posttoday

เอกชนขานรับ ชูดิจิทัลพัฒนาประเทศ

22 กันยายน 2560

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสของประเทศ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญในการสร้างโอกาสทางรายได้ของประชาชนผ่านเครื่องมือดิจิทัล

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสของประเทศ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญในการสร้างโอกาสทางรายได้ของประชาชนผ่านเครื่องมือดิจิทัล ล่าสุดรัฐบาลร่วมกับภาคเอกชน จัดงานดิจิทัลไทยแลนด์บิ๊กแบง 2017 คาดว่าจะเกิดความร่วมมือในการยกระดับประชาชนให้รู้ใช้งานดิจิทัลกว่า 10 ล้านคน ใน 3,000 หมู่บ้าน และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 2 แสนคน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงสร้างประชากรไทยที่มีกว่า 70 ล้านคน ยังมีคนที่ ไม่เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล แบ่งเป็น กลุ่มเกษตรราว 7 ล้านคน หากนำโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ด้านไอทีเข้าไปสู่คนกลุ่มนี้ได้ จะเป็นการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ

พงศ์พรหม ยามะรัต ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด และผู้ก่อตั้ง บริษัท อาร์เอ็มไอ โกลบัล เวนเจอร์ส ผู้บริหาร ไทย ดับเบิ้ลยูพีเอส ออฟฟิศโปรแกรมสำนักงานสำหรับคนไทย เปิดเผยว่า การนำดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การเปลี่ยนประเทศนั้น ต้องไม่ใช่แค่กิจกรรมซีเอสอาร์ของภาคเอกชน แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ด้านนี้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ แม้ว่าไทยดับเบิ้ลยูพีเอสจะยังใหม่ในประเทศไทย แต่สิ่งที่เร่งผลักดันคือเรื่องการศึกษา เพราะประเทศไทยอยู่อันดับ 8 ใน 10 ของประเทศในเออีซี ที่มีจุดอ่อนด้านโครงสร้างระบบการศึกษา ยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีในการปรับใช้น้อยมาก

การนำซอฟต์แวร์ไลเซนส์มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ให้แก่ภาคการศึกษานั้น ถือว่าเป็นการสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์แท้ให้แก่ภาคการศึกษาที่อาจไม่มีเงินทุนได้นำไปใช้งานฟรีทั่วประเทศ เพราะการศึกษาไม่ควรแบ่งแยกว่าในเมืองหรือนอกเมือง แต่ทุกคนควรมีความเท่าเทียม

ขณะที่นวัตกรรมที่โดดเด่นและคาดว่าจะเป็นเทรนด์สำหรับอนาคตคงหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยีวีอาร์ เออาร์ และไอโอที โดย จิรยศ เทพพิพิธซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท อินโฟเฟด กล่าวว่า ตลาดวีอาร์ในประเทศไทยยังโตช้าแต่ก็ทันกับต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าตลาดวีอาร์ทั่วโลกปีนี้อยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีที่แล้วอยู่ที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าปีหน้าตลาดวีอาร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า ซึ่งไทยยังมีโอกาสอีกมาก

แต่ปัญหาหลักของวีอาร์คือการมีคอนเทนต์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ต้นทุนในการผลิตคอนเทนต์ตอนนี้ราคาสูงมาก หากในปีหน้ามีผู้ผลิตหน้าใหม่เข้ามาเพิ่ม จะช่วยให้การผลิตคอนเทนต์สำหรับวีอาร์ราคาถูกลงและมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นแน่นอน