posttoday

ค้าปลีกกลุ่มบีเจซี สร้างจุดต่าง-บุกดิจิทัล

07 ตุลาคม 2560

การเติบโตของธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตปีนี้ที่ขยับแค่ 2% และมีแนวโน้มว่าอัตราโตจะไม่เพิ่มขึ้น

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การเติบโตของธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตปีนี้ที่ขยับแค่ 2% และมีแนวโน้มว่าอัตราโตจะไม่เพิ่มขึ้น จากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เริ่มซื้อสินค้าใกล้บ้านมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้ไฮเปอร์มาร์เก็ตต้องปรับตัวทุกรูปแบบ หนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือการนำเสนอสินค้าที่เป็นนิชมาร์เก็ต

อรรถพล อุไรไพรวัน รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ผู้ดำเนินธุรกิจ ค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า การแข่งขันธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้ แต่ละค่ายต้องสร้างความแตกต่าง จากที่ผ่าน ทุกค่ายจะมีสินค้าไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือกระทั่งการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย รวมทั้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์ราคา การจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อช่วงชิงให้ลูกค้ามาซื้อสินค้า ทำให้ค้าปลีกไม่มีความแตกต่าง

นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลง คนเริ่มมีความรู้และฉลาดเลือกซื้อสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตนเอง ผู้บริโภคหนึ่งคนมีมากกว่าหนึ่งคาแรกเตอร์และมีไลฟ์สไตล์ที่ซับซ้อน ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชากรศาสตร์เพศ หรืออายุอีกต่อไป เช่น ผู้หญิงที่เกิดในยุคเบบี้บูมซึ่ง ขณะนี้อายุมากแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีไลฟ์สไตล์ออกกำลังกายไม่ได้ ดังนั้นการพัฒนาสินค้าที่เป็นแมสหรือการผลิตพื้นฐานทั่วไป จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้น้อยลง การนำเสนอสินค้าอุปโภคบริโภคต้องพัฒนาสินค้าเป็นนิชมาร์เก็ตหรือเฉพาะเจาะจง หรือกระทั่งการแตกเซ็กเมนเทชั่น

"สินค้าเอสเอ็มอีของไทยมีศักยภาพมากขึ้น คนรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจ เริ่มพัฒนาสินค้าเป็นแบบที่มีนวัตกรรม เช่น ข้าวออร์แกนิก หรือกระทั่งสมุนไพรอบแห้ง ซึ่งรายใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญพัฒนาสินค้าที่เป็นนิชมาร์เก็ตมากนัก นอกจากนี้สินค้าดังกล่าว นักท่องเที่ยวยังให้ความสนใจมากขึ้น ถือว่าอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้บิ๊กซีมีความแตกต่างกับคู่แข่งในประเทศและต่างประเทศ จากปัจจุบันในธุรกิจค้าปลีกมีรวมทั้งหมดทุกแบรนด์ราว 1,200 สาขา"

ทั้งนี้ บริษัทได้จัดทำโครงการบิ๊กซี บิ๊ก ซัคเซส ธุรกิจไทย โตไปด้วยกัน นำสินค้าของผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพเข้ามาจำหน่ายในบิ๊กซี ซึ่งปัจจุบัน บิ๊กซีส่งเสริมคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 100 ราย และเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีรวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500 ราย และยังมีแผนจะเพิ่มปริมาณสินค้าเอสเอ็มอีอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเกษตร และรวมถึงกลุ่มขนมขบเคี้ยว สินค้าของฝากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ขณะที่ อัศวิน เตชะเจริญวิกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ของบีเจซี มีแผนจะนำสินค้าเอสเอ็มอีเข้าไปจำหน่ายธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม ซึ่งมีร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท 170 สาขา เป็นอันดับ 3 ขณะที่เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต มีอยู่ 19 สาขา และ สปป.ลาว มีเอ็มพอยท์มาร์ท 40-50 สาขา นอกจากนี้ยังวางแผนเปิดบิ๊กซีในมาเลเซีย สปป.ลาว และกัมพูชาด้วย ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะช่วยเสริมให้ธุรกิจค้าปลีกโดดเด่นและแตกต่างในฐานะห้างของคนไทย สำหรับรายได้ในส่วนค้าปลีกต่างประเทศมีสัดส่วน 10% ของรายได้รวม

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายการดำเนินธุรกิจคงหนีไม่พ้นในเรื่องของเทคโนโลยี กลุ่มค้าปลีกต้องปรับตัว คือ อี-วอลเล็ต หรือการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด หรือระบบคิวอาร์โค้ด แม้กระทั่งการใช้ดิจิทัลมีเดีย การสื่อสารทำได้ยากและให้ถูกใจ รวมทั้งมียอดขายที่ตามมา เพราะสื่อดิจิทัลแม้ว่าจะมีคนกดไลค์หรือแชร์จำนวนมาก แต่บางครั้งสินค้าก็ไม่ได้ยอดขาย นอกจากนี้เดินหน้าพัฒนาช่องทางอี-คอมเมิร์ซ อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางที่สำคัญในอนาคตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะนี้ ยังสร้างรายได้ให้กับบิ๊กซีไม่ถึง 10%

การมีโปรดักต์ดี มีนวัตกรรม จะช่วยทำให้ค้าปลีกของบีเจซีมีความแตกต่าง ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กที่สำคัญสำหรับการดึงดูดคนเข้ามาซื้อสินค้า เพราะโลกทุกวันนี้คนไม่ได้มองราคาถูกเป็นปัจจัยสำคัญ แต่มองว่าที่ไหนมีสินค้าที่ตอบโจทย์กับความต้องการได้หรือไม่ ขณะที่ค้าปลีกของบีเจซีจะเป็นเดสติเนชั่นหนึ่งในการช็อปปิ้งภูมิภาคอาเซียน