posttoday

ยักษ์ค้าปลีกปรับรับเทรนด์โลก ลุยมิกซ์ยูสมุ่งครบวงจร

18 พฤษภาคม 2559

จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ชอบอะไรที่มีความสะดวกสบายและครบวงจรมากขึ้น

โดย...จะเรียม สำรวจ

จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ชอบอะไรที่มีความสะดวกสบายและครบวงจรมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มีการแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้รูปแบบการทำธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการหันมาพัฒนาโครงการค้าปลีกในรูปแบบมิกซ์ยูส เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ

แม้ว่าโครงการมิกซ์ยูสจะไม่ใช่เรื่องใหม่กับวงการค้าปลีก แต่เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาพัฒนาโครงการขนาดใหญ่เพื่อผสมผสานการบริการให้มีความครบวงจร จะเห็นได้ว่า โครงการค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมีทั้งในส่วนของพื้นที่ค้าปลีก ที่พักอาศัย และอาคารสำนักงานให้เช่า ซึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก

บรม พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี กล่าวว่า ทุกวันนี้คนชอบความสะดวกสบายมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว โดยเฉพาะด้านบริการให้เป็น วัน สต็อป เซอร์วิส เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เดินทางเข้ามาใช้บริการแบบมาครั้งเดียวแล้วใช้บริการได้ครบ ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงต้องมีห้างเซ็นทรัล ชิดลม มีศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี และมีโรงแรมปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ ไว้คอยบริการลูกค้า

โครงการมิกซ์ยูสของกลุ่มเซ็นทรัล นอกจากจะมีที่ย่านชิดลมแล้ว โครงการศูนย์การค้าส่วนใหญ่จะเป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งจะมีพื้นที่ในส่วนของอาคารสำนักงานหรือไม่ก็โรงแรมเปิดให้บริการควบคู่กันไป เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพราะนอกจากจะมีตัวศูนย์การค้าเป็นแม่เหล็กหลักแล้ว ภายในโครงการยังมีห้างสรรพสินค้าอีก 2 แบรนด์เปิดให้บริการ คือ ห้างสรรพสินค้าอิเซตันและห้างเซน

นอกจากนี้ ยังมีอาคารสูงในส่วนของสำนักงานให้เช่าอีก 2 อาคาร คือ อาคารดิออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารเซนเวิลด์ รวมไปถึงโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เปิดให้บริการอยู่ภายในโครงการเดียวกัน

ในส่วนของบริษัท สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน และสยามทาวเวอร์ ก็เดินหน้าพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสในทางที่ตัวเองถนัดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยโครงการล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวความยิ่งใหญ่ไป คือ ไอคอนสยาม ซึ่งพื้นที่ภายในโครงการนอกจากจะมีพื้นที่ของศูนย์การค้าไอคอนสยาม และศูนย์การค้าไอคอนลักซ์แล้ว ยังมีห้างสรรพสินค้าทาคาชิมายา และโครงการที่อยู่อาศัยสุดหรูอย่างคอนโดมิเนียมแมกโนเลีย วอเตอร์ฟรอนต์ เรสซิเดนซ์ และโครงการ เดอะ เรสซิเดนซ์ แอท แมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เปิดให้บริการอีกด้วย

ฝั่งบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ปเองก็หันมาพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสอย่างจริงจังเช่นกัน โดยเฉพาะใน 5 โครงการใหม่ล่าสุดที่ได้ประกาศไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยโครงการที่เปิดให้บริการไปแล้วอย่าง ดิ เอ็มควอเทียร์ ซึ่งนอกจากจะมีพื้นที่ในส่วนของศูนย์การค้ายังมีพื้นที่ในส่วนของอาคารสำนักงานภิรัชทาวเวอร์ ของบริษัท ภิรัชบุรี เปิดให้บริการด้วย

ขณะที่โครงการบลูพอร์ต ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2559 นี้ นอกจากจะมีตัวศูนย์การค้า ยังมีโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวเปิดให้บริการ เช่นเดียวกับโครงการบลูเพิร์ล ที่มีทั้งพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้า มีโรงแรม และสวนสนุกขนาดใหญ่เปิดให้บริการ ส่วนโครงการแบงค็อกมอลล์ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ภายในจะประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และอาคารที่อยู่อาศัยให้เช่าหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจจะลงทุนโครงการมิกซ์ยูส และออกมาประกาศแผนการพัฒนาโครงการอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว คือ บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ ผู้บริหารศูนย์การค้าเมกา บางนา หลังจากประสบความสำเร็จกับโครงการเฟสแรก ด้วยการผสมผสานธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ ไว้ในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นตัวห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างบิ๊กซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างขายของใช้ภายในบ้านขนาดใหญ่อย่างอิเกีย และโฮมโปร

จากความสำเร็จดังกล่าว ล่าสุด เอสเอฟฯ มีแผนจะพัฒนาโครงการเมกา บางนา เฟส 2 บนพื้นที่ 200 ไร่ใกล้กับเฟสแรก เพื่อให้โครงการมีความครบวงจรมากขึ้น โดยจะพัฒนาเป็นแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย พื้นที่ค้าปลีก และที่พักอาศัย ซึ่งในส่วนของที่พักอาศัยอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปว่าจะพัฒนาเป็นโรงแรมหรือที่อยู่อาศัย

โครงการมิกซ์ยูสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ หากการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ น่าจะช่วยกระตุ้นให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยมีความคึกคักมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็น่าจะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้เป็นกอบเป็นกำ จากปัจจุบันอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจของประเทศอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากในปีนี้จะมีพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสน ตร.ม. และเพิ่มขึ้นอีก 5 แสน ตร.ม. ในปี 2560 เพราะโครงการที่ประกาศจะเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยเปิดให้บริการ