posttoday

10 เทรนด์ทรงอิทธิพล พลิกตลาดไล่ล่าผู้บริโภค

12 กุมภาพันธ์ 2559

กระแสโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักการตลาด นักสื่อสาร ไม่เพียงต้องรู้ทันคู่แข่ง แต่ยังต้องมองแนวโน้มหรือเทรนด์แห่งอนาคต

โดย..ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

กระแสโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักการตลาด นักสื่อสาร ไม่เพียงต้องรู้ทันคู่แข่ง แต่ยังต้องมองแนวโน้มหรือเทรนด์แห่งอนาคต เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมการทำตลาด การสื่อสาร และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เจ.วอลเตอร ธอมสัน อินโนเวชั่น กรุ๊ป เผย 10 เทรนด์หรือกระแสที่เกิดขึ้นในไทย จาก 100 เทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่ต้องจับตาและมีผลต่อการทำตลาด

ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย เอเยนซีด้านการวางแผนและกลยุทธ์การตลาด เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์รายการ 100 เทรนด์แห่งอนาคต พบว่ามีอยู่ 10 เทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อการทำตลาดในไทย ประกอบด้วย 1.เทรนด์ทางด้านวัฒนธรรมโดยกลุ่มเจเนอเรชั่นซี (Gen-Z) ต้องการไอคอนแตกต่างจากยุคมิลเลนเนียม ที่ชื่นชมไอคอนที่โด่งดังจากเรียลิตี้ทีวี โดยเป็นไอคอนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเป็นกลุ่มที่เพื่อนต่างเชื้อชาติและรสนิยมทางเพศหลากหลาย และเกิดมาท่ามกลางความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสูง

สำหรับในไทย เจเนอเรชั่นซีเป็นกลุ่มคนที่สามารถมองเห็นโอกาสรอบๆ ตัว และนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจผลักดันทางด้านธุรกิจหรือสร้างให้มีชื่อเสียง ยกตัวอย่างเช่น จัสมิน-พิมรา สีดอกบวบ ไอดอลสาวมุสลิมเจ้าของเครื่องสำอางฮาลาลพิมมารา แบรนด์ยอดนิยมของสาวมุสลิมในภาคใต้ หรือกระทั่งม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ นางแบบเพศที่สองก้าวมาเป็นสไตลิสต์แห่งโลกโซเชียลนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่น กลยุทธ์การทำตลาด นักการตลาดควรนำบุคคลเหล่านี้มาสร้างแบรนด์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไป 

ทุกวันนี้การเรียนรู้ออนไลน์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเล่าเรียนของสถาบันการศึกษาเริ่มพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ขาดไม่ได้ จึงเกิดเทรนด์ที่ 2.มหาวิทยาลัยออนไลน์ สำหรับในต่างประเทศมีการเปิดโรงเรียน Minerva Schools ผสมผสานการเรียนรู้ทางออนไลน์และประสบการณ์จากโลกจริงเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนในไทยหน่วยงานการศึกษาต่างๆ เริ่มสร้างแหล่งความรู้ออนไลน์ขององค์กรเอง อาทิ ถามครู.com เว็บ LangFight.Com พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ให้ผู้ใช้สามารถเรียนรู้ภาษาและอัดเสียงตัวเอง เพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นให้คะแนน สอดคล้องกับแนวคิดของไทยที่ต้องการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป ต้องการมีสุขภาพที่ดีควบคู่กัน สร้างเทรนด์ที่ 3.การท่องเที่ยวเชิงกีฬา จากนี้ไปจะเริ่มเห็นแบรนด์สุขภาพชั้นนำเริ่มขยายโครงสร้างทางธุรกิจเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถมองว่าฟิตเนสเป็นแค่บริการเสริม แต่ต้องผสานเข้าไว้กับธุรกิจเพื่อมอบบริการหรูสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ ขณะนี้เริ่มเห็นแบรนด์ยิมระดับโลก Equinox ได้ขยายธุรกิจท่องเที่ยว มีแผนเปิดโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการฟิตหุ่นให้ดูดีตลอดเวลา แม้ว่าจะเดินทางท่องเที่ยว ขณะที่ตลาดในไทย โรงแรม Absolute Sanctuary เกาะสมุย เน้นจุดขายโปรแกรมบริการฟื้นฟูสุขภาพ

ขณะที่เทรนด์ที่ 4.การตลาดและแบรนด์สำหรับผู้สูงอายุ หรือกลุ่ม Baby Boomer อายุ 50 ปีขึ้นไป ยังเป็นสิ่งที่นักการตลาดไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้า ตอบสนองความต้องการของตลาดน้อยมาก โดยมีเพียงกลุ่มประกันชีวิตที่ออกมาทำตลาดเชิงรุก ซึ่งตลาดผู้สูงอายุนับวันจะกลายเป็นตลาดใหญ่ มีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแถบตะวันออกกลาง หรือทวีปแอฟริกาเหนือ พบว่าความต้องการสินค้าเฉพาะกลุ่มมีความละเอียดอ่อน เบื้องต้นร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 มีสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมืองรีบเร่งไม่มีเวลาทำอาหาร

ในส่วนของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเกิดเทรนด์ที่ 5.จังก์ฟู้ดเพื่อสุขภาพ แบรนด์ต่างๆ เริ่มให้ความสนใจการนำเสนออาหารจังก์ฟู้ดที่ใช้ส่วนผสมธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงเวลาที่ทานอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกาย และตอบรับกระแสนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ขณะนี้เริ่มเกิดร้านอาหารแนว Natural Junk ในไทย อาทิ Theera คาเฟ่เพื่อสุขภาพ ผลิตเบเกอรี่ไม่มีส่วนผสมของแป้งสาลีและวัตถุดิบทำให้เกิดการแพ้ หรือเกิดสแน็กเพื่อสุขภาพ

การยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาความงามในแบบฉบับที่ตัวเองเป็น เทรนด์ที่ 6.ด้านความงามจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ชื่นชมในปัจเจกนิยมของตนเอง ไม่จำเป็นต้องสวยสมบูรณ์แบบก็สามารถสร้างตัวตนให้เป็นที่ยอมรับทางสังคม ผ่านการถ่ายทอดความเป็นตัวของตัวเอง อาทิ มะเฟือง เด็กมัธยมปลายผู้รังสรรค์ทำคลิปสั้นเรียกเสียงฮาจนมีคนดูคลิปผ่านทาง Vine กว่า 6 ล้านครั้ง ตามด้วยเทรนด์ที่ 7.แหล่งรวมแบรนด์ จากการเกิดสตาร์ทอัพขึ้นเป็นจำนวนมาก หลายแบรนด์เริ่มมองเห็นโอกาสแบ่งพื้นที่ในร้านของตัวเอง เพื่อให้แบรนด์สตาร์ทอัพได้ลองวางขายสินค้าเชื่อมโยงถึงนวัตกรรม ซึ่งช่วยดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้าร้านได้เพิ่มขึ้น

ปรัตถจริยา กล่าวว่า พฤติกรรมของกลุ่มคนเมืองที่ใช้ชีวิตทำงานอย่างหนัก บริษัทต่างๆ พยายามสร้างสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงาน เกิดเทรนด์ที่ 8.การทำงานที่เน้นการดูแลสุขภาพของพนักงาน เพราะช่วยทำให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็เพิ่มกำไรให้กับบริษัท สำหรับในไทยขณะนี้เริ่มมีบริษัทนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ อาทิ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีฟิตเนสสำหรับศิลปินและพนักงาน ตามด้วยเทรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ 9.การเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย จากกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตและการทำงาน เริ่มมีผู้ประกอบการพัฒนาพื้นที่ย่านทองหล่อ ภายใต้โครงการเกษตรเรียนรู้ “รูท การ์เด้นท์” ซึ่งทำให้เกิดแหล่งการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้

ส่วนเทรนด์สุดท้าย ด้านความหรูหราซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจอาหาร พบว่า ผู้บริโภคต้องการประสบการณ์การทานอาหารแบบตื่นเต้นท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงพื้นที่ที่ห่างไกล หายาก หรือกระทั่งได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ กลยุทธ์การทำตลาดผู้ประกอบการพัฒนาเมนูอาหารให้มีเรื่องราว เพื่อให้ลูกค้าได้สามารถแบ่งปันประสบการณ์ในโซเชียลมีเดีย เริ่มมีร้านอาหารเทธเอเนส์ ใช้กลิ่นมาสร้างมิติของการทานอาหารแล้วสำหรับในไทย

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาเทรนด์โลกที่น่าจับตามองว่าจะเกิดขึ้นในไทยด้วยเช่นกัน คือ ที่อยู่อาศัยเริ่มมีขนาดเล็กลงมาก (Modular living) เกิดการแชร์พื้นที่เช่าสำนักงานหรือที่อยู่อาศัย (Co living) หรือกระทั่งการเกิดค้าปลีกมือสอง

การทำตลาดในยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หัวใจสำคัญต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะเป็นผู้ซื้อสินค้าและทำให้ธุรกิจเกิดได้ การที่นักการตลาดสามารถจับกระแสหรือเทรนด์ใหม่ๆ ได้เร็ว จะทำให้รู้เท่าทันตลาดและคิดได้ไกลกว่าผู้บริโภค สินค้าและบริการมีความสดใหม่ แก้ปัญหา และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ได้