posttoday

ร้านหนังสืออิสระ การเกิดใหม่ของนักอ่านและหนังสือ

26 มีนาคม 2559

เมื่อ “การอ่าน” มีความสำคัญ ไม่เพียงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่มีบรรยากาศของนักอ่านพบเจอนักเขียน ทว่า

โดย...นกขุนทอง-ศศิธร จำปาเทศ

เมื่อ “การอ่าน” มีความสำคัญ ไม่เพียงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่มีบรรยากาศของนักอ่านพบเจอนักเขียน ทว่า ร้านหนังสือสแตนด์อะโลน หรือ “ร้านหนังสืออิสระ” ก็มีส่วนรณรงค์การอ่านในชุมชน และมีเสน่ห์อันทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างนักอ่านที่เป็นเจ้าของร้านและนักอ่านที่เป็นลูกค้าอย่างน่าหลงใหล

เสน่ห์ที่ได้มากกว่าหนังสือกลับบ้าน

ในตัวเมืองอันเงียบสงบของ จ.สตูล มีร้านหนังสืออิสระชื่อ “ความกดอากาศต่ำ” โดยสำนักพิมพ์ผจญภัย เพิ่งเปิดร้านเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมกับหนังสือเล่มล่าสุดที่มีชื่อเดียวกับร้าน

เจ้าของร้าน “ศิริวร แก้วกาญจน์” นักเขียนรางวัลศิลปาธร ปี 2550 ตัดสินใจร่วมกับภรรยา “คีตญา อินทรแก้ว” กลับมาเปิดร้านหนังสือที่บ้านเกิดไม่ต้องมีภาระเรื่องค่าเช่าที่ พร้อมบาร์กาแฟเล็กๆ

ร้านหนังสืออิสระ การเกิดใหม่ของนักอ่านและหนังสือ

 

คีตญา เล่าว่า ในฐานะคนทำหนังสือและคนอ่านหนังสือ เมื่อไปร้านหนังสือต่างๆ มักสำรวจว่าร้านเขาเป็นอย่างไร ซึ่งร้านหนังสือเจ้าใหญ่ๆ พนักงานไม่ค่อยรู้จักหนังสือที่ขาย ไม่สามารถอธิบายหรือแนะนำหนังสือ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผู้อ่านยืนเลือกหนังสือเอง ซื้อแล้วจ่ายตังค์ก็จบ แต่ร้านหนังสืออิสระส่วนใหญ่เจ้าของร้านเป็นคนขายเอง โดยเลือกหนังสือจากที่ตัวเองอ่านแล้วคิดว่าเป็นหนังสือที่ดีมาขาย เมื่อนักอ่านเข้ามาก็สามารถแนะนำหนังสือ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนหนังสือที่ต่างคนต่างอ่านด้วยกันได้ บางเล่มไม่มีขายในร้านก็เอาของส่วนตัวมาให้ยืม

กลับมาที่กรุงเทพมหาคร ย่านบางขุนพรหม มีร้านหนังสืออิสระชื่อ “บุ๊คบุรี” (Bookburi) เปิดตัวขึ้นจากเจ้าของที่มีใจรักและตั้งใจจะสร้างสังคมการอ่านขึ้น

“พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ” ปรับปรุงแผงหนังสือของคุณพ่อ แปลงโฉมให้กลายเป็นร้านหนังสือเล็กๆ พร้อมสร้างนักอ่านหน้าใหม่ๆ

ร้านหนังสืออิสระ การเกิดใหม่ของนักอ่านและหนังสือ

 

“อยากให้มีนักอ่านหน้าใหม่ที่อ่านหนังสือลึกซึ้งขึ้น เพราะร้านหนังสืออิสระค่อนข้างคัดหนังสือมารอบหนึ่งแล้ว ร้านเราเองผสมผสานระหว่างหนังสือเด็กผู้ใหญ่ และไม่ควรอยู่ด้วยการขายหนังสืออย่างเดียว ต้องเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างสรรค์และสร้างคอมมูนิตี้ที่จะดึงคนอ่านมาอยู่กับร้านหนังสือ ไม่ใช่แค่มาซื้อก็จบกัน เป็นโจทย์ที่เราต้องทำให้ได้ พร้อมกับพัฒนาตนเองด้วย ซึ่งตอนนี้ร้านเราก็จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน Bookburi read on a train หอบหนังสือ หนีขึ้นรถไฟไปอ่านด้วยกัน พร้อมกับแจกส่วนลดหนังสือให้กลับมาซื้อหนังสือร้านเราด้วย”

อยู่รอดอย่างอิสระ

 สำหรับร้านหนังสืออิสระแล้ว เมื่อกล้าเปิดก็ต้องคิดต่างและต้องหาทางอยู่รอดให้ได้ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ “เอก อัคคี” (เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์) บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์โมโนโพเอท และเจ้าของร้าน Music Plus เพชรเกษม 81 และเคยเขียนผลงาน “ใครๆ ก็อยากเปิดร้านหนังสือ” เล่าว่า

“อย่างผมเองตอนนี้ทำร้านอยู่ก็ต้องผสมระหว่างร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านแผ่นเสียงในพื้นที่เดียวกัน เพราะกลุ่มลูกค้าของเรายังไม่ชัดขนาดที่มุ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมก็พยายามตอบโจทย์ว่าที่เขาเข้ามาที่ร้านเรา อาจจะมาดื่มกาแฟก็ได้ ด้านบนผมเปิดเป็นโรงเรียนสอนดนตรี ชั้น 3 เปิดเป็นเวิร์กช็อป ทำให้ทุกอย่างมีความรู้สึกว่า พ่อ แม่ ลูก มาแล้วมีกิจกรรมทำ คงเป็นแบบนี้ไปจนกว่าเราหากลุ่มตัวเองเจอ ผมว่าต่อไปสังคมไปไทยจะค่อยๆ ไหลไปสู่ตรงนั้น และค่อยๆ ไหลไปสู่จุดที่บอกว่าร้านหนังสือเฉพาะแนว ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ยกตัวอย่าง บุหลัน รันตี เป็นนักเขียนเรื่องเดินป่า เขาเปิดร้านกาแฟที่สวนผึ้ง ราชบุรี มีมุมหนังสือผลงานของเขาทุกปก ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในร้านหนังสืออิสระที่เลือกแนวของตัวเอง”

ร้านหนังสืออิสระ การเกิดใหม่ของนักอ่านและหนังสือ

 

ปัจจุบันร้านหนังสืออิสระส่วนใหญ่มักมีช่องทางจำหน่ายอยู่ 2 ทาง คือ ขายหน้าร้านและใช้สื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กมาสร้างคอมมูนิตี้และเรื่องราว ความเคลื่อนไหวของกิจกรรม หากสร้างชุมชนตรงนี้ขึ้นมาได้ เมื่อมีคนเดินมาหาปุ๊บก็จะสามารถเพิ่มรายได้

“ร้านหนังสืออิสระจะอยู่ได้ก็ต้องสร้างกิจกรรม สร้างเอกลักษณ์ แล้วก็สร้างความเป็นกันเองให้กับผู้อ่านที่เป็นลูกค้า ต้องใช้พลังเยอะกว่าร้านหนังสือที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า ร้านอิสระส่วนใหญ่เริ่มด้วยเจ้าของลงมานั่งทำ แล้วก็มีเพื่อนฝูงที่เป็นคอเดียวกัน เพราะฉะนั้นร้านเล็กๆ ถ้าบริหารให้ดีก็สามารถอยู่รอดได้ แต่ทุกคนต้องมีกิจการอื่นเข้ามารองรับ ไม่สามารถจะทำร้านหนังสืออย่างเดียวได้”

ปัญหาเรื่องสายส่งไม่จัดส่งหนังสือให้กับสำนักพิมพ์เล็กๆ หรือร้านหนังสือใหญ่จัดกิจกรรมลดราคา ยังเป็นปัญหาที่ถกกันไม่รู้จบที่ทำให้การเกิดของร้านหนังสืออิสระล้มตายไปอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัว

“จรัญ หอมเทียนทอง” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมพยายามบอกให้สมาชิกส่งหนังสือให้กับร้านหนังสืออิสระ และพยายามจัดสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ ช่วยแนะนำร้านให้คนรู้จักว่าพื้นที่ตรงไหนมีร้านหนังสืออิสระอะไรบ้าง

ร้านหนังสืออิสระ การเกิดใหม่ของนักอ่านและหนังสือ

 

“มีคนพยายามพูดว่าการจัดงานสัปดาห์หนังสือเป็นการทำลายร้านหนังสืออิสระ ซึ่งตรงกันข้าม การจัดงานหนังสือเป็นการช่วยนักเขียนให้มีผลงาน และเปิดพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ซึ่งคนที่มางานหนังสือส่วนหนึ่งมาซื้อหนังสือเก่าที่เขาไม่เคยเจอ ได้พบกับโลกที่ช่วยตอบโจทย์คนอ่านหนังสือ ทำให้คนอยากอ่านหนังสือมากขึ้น ดังนั้นไม่ได้ทำลายร้านหนังสืออิสระเลย

“ต้องขอบคุณร้านหนังสืออิสระที่ทำหน้าที่ช่วยกระจายหนังสือ กล้าลงทุนในยุคที่คนไม่ได้นึกถึงหนังสือเป็นอันดับแรก ซึ่งถือว่ามีส่วนทำให้คนอ่านตื่นตัว แล้วก็เกิดนักอ่านหน้าใหม่ได้ คนขายหนังสือร้านอิสระจะเป็นคนมีชีวิต สามารถโต้ตอบ พูดคุยให้ความกระจ่าง คนหรือเด็กที่กำลังสนใจหนังสือเล่มนั้นจะแนะนำว่าเล่มไหนควรอ่าน ดีหรือไม่ดีอย่างไร ซึ่งเสน่ห์ตรงนี้จะพบได้ในร้านหนังสืออิสระ ซึ่งอาจเป็นร้านเล็กๆ ในชุมชน”