posttoday

ดัชนีเศรษฐกิจแย่ ร้านข้าวแกงลูกค้าลด30%

29 ธันวาคม 2559

จากข้อมูลของสวนดุสิตโพลเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. พบว่าสิ่งที่ประชาชนมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

จากข้อมูลของสวนดุสิตโพลเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. พบว่าสิ่งที่ประชาชนมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้ คือค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าอาหารแพง ส่งผลต่อความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชน โพสต์ทูเดย์สำรวจเสียงสะท้อนจากผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขายว่าตลอดปี 2559 ที่ผ่านมาสถานการณ์การค้าจริงเป็นอย่างไร ย่ำแย่ตามภาวะเศรษฐกิจจริงหรือไม่

นงนิตย์ แก่นกระโทก อายุ 50 ปี แม่ค้าขายอาหารตามสั่งย่านดินแดง เล่าว่า ขายอาหารบริเวณนี้มานานกว่า 25 ปี เริ่มขายมาตั้งขนมกะหรี่ปั๊บพัฟฟ์ ก๋วยเตี๋ยว และปัจจุบันขายอาหารตามสั่งมาได้ประมาณ 5 ปี ช่วงแรกขายตลอด 7 วัน แต่ช่วงหลังขายไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน จึงลดเวลาการขายเหลือ 5 วัน ส่วนปัจจัยที่ทำให้จำนวนลูกค้าลดลงกว่า 30% เพราะพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไป คือเลือกทำอาหารมาจากบ้านเพื่อรับประทานกันเอง หรือซื้อเฉพาะกับข้าวที่จะรับประทานและหุงข้าวกินรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีร้านสะดวกซื้อที่เป็นอีกทางเลือก

ส่วนราคาวัตถุดิบแม้จะมีการปรับตัวสูงขึ้นมานานแล้ว แต่ที่ร้านพยายามจะไม่ปรับราคาอาหารขึ้น พยายามขายอยู่ที่ 35-40 บาท ซึ่งยอมใช้วิธีลดกำไรลงบ้าง เพื่อที่จะได้ขายใกล้บ้าน มีเวลาดูแลครอบครัว และไม่เหนื่อยเรื่องการเดินทาง แต่จะไม่ลดปริมาณคุณภาพอาหารลง อย่างไรก็อยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมราคาวัตถุดิบให้ถูกลงไม่ควรสูงมาก

นุชนาฏ สาแสง อายุ 50 ปี แม้ค้าขายอาหารตามสั่งย่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เล่าว่า ขายบริเวณนี้มานานกว่า 20 ปี เมื่อก่อนที่ร้านจะขายดีมาก แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้เริ่มขายได้ลดน้อยลง เนื่องจากมีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับในการไฟฟ้าฯ มีร้านอาหารไว้บริการพนักงาน และลูกค้าเก่าที่เคยรับประทานก็เกษียณไป ดังนั้นเมื่อพนักงานใหม่เข้ามาจึงเลือกรับประทานอาหารร้านที่สะดวกและราคาถูกลง เช่น ก๋วยเตี๋ยว สลัด ข้าวแกงตักจานเดียว หรือเข้าร้านสะดวกซื้อ ที่มีตั้งแต่ไข่ต้มและหมูปิ้ง

ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ปัจจุบันลูกค้าที่ร้านหายไปเกือบ 30-40% ซึ่งทางร้านต้องปรับตัวตามสภาพโดยเลือกใช้วัตถุดิบที่จำเป็น แต่ต้องคงคุณภาพรสชาติอาหารไว้เพื่อให้ไม่เสียกลุ่มลูกค้าเดิม แต่ถึงอย่างไรก็อยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยดูแลช่วยเหลือควบคุมเรื่องราคาวัตถุดิบให้ถูกลง เพราะคิดว่าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้คาดว่าภายใน 2-3 ปีทางร้านคงแย่

ไพร ศรีลาโล อายุ 61 ปี แม่ค้าข้าวแกงภายภายในกระทรวงแรงงาน เล่าว่า ขายอาหารมากว่า 15 ปี และตลอดเวลาที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบก็เพิ่มขึ้นอยู่ทุกปีในจำนวนที่ไม่มากแต่ค่อยๆ ปรับขึ้น เช่น เนื้อหมูเมื่อก่อนซื้ออยู่ที่ราคาไม่เกิน 100 บาท/กิโลกรัม ปัจจุบันราคา 130-145 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นเมื่อราคาวัตถุดิบมีราคาแพงขึ้น ทางร้านจึงต้องปรับตัวโดยเลือกใช้วัตถุดิบที่ราคาสามารถพอรับได้นำมาปรุงอาหาร และหมุนเวียนเมนูอาหารตามวัตถุดิบที่มีเพื่อควบคุมให้สามารถขายได้ในราคาที่ 25-30 บาท ซึ่งก็พออยู่ได้เนื่องจากทางร้านมีลูกค้าประจำ

มุมของของนักวิชาการอย่าง เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่การประหยัดค่าใช้จ่าย เลือกทำอาหารเองมากขึ้น ลดการรับประทานอาหารในร้านที่มีราคาแพง หากจำเป็นจะเลือกร้านบุฟเฟ่ต์ที่กินได้ไม่อั้นเพราะสามารถควบคุมรายจ่ายได้ แม้สถานการณ์ราคาสินค้าปีนี้ ที่ไม่ได้ขยับขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้รู้สึกว่าค่าครองชีพแพงขึ้น เนื่องจากเป็นผลกระทบที่ตลอด 10 ปีมานี้ ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาระบบเชิงโครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจ เห็นได้จากไทยยังคงผลิตสินค้าได้มากขึ้นด้วยวิธีการเดิม ขณะที่ประเทศคู่แข่งผลิตสินค้าได้มากแต่ใช้วิธีใหม่ จึงทำให้ไทยไม่สามารถสู้กับประเทศอื่นได้บนเวทีโลก ประกอบกับเกิดเงินเฟ้อสะสมมาตั้งแต่ปี 2555 และเมื่อประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อมีปัญหาเหล่านั้นจึงไม่สามารถสู้ประเทศอื่นได้ ทำให้เงินเข้าประเทศน้อยลงจนเกิดความลำบากสะสม ประกอบกับช่วงที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ถือว่าเป็นก้าวกระโดดที่เร็วเกินไป แม้จะเป็นนโยบายที่ทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นในระยะสั้น  แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนย้ายฐานการผลิต โรงงานที่อยู่ก็ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และประกอบกับเกิดภัยธรรมชาติยิ่งทำให้ปัญหาที่สะสมมานานเป็นสาเหตุทำให้ของแพงขึ้นเรื่อยมาจนปัจจุบัน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าลดลง ทั้งที่ความเป็นจริงราคาสินค้าขยับเพิ่มขึ้นไม่มาก

ผู้ช่วยรองอธิการฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประเมินว่า 2-3 ปีนี้จากนี้สถานการณ์ของประเทศไทยจะทรงตัวเช่นนี้ แต่หากรัฐบาลไม่พยายามทำอะไรภายใน 4-5 ปีข้างหน้า เชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงกว่านี้ เพราะกำลังซื้อของประเทศจะอ่อนแอและหากเป็นเช่นนั้น จากเมื่อก่อนที่ไทยเคยแข่งขันการค้ากับประเทศมาเลเซีย และขณะนี้แข่งกับเวียดนาม อนาคตอีก 5 ปีถ้าหากไทยไม่ปรับปรุงพัฒนาคงต้องแข่งขันการค้ากับลาว หรือกัมพูชา