posttoday

ผ่าแผนฮิตาชิชู Lumada แพลตฟอร์มแห่งอนาคต

08 พฤศจิกายน 2560

ไฮไลต์สำคัญของงาน Hitachi Social Innovation Forum 2017 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หนีไม่พ้น "ลูมาด้า (Lumada)" แพลตฟอร์มแห่งอนาคต

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ไฮไลต์สำคัญของงาน Hitachi Social Innovation Forum 2017 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม่พ้น "ลูมาด้า (Lumada)" แพลตฟอร์มแห่งอนาคตที่ทางฮิตาชิหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ตอบโจทย์สังคมในยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT)

จุดเด่นของลูมาด้าอยู่ตรงที่การเชื่อมโยงระหว่างบิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI)  และนำไปสอดแทรกไว้ในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ในเครือ ฮิตาชิทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สู่เป้าหมาย "เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น"

หนึ่งในตัวอย่างที่จะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น ระบบที่ติดตั้งสถานีรถไฟ ซึ่งบันทึกภาพผู้มาใช้บริการและนำไปประมวลผล และแจ้งเตือนไปยังผู้โดยสารแบบเรียลไทม์ว่าสถานีไหนมีคนมากคนน้อย

รวมไปถึงการขึ้นลิฟต์ในห้างสรรพสินค้า ที่จะวิเคราะห์ได้ว่าชั้นใดมีคนติดขัดจำนวนมาก ระบบก็จะประมวลผลคู่กับระบบลิฟต์ตัวอื่นๆ  ช่วยปรับการใช้งานให้สัมพันธ์กันเพื่อลดความแออัด ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีลิฟต์ของ ฮิตาชิ  1.93 แสนตัว ใช้ระบบดูแลระยะไกล 1.8 แสนตัว มีวิศวกรดูแลทั้งหมด 3,300 คน ที่จะติดตามเหตุช่วยคนติดค้างในลิฟต์ได้ใน 20 นาที

ในแง่ธุรกิจตู้เอทีเอ็มนำลูมาด้ามา ใช้หลายด้านช่วยธนาคารประหยัดต้นทุนได้มาก โดยบริษัท ฮิตาชิ-ออมรอน เทอร์มินอล โซลูชั่นส์ ประเทศญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งอันดับ 1 ของเครื่อง Cash Recycle Machine (CRM) หรือตู้ที่ถอนฝากเงินในตู้เดียว ผ่านระบบคัดกรองตรวจสอบและประมวลผล ย่นเวลานำเงินสดไปสำรองใส่ตู้ ประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง ค่าบริหารเงิน มีระบบรักษาความปลอดภัย ป้องกันธนบัตรปลอม รวมทั้งพยากรณ์การใช้เงินได้ล่วงหน้า

เคอิตะ ทาดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เทอร์มินอล โซลูชั่น ประเทศไทย กล่าวว่าเครื่องเอทีเอ็มในไทย 1 หมื่นตู้ เป็นของฮิตาชิ 8,000 ตู้ ยอดขายตู้ CRM แต่ละปีเพิ่มขึ้น 10-15% และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้น แม้มีนโยบายลดการใช้เงินสด เพราะคิดว่าอีกนานกว่าจะเดินไปสู่จุดนั้น

ด้าน ฮิโรชิ ซาโต รองประธานอาวุโสและเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจระบบการก่อสร้าง บริษัท ฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ขายแพลตฟอร์มลูมาด้าจะร่วมมือกับบริษัทในเครือที่ไทยเข้าไปเสนอโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) การขยายเครือข่ายขนส่งระบบรางในไทย และการพัฒนาพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ อาทิ สุวรรณภูมิเฟส 2 หอคอยกรุงเทพ ที่จะสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 2020

ทั้งนี้ ในงานฮิตาชิ โซเชียลฯ 2017 โตชิฮากิ ฮิกาชิฮารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงวิสัยทัศน์ว่า เป้าหมายของฮิตาชิจะพัฒนาตามกรอบที่ยั่งยืน GOALS ทั้ง 17 ด้านของยูเนสโก  รวมทั้งพัฒนาสังคม 5.0 ของญี่ปุ่น