posttoday

เทรนด์ค้าปลีก4อี

06 มกราคม 2561

การเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การช็อปปิ้งออนไลน์เริ่มแทรกซึมเข้าวิถีชีวิตประจำวันในอุ้งมือของคนรุ่นใหม่

โดย...จะเรียม สำรวจ

การเติบโตของผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การช็อปปิ้งออนไลน์เริ่มแทรกซึมเข้าวิถีชีวิตประจำวันในอุ้งมือของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องปรับตัวหันมาให้ความสำคัญกับการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ e-Commerce ควบคู่ไปด้วย

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา หลายคนบอกว่าธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้าน Brick and Mortar กำลังจะกลายเป็นอดีต ส่วนธุรกิจ e-Commerce คืออนาคต แต่มาถึงวันนี้นักธุรกิจและ นักเทคโนโลยีหลายคน เริ่มมองว่า e-Commerce เองก็กำลังจะกลายเป็นอดีตเช่นกัน ส่วนอนาคตที่กำลัง จะมาถึงอย่างรวดเร็ว คือโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า e-Business ซึ่ง รูปธรรมของ e-Business ที่รู้จักกันดีก็คือ O2O หรือ Omni Channel

รูปแบบของธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีโลกออนไลน์อย่างลงตัว เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและชำระเงินออนไลน์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถเก็บข้อมูลของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการได้ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลเชิงนำไปพัฒนาเป็นกลยุทธ์การทำตลาด

ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสามารถใช้จุดแข็งของห้างร้านที่มีสินค้าจริงให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและทดลอง รวมทั้งยังเป็น พื้นที่สำหรับเดินเล่นหรือนัดพบสังสรรค์กับเพื่อนได้ด้วย ซึ่งรูปแบบของ e- Business โดยทั่วไปประกอบด้วย 1.e-Commerce 2.e-Finance 3.e- Logistics และ 4.e-Data (Big Data)

ในส่วนของ e-Commerce หรือธุรกรรมการซื้อการขาย สำนักงาน พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2559 พบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ 12.42% มีมูลค่ารวมสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท โดยกลุ่ม e-Commerce ในสัดส่วน B2C มีอัตราเติบโต 43% และกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งมีทั้ง B2B และ B2C เติบโตที่ 26%

ขณะที่ e-Finance หรือธุรกรรมการเงิน ปัจจุบัน PayPal ผู้นำด้านการชำระเงินแบบดิจิทัลระดับโลก และอิปซอสส์ (Ipsos) ได้นำเสนอรายงานการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกปี 2559 ระบุว่า ยอดการช็อปออนไลน์ของประเทศไทยที่มาจากการซื้อของผ่านเว็บไซต์ในประเทศมีอัตราการเติบโตที่ 16% และปี 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 84%

ทั้งนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าคนไทยจะใช้เงินสดกันน้อยลงและ หันมาใช้จ่ายผ่านบัตรและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีการประกาศโครงการ Expansion of Card and Card Acceptance ภายใต้นโยบาย National e-Payment ที่บังคับให้ทุกร้านค้าที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ต้องมีเครื่อง EDC เพื่อเพิ่มอัตราการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับ e-Logistics หรือธุรกรรมการส่งมอบสินค้า ถือเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการทำธุรกิจออนไลน์ เนื่องจากระบบนี้มีหน้าที่จัดสรรสินค้าเข้าสู่การผลิต การจัดหา และนำสินค้าไปส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งกระบวนการนี้ต้องมีการติดต่อและจัดส่งอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สินค้าส่งถึงมือลูกค้าให้เร็วที่สุด สะดวกที่สุด ประหยัดต่อการขนส่งที่สุด และเกิดการผิดพลาดน้อยที่สุด

ปัจจุบันผู้ประกอบการมีการพัฒนาด้าน e-Commerce กันมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดค้าปลีกมีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม เนื่องจากสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น

e-Business ตัวสุดท้ายที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน คือ e-Data (Big Data) หรือธุรกรรมในการประมวลข้อมูล กลยุทธ์ดังกล่าว ถือเป็นเทรนด์สำคัญของธุรกิจค้าปลีก เพราะข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละครั้งจะนำไปสู่การประมวลผลเพื่อหาไลฟ์สไตล์ ความชอบของลูกค้า และเมื่อสามารถวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าได้แม่นยำ ก็สามารถจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับเป็นโปรโมชั่นให้ตรงใจกับลูกค้าได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเทรนด์ของ e-Business จะเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น แต่คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ภาพการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถึงจะถูกผลักดันออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน