posttoday

คนกรุงเริ่มชินใช้รถส่วนตัวมากขึ้น

23 มกราคม 2557

คมนาคมรายงาน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเริ่มทรงตัว คนกลับมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้น ทำให้จุดจอดรถเต็มพื้นที่

คมนาคมรายงาน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเริ่มทรงตัว คนกลับมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้น ทำให้จุดจอดรถเต็มพื้นที่

กระทรวงคมนาคมปรับระบบการขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน และสรุปสถานการณ์การเดินทาง ในวันที่ 22 มกราคม 2557 โดยได้ปรับปรุงการให้บริการระบบการขนส่ง ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ช่วงสถานการณ์การชุมนุม โดยในวันที่ 22 มกราคม 2557 สรุปการปรับปรุงระบบการขนส่งและสถานการณ์การเดินทาง ดังนี้

1. สถานการณ์การเดินทาง บช.น. ปรับแผนการจราจร เช่น ปรับกำลังพลในการปฏิบัติ ปรับช่องทางพิเศษและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปรับแผนเดินทางและใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่เนื่องจากผู้ใช้รถ ใช้ถนนมาก และมีการปิดจราจรตามจุดชุมนุม ทำให้การจราจรใน กทม. ติดขัดมาก เช่น ถ.บรมราชชนนี ถ.สิรินธร ข้ามสะพานซังฮี้ ถ.จรัญสนิทวงศ์ ถ.ตากสิน ถ.รัชดาภิเษกขาเข้า

2. การปรับบริการระบบขนส่ง โดย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปรับเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทาง รวมทั้งหมด 67 สาย เพื่อหลีกเลี่ยงจุดชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม ซึ่งวันที่ 21 ม.ค. 2557 มีผู้โดยสาร 2,094,827 คน ลดลงจากช่วงเวลาปกติ 37.07%

ด้าน Shuttle Bus มีผู้ใช้บริการในวันที่ 21 ม.ค. 2557 จำนวน 3,835 คน ลดลงจากวันที่ 20 ม.ค. 57 จำนวน 80.76% เนื่องจากยกเลิกบริการ รถ Shuttle Bus จำนวน 5 เส้นทาง นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการ Shuttle Bus เส้นทาง บริเวณหลังด่านฯ สุขาภิบาล 5 และสนามกีฬาเคหะคลองจั่น ผู้ใช้บริการลดลงมากถึง 99%

ขณะที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พบว่า สถานีสุทธิสาร สถานีห้วยขวาง สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ สถานีพระราม ๙ สถานีเพชรบุรี มีจำนวนผู้ใช้บริการหนาแน่น เนื่องจากผู้โดยสารที่ขึ้นจากสถานีบางซื่อ สถานีสวนจตุจักร สถานีพหลโยธิน สถานีลาดพร้าว มากขึ้น โดยในวันที่ 21 มกราคม 2557 มีผู้โดยสารจำนวน 346,339 คน สูงกว่าช่วงปกติ 33.21% สำหรับ จุดจอดรถที่สถานี MRT ลาดพร้าว มีผู้ใช้บริการเต็มที่จอดรถ เนื่องจากประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น

ส่วน บริษัท รถไฟฟ้า (รฟฟท.) รายงานว่า วันที่ 21 ม.ค. 2557 มีผู้โดยสาร จำนวน 52,792 คน เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ 5.58% ผู้โดยสารหนาแน่นที่สถานีหัวหมากและสถานีรามคำแหง ตั้งแต่ 7.00 น. ถึง 9.00 น. ซึ่ง รฟฟท. ได้จัดขบวนเสริม ส่วนที่สถานีลาดกระบังมีปริมาณผู้โดยสารสูงกว่าช่วงปกติอย่างต่อเนื่อง

ด้าน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พบว่า ประชาชนเปลี่ยนมาใช้บริการรถไฟชานเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยในวันที่ 21 ม.ค. 2557 มีผู้โดยสาร จำนวน 33,282 คน สูงกว่าช่วงปกติ 2.69% สถานีที่มีผู้ใช้บริการมากช่วงเช้า ได้แก่ สายใต้ สถานีศาลายา สถานีบางบำหรุ สถานีบางซื่อ , สายเหนือ สถานีเชียงราก สถานีรังสิต สถานีดอนเมือง สถานีหลักสี่ สถานีบางเขน และรวมถึงจุดหยุดรถระหว่างสถานี , สายตะวันออก สถานีหัวตะเข้ สถานีลาดกระบัง และสถานีหัวหมาก รฟท. ได้อนุโลมให้ประชาชนขึ้นรถไฟขบวนรถด่วน/รถเร็ว ชั้น 3 ฟรี

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 21 ม.ค. 2557 มีผู้ใช้ทางพิเศษ จำนวน 1,151,496 คัน ลดลงจากช่วงปกติ 26.52% ปริมาณการใช้ทางพิเศษต่ำกว่าช่วงสภาวะปกติ ซึ่งสถานการณ์บนทางพิเศษ เวลา 06.00 – 10.00 น. สภาพการจราจรทั่วไป มีปริมาณรถมาก แต่ยังคงเคลื่อนตัวได้ดี ยกเว้น ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ท่าเรือไปดาวคะนอง ปริมาณรถมากเคลื่อนตัวช้า เนื่องจากบนสะพานพระรามเก้า มีการซ่อมผิวจราจรบนสะพาน 1 ช่องทาง

3. การจราจรที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม แบ่งเป็น ทางถนน ได้แก่ โทลเวย์ วันที่ 21 ม.ค. 2557 มีจำนวนการใช้รถ 102,499 คัน ลดลงจากช่วงสภาวะปกติ 14.8% เส้นทางหลักการจราจรคล่องตัวทั้งขาเข้า และ ขาออก ไม่มีการปิดการจราจร ยกเว้นการจราจรทางลงแจ้งวัฒนะ แต่ไม่ส่งผลกระทบมาก เพราะสามารถใช้ทางลงบริเวณหน้าสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์แทนได้

ด้าน ทางน้ำ แบ่งเป็น คลองแสนแสบ วันที่ 21 ม.ค. 2557 มีจำนวนผู้โดยสาร 44,866 คน น้อยกว่าช่วงปกติ 4.5% แต่หนาแน่นในบางท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง ท่าเรือประตูน้ำ ท่าเรือผ่านฟ้า ท่าเรือโบ๊เบ๊ ท่าวัดกลาง ท่าเรือบางกะปิ ท่าเรือเดอะมอลล์บางกะปิ ท่าเรือมหาดไทย ท่าเรืออโศก ขณะที่ แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงเช้ามีประชาชนใช้บริการมากพอสมควร ถึง ค่อนข้างหนาแน่น ในบางท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือพายัพ ท่าเรือสะพานซังฮี้ ท่าเรือปิ่นเกล้า ท่าเรือวังหลัง สำหรับผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา ในวันที่ 21 ม.ค. 2557 มีจำนวน 34,800 คน น้อยกว่าสภาวะปกติ 7.8% ส่วนท่าเรือข้ามฟาก ช่วงเร่งด่วน ที่ท่าเรือสี่พระยา-คลองสาน และ ดินแดง-ราชวงศ์ มีผู้ใช้บริการค่อนข้างหนาแน่น

กระทรวงคมนาคม ยังรายงานการใช้จุดจอดรถ โดยพบว่า จุดจอดรถที่มีผู้ใช้บริการมาก ได้แก่ สถานี ARL หัวหมาก สถานี Airport Rail Link (ARL)   บ้านทับช้าง สถานี ARL ลาดกระบัง สถานี MRT ลาดพร้าว สถานี MRTศูนย์วัฒนธรรม โดยในส่วนสถานี ARL ลาดกระบัง ซึ่งกรมทางหลวงได้จัดพื้นที่การจอดรถ (ลานจอดรถที่ 1 – 4 และไหล่ทางหน้าสถานี) เพิ่มขึ้น มีผู้ใช้บริการเต็มพื้นที่เช่น จุดจอดรถจักรยาน มีผู้ใช้บริการจำนวนน้อย