posttoday

ค้าปลีกไทยยุคดิจิทัล "ออมนิแชนแนล" คือคำตอบ

19 กันยายน 2559

สิ่งสำคัญของธุรกิจค้าปลีกยุค 4.0 คือ การเชื่อมโยงทุกช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นหนึ่งเดียว

โดย...วันเพ็ญ พุทธานนท์

โลกยุคดิจิทัลและการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ของรัฐบาลส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์และเน้นภาคบริการมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ทุกภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เท่าทัน รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพีออลล์ กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ ทิศทางค้าปลีกสมัยใหม่ 2560 กับยุคดิจิทัล เอ็นเกจเมนต์ ว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลในทุกด้าน การมาถึงของเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้ารวดเร็ว ส่งผลอย่างมากทั้งในส่วนของผู้บริโภค ภาคธุรกิจ รวมถึงภาพรวมของประเทศ

การเข้าสู่ยุคดิจิทัลส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป การไม่ยึดติดพร้อมจะเปลี่ยนหากไม่ได้ตามที่คาดหวัง มีมาตรฐานและความคาดหวังที่สูงขึ้น มีความอดทนน้อยลงแต่คิดมากขึ้น ศึกษาข้อมูลมากขึ้น และมีทางเลือกในการจับจ่ายมากขึ้น นอกจากนี้พฤติกรรมการซื้อสินค้ายังเปลี่ยนไปจากการใชัชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ต้องการความสะดวกและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการซื้อสินค้ามากขึ้น

“พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าในสมัยนี้จะเริ่มจากการค้นหาข้อมูลสินค้าจากสื่อดิจิทัลต่างๆ แล้วจึงเลือกซื้อสินค้าทดลองใช้ จากนั้นจะเกิดการแชร์หรือบอกต่อหรือสรุปง่ายๆคือ เสิร์ช ช็อป แชร์”

เมื่อมองถึงปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีความเป็นเมืองมากขึ้น ครอบครัวมีขนาดเล็กลง รายได้เพิ่มขึ้นทำให้ต้องการสินค้าที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ส่งอานิสงส์ถึงสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าเพื่อผู้สูงวัยจะเติบโต การเร่งรีบในชีวิตทำให้ต้องการสินค้าที่สะดวกรวดเร็วเน้นคุณภาพ และเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคศึกษาก่อนตัดสินใจซื้อ

ขณะที่เทคโนโลยีส่งผลอย่างชัดเจนต่อพฤติกรรมลูกค้ายุคดิจิทัล เห็นได้จากการครอบครองมือถือที่สูงถึง 124% หรือมีจำนวนมือถือถึง 83 ล้านเครื่อง จากจำนวนประชากร 66 ล้านคน ในจำนวนมือถือทั้งหมดเป็นสมาร์ทโฟนถึง 58% มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 38 ล้านคน ไลน์ 33 ล้านคน และใช้อินเทอร์เน็ต 38 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจออนไลน์จะมากขึ้น แต่พบว่าผู้บริโภคจะใช้ออนไลน์ในการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อและจะยังคงไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าหรือออฟไลน์มากกว่า แสดงให้เห็นว่าหน้าร้านยังเป็นหัวใจสำคัญในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

สำหรับค้าปลีกยุค 4.0 นั้น ปิยะวัฒน์ กล่าวว่า เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมาเป็นช่องทางในการสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งหากเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสัมพันธ์กับผู้บริโภคกับแบรนด์ได้อย่างดีในยุคดิจิทัล

ดังนั้น สิ่งสำคัญของธุรกิจค้าปลีกยุค 4.0 คือ การเชื่อมโยงทุกช่องทางจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นหนึ่งเดียว เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือออมนิแชนแนลนั่นเอง