posttoday

ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา คนทำงานหลากเจน

08 มิถุนายน 2560

ความแตกต่างระหว่างรุ่นหรือเจเนอเรชั่นเป็นความท้าทายขององค์กร โดยเฉพาะยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว คนแต่ละเจนเรียนรู้วิวัฒนาการเทคโนโลยีมาในช่วงเวลาต่างกัน

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ความแตกต่างระหว่างรุ่นหรือเจเนอเรชั่นเป็นความท้าทายขององค์กร โดยเฉพาะยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว คนแต่ละเจนเรียนรู้วิวัฒนาการเทคโนโลยีมาในช่วงเวลาต่างกัน พบความยากลำบากในชีวิตต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องรับมือความต่างนี้

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เมื่อองค์กรมีคนหลายเจนตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ เจนวาย จนล่าสุด เจนซีที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องทำความเข้าใจลักษณะของแต่ละเจน ทำให้เกิดการพูดคุย ประสานงานกันระหว่างทำงาน แต่ถ้าความแตกต่างมากเกินไปในบางสายงานอาจแยกแต่ละเจนออกจากกัน ไม่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกันมาก

ตัวอย่างคือ บริษัท ศรีจันทร์ สหโอสถ ที่ไม่มีการเกษียณอายุ มีพนักงานสูงอายุมากสูงสุดกว่า 70 ปี และมีอีกกลุ่มใหญ่คือ อายุกว่า 20 ปี ช่องว่างระหว่างวัยถือว่าสูงมาก บริษัทนี้ออกแบบการทำงานไม่ให้สองกลุ่มนี้เกี่ยวพันกันมาก เลือกให้แต่ละช่วงวัยไปทำงานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เช่น กลุ่มสูงอายุทำฝ่ายจัดซื้อเพราะต่อรองเก่ง ซื่อสัตย์สูง ส่วนคนรุ่นใหม่ทำหน้าที่ใส่ข้อมูลในระบบเทคโนโลยี

"เจนวายและซีแตกต่างกันน้อยมาก เพราะเกิดในยุคอินเทอร์เน็ตและยุคสื่อสังคม ซึ่งคล้ายๆ กัน ขณะที่เจนเอ็กซ์ วาย และซี มีอย่างหนึ่งเหมือนกันคือไม่ยึดติดทำงานที่เดียวไปตลอดชีวิต เมื่อไหร่มีโอกาสดีกว่าก็พร้อมเปลี่ยน ดังนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องทำให้เวลาที่ยังทำงานอยู่ด้วยเป็นเวลาที่ดีที่สุดมากกว่าคิดเรื่องทำอย่างไรให้อยู่ด้วยนานๆ เพราะบางครั้งอยู่ด้วยนานอาจมาจากไม่มีที่ไป"

นพวรรณ กล่าวว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์รอบด้าน เช่น ทำความเข้าใจผู้หางานแต่ละกลุ่มวิเคราะห์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ใช้สรรหาพนักงาน ทำให้ชื่อบริษัทเป็นที่รู้จักเพื่อดึงดูดคนเข้ามา โดยต้องไม่ลืมทำให้เข้าถึงได้ดีผ่านมือถือและนำดิจิทัลมาช่วยในการทำงาน เช่น สร้างกลุ่มพูดคุยงาน

ด้านภาพรวมสายงานที่ตลาดต้องการมากสุดปีนี้ 5 อันดับแรกเป็น กลุ่มตำแหน่งเดิมแต่สลับอันดับกันเอง โดยงานไอทีขึ้นเป็นอันดับ 1 จากปีก่อนอยู่อันดับ 2 เพราะองค์กรต้องการไอทีพัฒนาธุรกิจมากขึ้น แต่สาขานี้คนเรียนน้อยลง เพราะคนต้องการเรียนสาขาที่ไม่ยาก จบง่ายๆ เพื่อได้ปริญญาบัตร ดังนั้นจะยิ่งขาดแคลนมากขึ้น

ความต่างระหว่างวัยทำให้งานมีปัญหาได้ แต่ถ้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลรู้จักใช้เทคโนโลยีรับมือก็ลดปัญหาได้