posttoday

ค้าปลีกสิ้นปีผุด 4 หมื่นตร.ม. สวนค้าออนไลน์บูม

14 ตุลาคม 2560

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเชื่องช้ากว่าที่คาด แต่จากตัวเลขข้อมูลในช่วง 9 เดือน ปี 2560 พบว่าพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น อุปทานยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

โดย...โชคชัย สีนิลแท้ 

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเชื่องช้ากว่าที่คาด แต่จากตัวเลขข้อมูลในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2560 พบว่าพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น อุปทานยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามแผนเดิมที่ได้มีการทยอยลงทุนไว้ ยังไม่เห็นการเลื่อนชะลอหรือเลิกโครงการอย่างมีนัย

สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีอุปทานที่เปิดใหม่ของพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นอีก 1.4-1.5 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาโครงการโดยผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก อาทิ โครงการโชว์ ดีซี ที่ทยอยเปิดพื้นที่ให้บริการ 7 หมื่น ตร.ม. จากพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 1.5 แสน ตร.ม.

สำหรับไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าจะมีการเปิดเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 4 หมื่น ตร.ม. อาทิ โครงการซัมเมอร์ฮิลล์ คอมมูนิตี้มอลล์ ตั้งอยู่ปากซอยสุขุมวิท 46 ติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพระโขนง พัฒนาโดยบริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น โครงการมิกซ์ยูสแห่งนี้จะถูกพัฒนาบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ และจะเป็นที่ตั้งของร้านค้า 40 แห่ง พื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซและอาคารสำนักงานกว่า 1 หมื่น ตร.ม. ในเฟสสองของโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561

ด้านโครงการสเตเดียม วัน ที่ได้รับสัมปทานจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการก่อสร้างและบริหารโครงการบนที่ดิน 10 ไร่ บริเวณหลังสนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) พัฒนาเป็นศูนย์รวมค้าปลีกกีฬาและไลฟ์สไตล์ของคนรักการออกกำลังกาย ตั้งอยู่บนถนนพระราม 1 ตัดกับถนนบรรทัดทอง ใกล้กับสนามกีฬาแห่งชาติ ภายในโครงการประกอบด้วยร้านค้าปลีก 129 ร้าน พื้นที่ค้าปลีก 5,000 ตร.ม. แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของร้านค้าปลีก และส่วนของศูนย์บริการการออกกำลังกายและการจัดกิจกรรม โครงการอิเกีย บางใหญ่ ที่มีพื้นที่รวมไม่ต่ำกว่า 4 หมื่น ตร.ม. ส่วนโครงการไอคอนสยามพื้นที่ประมาณ 5 แสน ตร.ม.นั้นได้เลื่อนออกไปเปิดในปี 2561 เป็นต้น

ทั้งนี้ พื้นที่ค้าปลีกใหม่ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงปี 2560-2561 มีทั้งหมดประมาณ 6 แสน ตร.ม. และมีกว่า 7 หมื่น ตร.ม.ที่เปิดให้บริการในไตรมาส 2 ปี 2560 ปัจจุบันพื้นที่รวมค้าปลีกมีอยู่กว่า 7.69 ล้าน ตร.ม. โดยศูนย์การค้ามีสัดส่วน 58% รองลงมาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ 16% ซูเปอร์สโตร์มอลล์ 11% สเปเชียลตี้ สโตร์ 6% ห้างสรรพสินค้า 4% เอนเตอร์ เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ 2% และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน 3%

อย่างไรก็ตาม จะพบว่าร้านค้าหรือแบรนด์ต่างชาติยังคงหาโอกาสเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ขณะที่ค่าเช่าพื้นที่ในโครงการค้าปลีกแต่ละประเภทและแต่ละทำเลแตกต่างกัน โดยร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กกลายเป็นรูปแบบที่มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งโครงการพื้นที่ค้าปลีกเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นอุปทานจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกในประเทศไทยพยายามเพิ่มความน่าสนใจให้กับโครงการของตนเอง เนื่องจากการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงในตลาดพื้นที่ค้าปลีกและช็อปปิ้งออนไลน์ก็กลายเป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญ ผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกจึงมีการพัฒนาเว็บไซต์ใหม่แอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ และรูปแบบออนไลน์ใหม่ๆ เพื่อรองรับการซื้อสินค้าออนไลน์ แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกในหลายประเทศจะอยู่ในช่วงขาลงและมีศูนย์การค้า ร้านค้าจำนวนมากปิดตัวลงหรือลดจำนวนสาขาลง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโครงการค้าปลีกพยายามดึงดูดผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อสูง โดยการเพิ่มแบรนด์ร้านค้าระดับไฮเอนด์และลักซ์ชัวรี่ในโครงการของตนเอง ขณะที่ผู้ประกอบการซูเปอร์สโตร์มอลล์ยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ระดับลักซ์ชัวรี่เข้ามา

สำหรับค่าเช่าเฉลี่ยในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้านี้ศูนย์การค้ามีค่าเช่าเฉลี่ยสูงกว่าคอม มูนิตี้มอลล์ และซูเปอร์สโตร์มอลล์หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ความแตกต่างของค่าเช่าระหว่างศูนย์การค้าและโครงการค้าปลีกรูปแบบอื่นๆ อาจจะมากกว่า 1,000 บาท/ตร.ม./เดือน

ค่าเช่าเฉลี่ยในพื้นที่กรุงเทพฯ ใจกลางเมืองสูงที่สุด สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในศูนย์การค้าบางโครงการที่อยู่ในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสได้โดยตรง คอมมูนิตี้มอลล์บางโครงการในกรุงเทพฯ รอบนอกมีค่าเช่าต่ำกว่า 1,000 บาท/ตร.ม./เดือน แม้ว่าจะมีผู้เช่าที่มีชื่อเสียงและตั้งอยู่ในทำเลที่ดีก็ตาม เพราะว่าคอมมูนิตี้มอลล์ยังคงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับศูนย์การค้า