posttoday

สิงห์-ช้างชิงอาเซียน ไล่ซื้อกิจการขยายอาณาจักร

30 พฤศจิกายน 2559

การแข่งขันของค่ายเบียร์ระหว่างไทยเบฟเวอเรจ กับบุญรอดบริวเวอรี่ ยังมีรุนแรงต่อเนื่อง

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การแข่งขันของค่ายเบียร์ระหว่างไทยเบฟเวอเรจ กับบุญรอดบริวเวอรี่ ยังมีรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อทั้งสองค่ายต่างปักธงตลาดอาเซียนเหมือนกัน ด้วยการขยายธุรกิจทั้งแอลกอฮอล์ และนันแอลกอฮอล์ เพื่อชิงกำลังซื้อประชากรร่วม 600 ล้านคน

พลิศร์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ เปิดเผยว่า บริษัท บุญรอดฯ ได้จัดตั้งบริษัทสิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่อขยายธุรกิจแอลกอฮอล์ และนันแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเจรจาซื้อกิจการในภูมิภาคอาเซียน ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปซื้อหุ้นของกลุ่มเมซาน คอนซูเมอร์ โฮลดิ้ง และเมซาน บริวเวอรี่

ทั้งนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาซื้อกิจการเพื่อต่อยอดทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่หลักการซื้อกิจการต้องมองถึงโอกาสที่ดีมากกว่าจะเป็นแค่โอกาส การหาพันธมิตรต้องสร้างธุรกิจร่วมกัน เช่น การซื้อหุ้นเมซาน มองว่าเป็นสปริงบอร์ดไปสู่อาเซียน รวมทั้งการนำสินค้ามีศักยภาพเปิดตลาดในไทย ล่าสุดบริษัทนำเข้าน้ำปลาตราหยดทองเข้ามาทำตลาดแล้ว

“ภาวะเศรษฐกิจโลกไม่มีความแน่นอน คาดเดาได้ยาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของอเมริกา หรือกระทั่งอังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป แม้กระทั่งเอเชียเองก็ตาม แต่อาเซียนเป็นประเทศเพื่อนบ้าน สภาพเศรษฐกิจขยายตัว ประกอบกับที่ผ่านมาธุรกิจกลุ่มเบียร์สิงห์ น้ำดื่ม และโซดา รวมทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ เข้าไปทำตลาดกับคู่ค้ามานาน เช่น เมียนมา กัมพูชา”  

อย่างไรก็ดี เหตุผลที่บริษัทมุ่งเน้นตลาดอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน มีโอกาสทางการตลาดสูง โดยพบว่าอัตราการดื่มเบียร์ของผู้บริโภคในอาเซียนยังต่ำกว่า 15 ลิตร/คน/ปี เทียบกับไทยอยู่กว่า 32-33 ลิตร/คน/ปี และเมื่อเทียบกับสหรัฐ อยู่ที่ 50 ลิตร/คน/ปี อีกทั้งส่วนใหญ่ยังชื่นชอบสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ระดับพรีเมียม ซึ่งการแข่งขันในภูมิภาคมีความรุนแรงจากคู่แข่งอย่างไทยเบฟเวอเรจ

สำหรับรายได้ของบริษัท บุญรอดฯ ทั้งปีราวกว่า 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันมาจากต่างประเทศในสัดส่วน 20% และในประเทศ 80% โดยบริษัท สิงห์ เอเชียฯ สร้างรายได้ตลาดอาเซียนทั้งปีมีอัตราเติบโตมากกว่า 10% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกับวางเป้าหมายรายได้แตะ 2 แสนล้านบาท ในอีก 2 ปี  รวมทั้งยังทำตามแผนเตรียมนำบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 5 ปี

ในส่วนของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ก่อนหน้านี้ได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อเร่งขยายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนันแอลกอฮอล์ ตามวิสัยทัศน์ 2020 บุกตลาดอาเซียน เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียนด้วยมูลค่าธุรกิจ 5.88 แสนล้านบาท

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนันแอลกอฮอล์ กล่าวว่า โมเดลการขยายธุรกิจไทยเบฟเข้าไปซื้อกิจการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์ในอาเซียน โดยเฉพาะที่เวียดนาม บริษัทสนใจเข้าซื้อหุ้นบริษัท ไซ่ง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ปอเรชั่น ฮานอยเบียร์ และผลิตภัณฑ์นมวีนามิลค์ ขณะนี้กำลังรอความชัดเจนกระบวนการของภาครัฐ

นอกจากนี้ วางแผนส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับนันแอลกอฮอล์พร้อมกับเข้าไปลงทุนระบบโลจิสติกส์ที่เมียนมา อีกทั้งยังศึกษาทำตลาดเครื่องดื่มนันแอลกอฮอล์และการลงทุนโลจิสติกส์ที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย จากการที่ภูมิประเทศเป็นเกาะ อีกทั้งวางแผนส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์ที่กัมพูชา โดยมีทั้งรูปแบบส่งแบรนด์ไทย เพื่อปั้นสู่การเป็นรีจินัลแบรนด์ และสร้างแบรนด์ใหม่เข้าไปทำตลาด

ขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพโตในอาเซียนจากเศรษฐกิจขยายตัวสูง คือ เวียดนาม และเมียนมา ส่วนประเทศอื่นเศรษฐกิจชะลอตัว การรุกอาเซียนแต่ละประเทศ วางเป้าหมายปั้นแบรนด์ให้เป็นอันดับหนึ่งแต่ละตลาด หลังปี 2563 บริษัทจะเริ่มเข้าไปขยายตลาดอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และอาเซียนบวก 6 สู่การเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในเอเชีย

จากนี้ไปคงต้องจับตาดูการซื้อกิจการ รวมทั้งแผนรุกขยายธุรกิจนันแอลกอฮอล์ของทั้งสองค่าย และการแข่งขันยึดตลาดอาเซียน เพื่อเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งสำหรับการขึ้นทำเนียบเทียบชั้นบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำในเอเชีย จากปัจจุบันบริษัท เหมาไถ ในจีนเป็นผู้นำตลาด ตามด้วยญี่ปุ่นอย่างบริษัท อาซาฮี กับคิริน ขณะที่ไทยเบฟเวอเรจรั้งอันดับ 5