posttoday

สร้างแบรนด์เองVSซื้อแฟรนไชส์ อย่างไหนดีกว่ากัน

06 พฤศจิกายน 2560

การลาออกจากวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนมาลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวอาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนคิดอ่านวางแผนไว้แต่บางคนยังชั่งใจอยู่ว่าจะลงมือทำเลยดีหรือไม่

การลาออกจากวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนมาลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวอาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนคิดอ่านวางแผนไว้แต่บางคนยังชั่งใจอยู่ว่าจะลงมือทำเลยดีหรือไม่ ซึ่งความสับสนลังเลนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในครั้งสำคัญของชีวิต และมีทั้งความเสี่ยงและโอกาสสูงพอๆ กันเช่นเดียวกับการลงทุนอื่นๆ

อีกทั้งรูปแบบของธุรกิจก็มีตัวเลือกที่หลากหลาย แต่โดยปกติแล้วว่าที่เจ้าของกิจการมักจะเลือกจาก 2 ประเภทหลักๆ คือ การลงทุนทำธุรกิจตัวเองกับการซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ตามที่ ราอัด อาห์เหม็ด ซีอีโอของเว็บไซต์ให้บริการที่ปรึกษาทางกฎหมาย LawTrades ระบุไว้ในเว็บไซต์ Quora ดังนี้

ซื้อแฟรนไชส์

โมเดลธุรกิจของแฟรนไชส์คือ เจ้าของแฟรนไชส์จะวางระบบต่างๆ ไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชื่อกิจการ สูตร โปรโมชั่น รูปแบบการขาย ผู้ซื้อแฟรนไชส์เพียงจ่ายเงินค่าธรรมเนียมแลกกับสิทธิ์ในการใช้ชื่อและกระบวนการต่างๆ จากนั้นเจ้าของแฟรนไชส์จะจัดการหาทำเล ตั้งร้าน ติดต่อซัพพลายเออร์ ฝึกอบรม จนกระทั่งสามารถเปิดร้านได้ โดยที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาคิดค้นกลยุทธ์เอง

ข้อจำกัดของการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์คือ ผู้ชื้อแฟรนไชส์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่ารอยัลตี้ หรือค่าสิทธิต่อเนื่องซึ่งคำนวณจากรายได้ในการดำเนินธุรกิจให้แก่เจ้าของแฟรนไชส์ในแต่ละเดือน ทั้งยังไม่มีโอกาสในการควบคุมการดำเนินกิจการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ สินค้าหรือบริการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของแฟรนไชส์ก่อน และจะต้องแบกรับความเสี่ยงต่อชื่อเสียงในแง่ลบของเจ้าของแฟรนไชส์ รวมไปถึงผลกระทบจากแฟรนไชส์เจ้าอื่นที่อาจตั้งอยู่ในทำเลใกล้เคียงด้วย

ลงทุนธุรกิจตัวเอง

การลงทุนทำแบรนด์ของตัวเองนับเป็นโอกาสดีในการเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นท้าทาย ขณะที่บางคนถูกคำว่าศูนย์ข่มขวัญจนเกิดความหวั่นใจ การเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองเหมาะสำหรับคนที่มีไอเดียธุรกิจแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครและต้องการเป็นผู้ควบคุมและตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นจากศูนย์เช่นกันก็เป็นข้อด้อยของการลงทุนด้วยตัวเองเช่นกัน เนื่องจากจะต้องเริ่มคิดแบรนด์ วางแนวทางการเติบโต มองหาโลเคชั่นและตกแต่งร้าน ไปจนถึงรูปแบบของสินค้าและการให้บริการ และลงมือทำแผนเหล่านี้ให้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างด้วยตัวเอง ขั้นตอนทั้งหมดนี้ค่อนข้างกินเวลาพอสมควรและก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาอีกมากมาย

อีกหนึ่งจุดสำคัญของการเป็นเจ้าของกิจการคือ ต้องมีเงินทุนสำรองเพียงพอเพื่อสนับสนุนธุรกิจในช่วงที่ทุกอย่างกำลังดำเนินการและพัฒนา โดยที่เจ้าของกิจการมือใหม่อาจต้องลองผิดลองถูกและเผชิญปัญหาที่ไม่คาดฝันในระหว่างนั้น

อาห์เหม็ด ทิ้งท้ายไว้ว่า ธุรกิจทั้งสองประเภทล้วนมีข้อดีข้อเสียและความท้าทายต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนสนใจหรือยอมรับความเสี่ยงของการซื้อแฟรนไชส์หรือการลงทุนสร้างแบรนด์เองได้ดีกว่ากัน

ภาพ : www.about.me