posttoday

อาชีพรุ่ง-ร่วง

26 ธันวาคม 2560

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงธุรกิจดาวรุ่ง ดาวร่วง ประจำปี 2561 ไปแล้ว

โดย[email protected]

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงธุรกิจดาวรุ่ง ดาวร่วง ประจำปี 2561 ไปแล้ว ปรากฏว่าธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศมาแรงแซงแชมป์อย่างกลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ขึ้นเป็นอันดับ 1 ตามเทรนด์ธุรกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต

สัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจ 10 อาชีพเด่น-ร่วงปี 2561 ซึ่งยังคงอยู่ในเทรนด์เดียวกัน คือ อาชีพที่มีความโดดเด่นจะอยู่ในเทรนด์กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไอทีและกระแสรักสุขภาพและความงาม โดยอาชีพเด่นอันดับ 1 ในปี 2561 คือ แพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ผิวหนังและศัลยกรรม

รองลงมาเป็นกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวกับไอที ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ วิศวกรซอฟต์แวร์และนักพัฒนา นักวิเคราะห์ข้อมูล (ไอโอที การใช้บิ๊กดาด้า) อันดับ 3 นักการตลาดออนไลน์ รวมทั้งรีวิวเนอร์ เน็ตไอดอล อันดับ 4 นักการเงิน และนักออกแบบวิเคราะห์ระบบด้านไอที อันดับ 5 กราฟฟิกดีไซน์ และนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร อันดับ 6 นักวิทยาศาสตร์ด้านความงาม (คิดค้นเครื่องสำอาง) และอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อันดับ 7 ผู้ประกอบการธุรกิจ (สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ) อันดับ 8 อาชีพในวงการบันเทิง (ดารานักแสดง/นักร้อง) และสถาปนิก/มัณฑนากร อันดับ 9 ครูสอนพิเศษ/ติวเตอร์ และอาชีพเกี่ยวกับโลจิสติกส์และการขนส่ง และอันดับ 10 นักบัญชี

ด้านอาชีพที่ไม่โดดเด่นในปี 2561 ได้แก่ อันดับ 1 อาชีพช่างตัดไม้/ช่างไม้ไร้ฝีมือ อันดับ 2 พ่อค้าคนกลาง อันดับ 3 อาชีพย้อมผ้า อันดับ 4 บรรณารักษ์ และไปรษณีย์ด้านการส่งจดหมาย อันดับ 5 พนักงานขายสินค้าหน้าร้าน อันดับ 6 การตัดเย็บเสื้อผ้าโหล อันดับ 7 การทำรองเท้า/ช่างซ่อมรองเท้า อันดับ 8 เกษตรกรและครู-อาจารย์ อันดับ 9 แม่บ้านทำความสะอาด และอันดับ 10 นักหนังสือพิมพ์/นิตยสารและ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม

จะเห็นได้ว่ากลุ่มอาชีพที่โดดเด่นยังคงอยู่ในกลุ่มของไอทีและบริการทางการแพทย์ในแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้คน ไลฟ์สไตล์ แต่อาชีพดาวร่วงจะเป็นอาชีพที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมยุค 2.0 ซึ่งหากนำระบบไอทีมาใช้จะกลายเป็นอาชีพดาวรุ่งได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือสถานการณ์กำลังแรงงานที่หายไป ปัจจุบันมีกำลังแรงงานอยู่ที่ 37.2 ล้านคน และลดลงจากปี 2552 ที่มีอยู่ 38.2 ล้านคน ซึ่งรวม 10 ปี กำลังแรงงานหายปีละ 1 ล้านคน หรือลดลงเฉลี่ย 1-2 แสนคน/ปี

นอกจากนี้ การที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไปเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้แรงงานหายากขึ้น ค่าจ้างแรงงานแพงขึ้น ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทน

สิ่งที่ต้องนำมาคิดต่อ คือเมื่อตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมผู้สูงอายุ มีบางงานที่คนหนุ่มสาวไม่ทำ หรืออย่างอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น เพราะแรงงานที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดแรงงานกลับออกไปทำธุรกิจส่วนตัว ทำให้เกิดช่องว่าง ต่อไปเราอาจได้เห็นผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปก่อนเรา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุแล้ว ทำให้การขาดแคลนแรงงานลดลง

ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องเข้ามาวางแผนพัฒนาแรงงานอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดรับกับสภาพการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป