posttoday

เอกชนญี่ปุ่นรับมือ ‘จ๊อบฮ็อปเปอร์’

08 กรกฎาคม 2560

อัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี น่าจะถือเป็นข่าวดีทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศต่างก็ต้องการ ทว่าสำหรับ “ญี่ปุ่น”

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

อัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี น่าจะถือเป็นข่าวดีทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศต่างก็ต้องการ ทว่าสำหรับ “ญี่ปุ่น” สถานการณ์นี้ยังมาพร้อมกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 1992 ส่งผลให้จำนวนคนเปลี่ยนงาน (จ๊อบฮ็อปเปอร์) เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับค่านิยมเก่าของญี่ปุ่นที่เน้นการทำงานที่เดียวไปตลอดชีวิต

ที่ผ่านมา การเปลี่ยนงานไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทมักจะจ้างเด็กจบใหม่ตั้งแต่เริ่มและทำงานไปเรื่อยๆ จนถึงวัยเกษียณ ทว่าธรรมเนียม “การทำงานที่เดียวไปจนตาย” กำลังเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ทั้งจากบริษัทที่หันมาควบคุมเรื่องค่าแรงมากขึ้น และจากสถานการณ์ที่ประชากรญี่ปุ่นกำลังลดลงอย่างต่อเนื่องเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

รอยเตอร์สรายงานว่า จำนวนจ๊อบฮ็อปเปอร์ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมา 7 ปีติดต่อกัน จนแตะระดับ 3.06 ล้านคนในปีที่แล้ว หรือสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีประสบการณ์การทำงานมายาวนานในช่วงอายุกลาง 40-65 ปี เนื่องจากไม่จำเป็นต้องฝึกฝนเพิ่มเติมมากนัก และบริษัทซึ่งประสบปัญหาพนักงานขาดแคลนก็พร้อมทุ่มให้ค่าจ้างราคาแพงกับพนักงานมากประสบการณ์เหล่านี้

“ตลาดงานสำหรับตำแหน่งระดับกลางขึ้นไปกำลังบูมมาก ที่ผ่านมาคนอายุมากกว่า 35 ปี มักจะถูกมองว่าเลยช่วงพีกของการหางานดังกล่าวแล้ว แต่ปัจจุบันกลับกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด หลายบริษัทต่างก็ยอมจ่ายแพงเพื่อจ้างผู้จัดการและวิศวกรที่มีประสบการณ์สูง” ฮิโรฟูมิ อามาโนะ จากบริษัทตัวแทนจัดหางาน เอ็น เจแปน อิงค์ กล่าว

ด้านผลสำรวจบริษัทเอกชนขนาดใหญ่จัดทำโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือทันคัน พบว่า ตลาดแรงงานในประเทศกำลังอยู่ในภาวะตึงตัวที่สุดนับตั้งแต่ปี 1992 ท่ามกลางสัดส่วนตำแหน่งงานต่อผู้สมัครที่สูงสุดในรอบ 43 ปี  

ภาวะตลาดงานที่ตึงตัวและความต้องการพนักงานที่มีประสบการณ์ ทำให้คนกลุ่มนี้กล้าที่จะเปลี่ยนงานเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นและสวัสดิการที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น เปิดเผยว่า 1 ใน 4 ของจ๊อบฮ็อปเปอร์ทั้งหมดในญี่ปุ่น ได้รับค่าจ้างเพิ่ม 10% เมื่อเทียบกับที่เก่า และจำนวนคนที่ได้ค่าจ้างมากขึ้นเมื่อย้ายที่ทำงานใหม่ยังมากกว่าคนที่ได้ค่าจ้างน้อยลงอีกด้วย

“การเปลี่ยนงานมีความเสี่ยงแน่นอนอยู่แล้ว แต่คุณจะไม่ได้สิ่งที่คุณต้องการถ้าคุณไม่พยายาม ผมเลือกงานนี้เพราะผมได้รับผิดชอบในหน้าที่มากขึ้น พร้อมค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นด้วย” ฮิโรมิจิ อิตาคุระ หัวหน้าฝ่ายจัดหางานสายการแพทย์จากบริษัท เซนต์ มีเดีย อิงค์ ในกรุงโตเกียว กล่าวถึงการเปลี่ยนงานพร้อมค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น 20%

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวเลขจ๊อบฮ็อปเปอร์ดังกล่าวจะเป็นสัดส่วนเพียง 4.8% ของตลาดงานญี่ปุ่น และยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ที่สนับสนุนให้ตลาดแรงงานญี่ปุ่นปรับไปสู่ความยืดหยุ่นและจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยกระตุ้นให้ญี่ปุ่นมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในตลาดให้มากขึ้น โดยจ๊อบฮ็อปเปอร์จะช่วยกระตุ้นการเพิ่มผลิตผลของงานและการขยายตัวของค่าแรง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะเงินฝืดมาอย่างยาวนาน

ปรับทัศนคติใหม่

ตลาดงานระดับกลางที่ขยายตัวขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศทางธุรกิจในญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป ซึ่งยังรวมถึงทัศนคติเรื่องการทำงานที่เดียวไปตลอดชีวิต และระบบการโปรโมทเลื่อนตำแหน่งงานตามอาวุโสอีกด้วย

“ถ้าลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นแม้แต่กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตชิบาแล้ว เห็นได้เลยว่าไม่มีอะไรสามารถรับประกันความมั่นคงในหน้าที่การงานได้ การทำงานอยู่ที่เดียวตลอดชีวิตเป็นแค่เรื่องในอดีตไปแล้ว” มาซาเอะ มิยาจิ วัย 41 ปี กล่าวภายหลังลาออกจากที่ทำงานเก่าเพื่อมารับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอีกถึง 1 ล้านเยน/ปี (ราว 3 แสนบาท) ที่บริษัทเวนเจอร์ด้านไอที คาโอนาวิ อิงค์

หลายบริษัทในญี่ปุ่นยังลดต้นทุนด้วยการหันไปจ้างพนักงานพาร์ตไทม์แทนพนักงานเต็มเวลาในบางตำแหน่ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตฟองสบู่สินทรัพย์แตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลให้อัตราพนักงานพาร์ตไทม์และพนักงานสัญญาจ้าง คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของแรงงานทั้งหมดในระบบ

ฮิโรอากิ โอคุทานิ วัย 57 ปี พนักงานสัญญาจ้างของบริษัทโลจิสติกส์ อุเอดะ โค กล่าวว่า ลาออกจากที่ทำงานเก่าเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนั้นมีส่วนสำคัญมาจากความกังวลต่อชีวิตหลังเกษียณ

“พนักงานสัญญาจ้างเป็นงานที่ไม่มีเวลาเกษียณที่แน่นอน ทำให้ผมมีความสุขกับงานนี้ ตราบเท่าที่ยังมีแรงทำงานอยู่ได้ เพราะผมไม่เชื่อว่าผมจะอยู่ได้จากแค่เงินบำนาญหลังเกษียณ” โอคุทานิ กล่าวทิ้งท้าย