posttoday

ดันย่านนวัตกรรม ปั้นสตาร์ทอัพยั่งยืน

07 กรกฎาคม 2560

ทุกวันนี้ปัญหาสตาร์ทอัพไทยคือ การพัฒนาธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีที่คนไม่สามารถลอกเลียนแบบใช้ได้ แม้ว่าจะมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่กลับมี 5% เท่านั้นที่สามารถยืนหยัดอยู่

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ทุกวันนี้ปัญหาสตาร์ทอัพไทยคือ การพัฒนาธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีที่คนไม่สามารถลอกเลียนแบบใช้ได้ แม้ว่าจะมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่กลับมี 5% เท่านั้นที่สามารถยืนหยัดอยู่ ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงจับมือร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) พัฒนาย่านนวัตกรรมในประเทศ

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาย่านนวัตกรรมของประเทศของทรูมี 3 ย่าน ได้แก่ 1.ย่านปุณณวิถี ที่กลุ่มทรูลงทุน 3 หมื่นล้านบาท พัฒนาโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล ภายใต้แนวคิดระบบนิเวศสมบูรณ์แบบ ประกอบด้วย แหล่งสร้างสรรค์วิจัยนวัตกรรม บ่มเพาะเหล่าสตาร์ทอัพ และรวบรวมผู้มีความรู้และความสามารถทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเปิดเฟสแรกไตรมาส 3 ปีหน้า ตามด้วยเฟส 2 ในปี 2562

สำหรับย่านที่ 2 ย่านนวัตกรรมปทุมวัน โดยเป็นการผนึกกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ภายในประกอบด้วย ทรู อินคิวบ์ โปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีมือใหม่ และทรู แล็บ พัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ภาคธุรกิจและมอบทุนวิจัย และ 3.ย่านนวัตกรรมในภูมิภาค จ.ภูเก็ต กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการขอบเขตการลงทุน

ขณะที่ทรูวางเป้าหมายพัฒนาย่านนวัตกรรม 3 แห่ง ให้เป็นคลัสเตอร์ของสตาร์ทอัพที่หลอมรวมองค์ความรู้ด้านดิจิทัล ประเด็นสำคัญคือเพื่อเสริมสร้างการคิดค้นนวัตกรรม ภายในโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคที่พรั่งพร้อม ทั้งด้านดิจิทัล ไอโอที ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต คลาวด์ โรโบติกส์ พร้อมทั้งดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย

เหตุผลหนึ่งที่สตาร์ทอัพไทยไม่ประสบความสำเร็จ ธีระพล ถนอมศักดิ์หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพในต่างประเทศส่วนใหญ่ลงทุนระดับมหาวิทยาลัย อย่าง ซิลิคอน วัลเลย์ ส่วนในไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจไอที

ด้านแผนบริษัทปีนี้จะเน้นการลงทุนระดับมหาวิทยาลัย และจะเพิ่มการลงทุนจาก 11 รายเป็น 100 ราย ในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา 20-30 ราย ใช้งบลงทุนราว 1.7 ล้านบาท/ราย

เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมพัฒนาย่านนวัตกรรมในประเทศ การมีอินฟราสตรักเจอร์ที่พรั่งพร้อม ช่วยให้ธุรกิจของสตาร์ทอัพแจ้งเกิดได้อย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคได้ในอนาคต