posttoday

ร้านหนังสือปรับเปลี่ยน เพื่อ(ดึง)ผู้อ่าน

16 ตุลาคม 2559

ผลการวิจัย “พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดทำขึ้นในวาระงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ

โดย...เสน่ห์จันทน์

ผลการวิจัย “พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดทำขึ้นในวาระงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (งานมีถึงวันที่ 24 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) ด้วยยอดจำหน่ายหนังสือลดลง สำนักพิมพ์ต่างลดยอดจำนวนพิมพ์ลง บางสำนักพิมพ์ไม่ส่งหนังสือวางขายในร้านหนังสือ ซึ่งในแต่ละปัจจัยล้วนส่งผลกระทบต่อร้านหนังสือ ที่เมื่อจะว่ากันตรงๆ แล้วก็นับจำนวนได้น้อยลงเช่นกัน

เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่ออัตราการเข้าร้านหนังสือของผู้บริโภค โดยเฉพาะร้านหนังสือรายย่อย สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงได้จัดทำการวิจัยในเชิงคุณภาพ ในรูปแบบของกลุ่มสนทนาขึ้น (ช่วงระหว่างวันที่ 16-18 ก.ค. 2559) โดยมีจุดประสงค์หลักในการที่จะดึงดูดความสนใจให้ผู้บริโภคมาเข้าร้านหนังสือมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจถึงพฤติกรรมการอ่านหนังสือและการเข้าร้านหนังสือของนักอ่านยุคใหม่

ร้านหนังสือปรับเปลี่ยน เพื่อ(ดึง)ผู้อ่าน

 

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้นำเสนอผลการวิจัย พฤติกรรมผู้บริโภคในการเข้าร้านหนังสือ ว่า “จากงานวิจัยนี้พบว่าผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มนักอ่านตัวยงนั้น ไม่ได้มีอัตราการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของประเภทของหนังสือที่อ่านแทน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มอ่านหนังสือประเภทนวนิยายก่อน หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนไปอ่านประเภทอื่นๆ ตามสภาพเศรษฐกิจและช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เรียนหนักขึ้น หรือเปลี่ยนงานใหม่ เป็นต้น รวมถึงการเข้ามาของช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้นักอ่านมีช่องทางในการอ่านหนังสือมากขึ้น

ดังนั้น การที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคมาที่ร้านหนังสือมากขึ้นนั้น ควรเริ่มการจัดทำระบบฐานข้อมูลลูกค้า รวมไปถึงบริหารฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ และจัดเตรียมประเภทหนังสือรวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางของร้านให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยควรจะเน้นไปที่การสร้าง Community engagement ของกลุ่มนักอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดโซนให้นั่งอ่านหนังสือพร้อมทั้งคาเฟ่ภายในร้าน จัดกิจกรรมระหว่างกลุ่มนักอ่าน หรือปรับรูปแบบของร้านให้มีลักษณะเป็นกึ่ง Co-working space เพื่อรองรับเทรนด์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ควรจะมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นในภาพรวม อาจเน้นเจาะไปที่หนังสือบางประเภทที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่าย เช่น นิยายและวรรณกรรม ที่มักจะเป็นหนังสือที่คนจะเริ่มอ่านเป็นประเภทแรก ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนไปอ่านประเภทอื่นๆ ตามลักษณะความชอบและแรงสนับสนุนของตลาด”

วงการหนังสือต้องปรับตัวกันอย่างหนัก ไม่เพียงแต่จับกลุ่มคนอ่านให้ได้ ยังต้องเจาะกลุ่มคนอ่านให้ได้ด้วย และตอบสนองความต้องการของคนอ่านให้ได้ ก็เมื่อคนอ่านคือผู้ที่จะต่อยอดให้หนังสือยังมีพื้นที่อยู่ ดังนั้นการรู้ถึงพฤติกรรมผู้อ่านและการปรับตัวของร้านหนังสือซึ่งถือเป็นปลายน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ร้านหนังสือปรับเปลี่ยน เพื่อ(ดึง)ผู้อ่าน

 

ร้านหนังสือปรับเปลี่ยน เพื่อ(ดึง)ผู้อ่าน

 

ร้านหนังสือปรับเปลี่ยน เพื่อ(ดึง)ผู้อ่าน