posttoday

วิศวกรรมสู่ยุค 4.0 ดันเศรษฐกิจไทยรุ่ง

28 กรกฎาคม 2560

ทุกวันนี้เทคโนโลยีใหม่ ระบบ อัตโนมัติ หุ่นยนต์ คลาวด์ รวมไปถึงไอโอทีหรืออินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 ในอีกไม่ช้า

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

ทุกวันนี้เทคโนโลยีใหม่ ระบบ อัตโนมัติ หุ่นยนต์ คลาวด์ รวมไปถึงไอโอทีหรืออินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้

ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรม สถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า เมกะเทรนด์ ของโลกได้มีการปฏิรูปอุตสาหกรรมใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง โดยเทคโนโลยีดิจิทัล คลาวด์ และไอโอทีได้เข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงเครื่องจักร หุ่นยนต์ รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตให้เป็นหนึ่งเดียวกันที่สามารถสื่อสารถึงกันได้ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิต การทำงานมีประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดพลังงาน โดย ขณะนี้ประเทศไทยมุ่งพัฒนาการ ขับเคลื่อนนวัตกรรมและองค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมผสมผสานวิทยาศาสตร์หลายสาขา ยกระดับให้เป็นเอนจิเนียริ่ง 4.0 เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าอนาคตไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้การลงทุนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต New S-Curve การลงทุนและพัฒนาในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกมูลค่า 1.5 ล้าน ล้านบาทนั้นจะเป็นเหมือนสปริงบอร์ด ที่ผลักดันให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เริ่มจากอุตสาหกรรมที่เป็นแรก หรือ First S-Curve จาก 5 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 3.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ต่อยอดไปสู่ New S-Curve คือ การเติมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีต้องเน้นที่อุตสาหกรรมชั้นสูงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยง ขณะที่ภาพใหญ่ระดับประเทศไทย สิ่งที่จะต้องเร่งผลักดันคือ การให้ไทยเป็นฮับทางด้านการบินในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากตั้งอยู่ศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนเปรียบไปแล้วเหมือนกับการตั้งอยู่บนถนนใหญ่ สามารถเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร การดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าวิศวกรรมนั้นมี บทบาทสำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศสู่ยุค 4.0 ทั้งมาตรฐานการทำงานและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคน ซึ่งวิศวกรรุ่นใหม่มีความใกล้ชิดกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องปรับตัวพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อการก้าวสู่เอนจิเนียริ่ง 4.0 ต่อไป