posttoday

"แอร์บัส A350" อาวุธหนักการบินไทย

28 สิงหาคม 2560

เครื่องบินแอร์บัส เอ 350 ที่การบินไทยสั่งจองเข้ามา กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่เห็นผล

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เครื่องบินแอร์บัส เอ 350 ที่การบินไทยสั่งจองเข้ามา กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่เห็นผล

ตามแผนการบินไทยจะนำแอร์บัส เอ 350 เข้าประจำฝูงบินถึง 12 ลำ โดยจุดเด่นคือเป็นเครื่องลำตัวกว้าง (XWB - Xtra Wide Body)จุผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น มีพิสัยในการบินระยะไกลและประหยัดน้ำมัน

การบินไทยได้รับเครื่องบินไปแล้ว 5 ลำ หลักๆ ประจำการอยู่ที่ยุโรป

เจษฎา จันเทรมะ ผู้จัดการทั่วไป ภาคพื้นยุโรป และ ธรรมนูญ กู้ประเสริฐ ผู้จัดการทั่วไปสำนักงานขายประเทศอิตาลี ให้ข้อมูลว่า ผู้โดยสารเฉลี่ยของการบินไทยไต่ระดับขึ้นไปถึง 88% ในเส้นทางกรุงเทพฯ-โรม กรุงเทพฯ-มิลาน หลังจากนำเครื่องแอร์บัส เอ 350 มาให้บริการ

เหตุผลเนื่องจากแอร์บัส เอ 350 เป็นเครื่องบินใหม่ กว้าง การบริการสะดวกสบาย สามารถแข่งขันด้านราคาทั้งการดึงดูดลูกค้าเดิม และเปิดตลาดใหม่ๆ อาทิ ตลาดองค์กร บริษัทต่างๆ

ที่ผ่านมาการบินไทยยังทยอยปรับค่าโดยสาร แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวอิตาลี ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องราคาเท่านั้น แต่ให้ความเชื่อมั่นต่อบริการอื่นๆ จนมีแผนเพิ่มเที่ยวบินจาก 8 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น 10 เที่ยว

ในช่วงต่อไปจะมีแผนการใช้เครื่องบินให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ เพิ่มเส้นทางบินสั้นๆ ไปมาดริด หรือบาร์เซโลนา โดยเครื่องที่บินมาจากกรุงเทพฯ จะมีเวลาว่าง 6-8 ชั่วโมง เพียงพอสำหรับบินเส้นทางระยะไม่ไกลนัก

นอกจากนั้นจะมีการเชื่อมโยงระหว่างสายการบินพันธมิตร เพื่อรับผู้โดยสารในประเทศยุโรปอื่นๆ ให้มาขึ้นเครื่องบินที่โรม-มิลาน เพื่อเดินทางมายังกรุงเทพฯ

ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารที่บินจากอิตาลีไปกรุงเทพฯ ก็จะเชื่อมโยงให้ต่อเครื่องไปจุดหมายที่ต้องการได้ ทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กัมพูชา อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์

ไทยเป็นจุดหมายสำคัญของชาวอิตาลี มียอดผู้โดยสารเดินทางมาราวๆ 2.6 แสนคน ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นที่ชาวอิตาลีเลือกเดินทางไปเช่นกัน

ด้าน อุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ตลาดยุโรปฟื้นตัวกลับมาดีมาก โดยรายได้ 20% ของบริษัทมาจากตลาดยุโรป จึงมีแผนเพิ่มเที่ยวบินเพิ่มในบางเมือง รวมถึงเตรียมเปิดเส้นทางบินตรงใหม่ๆ เช่นที่กรุงเวียนนา 

คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีผลประกอบการที่ฟื้นตัวจากการที่ตลาดยุโรปและตลาดอื่นๆ มีทิศทางที่ดี โดยครึ่งปีแรกบริษัทขาดทุนราวๆ 5,000 ล้านบาท หลักๆ มาจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 

เฉพาะเดือน ก.ค.ที่ปิดบัญชีไปแล้ว อุษณีย์ กล่าวว่า ออกมาน่าพอใจ โดยนอกเหนือการปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านต่างๆ แล้ว สิ่งที่ต้องแก้ไขคือปัญหาของบริษัทลูกอย่างไทยสมายล์ และนกแอร์

"แอร์บัส A350" อาวุธหนักการบินไทย

วิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการบินไทยสมายล์ กล่าวว่า ในไตรมาส 4 ไทยสมายล์จะเริ่มทำกำไร ด้วยการแก้ปัญหาหลักๆ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินที่มี 20 ลำ แต่บินได้วันละไม่ถึง 7 ชั่วโมง/ลำ ตามเป้าหมายต้องบินให้ได้ 10 ชั่วโมง ในเส้นทางที่สร้างผลตอบแทนที่ดี

นอกจากนั้น จะใช้ทรัพยากรร่วมกับการบินไทยเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ การขายตั๋วโดยสาร การเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างกัน คาดว่าปีหน้าไทยสมายล์จะมีตัวเลขเป็นบวกทั้งปี

อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย กล่าวถึงประเด็นของนกแอร์ว่า ต้องรอความชัดเจน 2 เรื่องหลัก คือแผนธุรกิจ กับผู้บริหารของบริษัท หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี การบินไทยก็พร้อมจะเพิ่มทุน เพื่อให้นกแอร์เดินหน้าเป็นของคนไทย

ในแง่ภาพรวมแล้ว การบินไทยมีทิศทางที่ดี โดย 7 เดือนแรก มีอัตราผู้โดยสารสูงถึง 80.2% จากปีก่อนที่มี 73% และคาดว่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

การบินไทยยังมีแผนกระจายการลงทุนไปธุรกิจที่สร้างความยั่งยืน โดยร่วมทุนกับแอร์บัสฝ่ายละครึ่ง ทำศูนย์ซ่อมเครื่องบินแบบครบวงจร และทันสมัยในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี

ทั้งหมดเมื่อมีการดำเนินงานครบถ้วน ทั้งการสร้างธุรกิจใหม่ การปรับปรุงการทำงาน การแก้ปัญหาบริษัทลูก อารีพงศ์มั่นใจว่าจะทำให้การบินไทยแข็งแรง

และเป็นทรัพย์สินที่มีค่าดำรงสถานะสายการบินแห่งชาติอย่างมั่นคง