื่มยังโต จึงขยายไปประเทศซีแอลเอ็มวี โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมากที่กัมพูชาและ สปป.ลาว ทำให้สัดส่วนการส่งออกเป็น 12% ของกลุ่มเครื่องดื่ม พร้อมทั้งปีนี้จะเข้าไปเมียนมาและเวียดนามมากขึ้น