posttoday

ไทยเบฟลงทุน 5,700 ล้าน ผุดศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ

09 ตุลาคม 2560

จิ๊กซอว์ที่จะสานวิชั่น 2020 ของไทยเบฟเวอเรจ อีกหนึ่งตัว คือ การเดินหน้าลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะทั่ว

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

จิ๊กซอว์ที่จะสานวิชั่น 2020 ของไทยเบฟเวอเรจ อีกหนึ่งตัว คือ การเดินหน้าลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะทั่วประเทศ 19 แห่ง ที่พรั่งพร้อมไปด้วยการใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงทั้งต้นน้ำ กระบวนการผลิตจากโรงงาน และปลายน้ำ อย่างร้านค้าที่มีกว่าแสนร้านค้า จนถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เปิดเผยว่า แผนของไทยเบฟเวอเรจสู่วิชั่น 2020 หรือในปี 2563 ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ (2560-2563) บริษัทเร่งการลงทุนเปิดศูนย์การกระจายสินค้าอัจฉริยะให้ครบ19 แห่ง ภายใต้การใช้งบราว 5,700 ล้านบาท หรือโดยเฉลี่ยแห่งละ 300 ล้านบาท เบื้องต้นได้เปิดตัวไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ จ.นครราชสีมา และชลบุรี ล่าสุดลงทุน 300 ล้านบาท สร้างศูนย์กระจายสินค้าที่ จ.ลำปาง ซึ่งจะเปิดให้บริการปลายปีนี้

ทั้งนี้ การสร้างศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะ บริษัทจะนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการระบบทั้งหมด ภายใต้ระบบออโตเมชั่นและการใช้บิ๊กดาต้ามาทำการเชื่อมโยง ทั้งจากฝ่ายโรงงานในเครือที่มีทั้งหมดมากกว่า 36 โรงงาน ได้แก่ โรงงานสุรา 18 แห่ง โรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง โรงงานเสริมสุข 13 แห่ง โรงงานโออิชิ 2 แห่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคลังสินค้า 70 แห่งทั่วประเทศ และเอเยนต์หรือตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปราศจากแอลกอฮอล์รายใหญ่ 3,000 ราย เชื่อมโยงกับศูนย์กระจายสินค้าที่จะสร้างขึ้น 19 แห่ง

“ไทยเบฟฯ กำลังเร่งลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มุ่งใช้ดาต้านำมาวิเคราะห์ เช่น ร้านค้ามีสต๊อกสินค้าเท่าไร และใช้ระยะเวลาเท่าใดที่ใกล้หมด เพื่อที่โรงงานจะได้ผลิตสินค้าและป้อนสู่ร้านค้าได้เร็วที่สุด ร้านค้าได้รับสินค้าที่สดใหม่ ขณะที่บริษัทจะได้บริหารการผลิตสินค้าได้อย่างถูกต้อง จากการที่ได้รู้ถึงข้อมูลที่แท้จริงจากความต้องการของตลาดเพื่อที่จะได้บริหารได้ถูกต้อง ลดความเสี่ยงในเรื่องของสต๊อกสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนในการดำเนินงาน”

โฆษิต กล่าวว่า ทุกวันนี้ไทยเบฟฯ ขยายไลน์สินค้าเป็นจำนวนมาก ทั้งกลุ่มสุราและเครื่องดื่มนันแอลกอฮอล์ อาทิ กลุ่มชาเขียวโออิชิ หรือกระทั่งสินค้าจากบริษัท เอฟแอนด์เอ็น เมื่อขนาดของธุรกิจใหญ่ขึ้น ประกอบกับธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ก็ขยายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด 

อย่างไรก็ดี มองว่าการมีสินค้าที่มีคุณภาพครบวงจรเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัท แต่การนำสินค้าส่งให้ถึงจุดขายได้มากที่สุด มีความสำคัญไม่แพ้กัน สายขนส่งจึงได้พัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าคุณภาพของเราส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยบริษัทจะทยอยเปิดศูนย์กระจายสินค้าหลักในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างจากนี้เป็นต้นไป ทุกจุดจะเชื่อมโยงรอบทิศทั้งแต่เหนือ อีสาน กลาง ใต้ หรือกระทั่งภาคตะวันออกและตะวันตก 

สำหรับเป้าหมายที่ไทยเบฟฯ ต้องสร้างศูนย์การกระจายสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ 19 แห่ง จะช่วยผลักดันให้สินค้าถึงมือเอเยนต์รายใหญ่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จากนั้นร้านค้าก็จะกระจายสินค้าไปสู่ร้านค้ารายย่อยต่างๆ มากกว่าแสนร้านค้า ซึ่งช่วยลดต้นทุนของไทยเบฟฯ ไม่ต่ำกว่า 20% จากผลประกอบการเดือน ต.ค.2559-มิ.ย. 2560 กว่า 1.42 แสนล้านบาท ติดลบ 6% แต่บริษัทสามารถสร้างกำไรกว่า 2.11 หมื่นล้านบาท เติบโต 3.1% ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทสามารถบริหารการจัดการได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลดต้นทุน

โจทย์การลงทุนทางด้านเทคโนโลยี “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในขณะนี้ เพราะมองว่าการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีควบคู่กับการวางกลยุทธ์และกระบวนการต่างๆ จะทำให้ไทยเบฟฯ มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง