posttoday

FMCGบนอี-คอมเมิร์ซรุ่งช็อปไร้รอยต่อทางรอดค้าปลีก

16 พฤษภาคม 2560

เศรษฐกิจทั่วโลกช่วง 3-4 ปี (2557-2560) เติบโตคงที่โดยเฉลี่ย 3.1% ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ลดลงต่อเนื่องจากในปี 2559

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

เศรษฐกิจทั่วโลกช่วง 3-4 ปี (2557-2560) เติบโตคงที่โดยเฉลี่ย 3.1% ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ลดลงต่อเนื่องจากในปี 2559 เติบโต 1.3% และปี 2560 เติบโต 1.2%Text แต่ช่องทางที่น่าจับตามองสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก คือเทรนด์การซื้อสินค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ที่คาดว่าปี 2568 จะมีมูลค่าแตะ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9% ของยอดขายทั้งหมด จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4% มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท

คาร์เร็ต อลิส ผู้อำนวยการด้านคอมเมอร์เชี่ยล บริษัท กันตาร์ เวิร์ลพาแนล เปิดเผยว่า เทรนด์ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของคนทั่วโลกอยู่ในรูปแบบมัลติแชนแนลหรือซื้อสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ความท้าทายของผู้ประกอบการค้าปลีกในปี 2568 คือการเพิ่มจำนวนประชากรของโลก สวนทางกับยอดขายของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลง จึงต้องสร้างช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เพื่อรักษายอดขายและป้องกันไม่ให้ลูกค้าไปซื้อสินค้าผ่านทางมาร์เก็ตเพลส เว็บไซต์คู่แข่ง และจากซัพพลายเออร์ที่สร้างช่องทางขายเอง

ทั้งนี้ กลุ่มค้าปลีกต้องเตรียมความพร้อมรองรับกับนักช็อปปิ้งกลุ่มใหม่ สร้างช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย การพัฒนาระบบชำระเงิน สร้างประสบการณ์ช็อปเสมือนจริง ขณะที่นักการตลาดต้องทำให้แบรนด์สินค้าของตนเองไปอยู่ในบัญชีรายการจับจ่ายของนักช็อปปิ้งออนไลน์ก่อน เนื่องจากพบว่า 55% ของนักช็อปออนไลน์ ใช้รายการจับจ่ายชุดเดิมในการซื้อสินค้าทุกครั้ง แบรนด์ที่สร้างช่องทางออนไลน์ก่อนมีความได้เปรียบ เพราะผู้บริโภคมีความคุ้นชิน

สำหรับตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านทางอี-คอมเมิร์ซ ในไทยคาดว่าในปี 2562 การซื้อสินค้าครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว จาก 4.4% ในปี 2559 เพิ่มเป็น 15-20% จากปัจจุบันความถี่การซื้อ 2.3 ครั้ง/ปี ซึ่งพบว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าทางออนไลน์โดยเฉลี่ย 658 บาท/ ครั้ง สูงกว่าการที่ผู้บริโภคไปซื้อสินค้าทางออฟไลน์ 279 บาท/ครั้ง โดยสินค้ายอดนิยม อาทิ นมผงเด็ก สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนตลาดอี-คอมเมิร์ซในเอเชียที่คาดว่าจะขยายตัวที่สุดในทวีป คือ เกาหลีกับจีน

ขณะที่ปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตคือ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและ ไว-ไฟ จำนวนการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งราคาสินค้ายังคงเป็นปัจจัยการตัดสินใจซื้อแม้ว่าประเทศที่เข้าสู่อี-คอมเมิร์ซเต็มตัวการทำโปรโมชั่นยังคงเป็นกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายหลัก ตามด้วยระบบการชำระเงิน และสิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เช่น อเมริกายังคงนิยมซื้อสินค้าในปริมาณมาก

อย่างไรก็ดี ช่องทางอี-คอมเมิร์ซไม่ได้กระตุ้นให้ตลาดอุปโภคบริโภคกลับมาเติบโต เพราะเป็นโลกแห่งสงครามราคาและระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์ก็ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อยู่ที่ว่าใครจะสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งไร้รอยต่อได้ดีกว่าจะเป็นผู้อยู่รอด