posttoday

TDRI ยันประมูล3จีต่ำไม่ทำให้ค่าบริการถูก

24 ตุลาคม 2555

ทีดีอาร์ไอยันประมูล 3จี ต่ำไม่ทำให้ค่าบริการถูก ชี้เป็นส่วนกำไรยิ่งหนุนผู้ประกอบการ ด้านกสทช. ยืดอกพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหากผิดจริง

ทีดีอาร์ไอ ยันประมูล 3 จี ต่ำไม่ทำให้ค่าบริการถูก ชี้เป็นส่วนกำไรยิ่งหนุนผู้ประกอบการ กสทช. ยืดอกพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหากผิดจริง

วันนี้ (24 ต.ค.) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน พิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3 จี โดยเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้แจงพร้อมเปิดสไลด์แสดงข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ กสทช.กำลังอ้างว่าการประมูลคลื่นความถี่ราคาต่ำ จะทำให้อัตราค่าบริการของผู้บริโภคถูกลง ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง การประมูลคลื่นความถี่ได้ราคาสูงหรือต่ำไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการของผู้บริโภค เพราะราคาการประมูลตัดมาจากกำไรของผู้ประกอบการไม่ใช่มาจากส่วนของต้นทุน ถ้าประมูลด้วยราคาสูงกำไรก็เหลือน้อย แต่ถ้าประมูลได้ถูกกำไรก็มาก ไม่เกี่ยวกับค่าบริการที่จัดเก็บกับผู้บริโภค

นายสมเกียรติ ยังย้ำว่า จากการประมูลที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตั้งราคาประมูลตั้งต้นไว้ที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิร์ทซ์ แต่ทางจุฬาฯ ในฐานะที่ปรึกษาของ กทค.ไปศึกษาราคาคลื่นความถี่จากการประมูล 17 ประเทศโดยพิจารณาขนาดเศรษฐกิจ จำนวนประชากร แล้วนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศไทยได้ราคาที่ 6,440 ล้านบาท ส่วนต่างต่อหน่วย 1,940 ล้านบาท เท่ากับผู้ประกอบการได้ลาภลอย 17,460 ล้านบาท แต่การประมูลมีการขยับราคาขึ้นมาทำให้เสียหายน้อยลงบ้างเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท

“นี่ยังไม่นับรวมค่าใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการจะได้กำไรมหาศาลจากการตั้งราคาประมูลต่ำ การได้คลื่น 3 สล็อต 13,500 ล้านบาทต่อ 15 ปี เฉลี่ยแล้วเสียเงิน 900 ล้านบาทต่อปี ทั้งๆ ที่ผ่านมาเอไอเอสได้กำไรสุทธิ 2.22 หมื่นล้านบาท หลังหักค่าใช้จ่ายสัมปทานให้รัฐแล้ว 2.4 หมื่นล้านบาท ดีแทคจ่ายค่าสัมปทานไป 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ยังเหลือกำไรประมาณ 1.18 หมื่นล้านบาท แต่ละปีได้กำไรขนาดนี้ แต่ได้ใบอนุญาตไปเพียง 900 ล้านบาทต่อปี เป็นราคาที่ถูกแสนถูก ซึ่งยังไม่นับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องโอนค่าสัมปทานแต่เดิมที่แต่ละปีต้องจ่ายด้วย”

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมไทยมีปัญหา คือ ตลาดมีผู้เล่นน้อยรายมีเพียง 3 รายเท่านั้น เพราะมีอุปสรรคหลายด้านกีดกันไม่ให้บริษัทหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่จำกัดการถือหุ้นต่างชาติไว้ 49% ซึ่งคนไทยไม่กี่รายเท่านั้นที่มีเงินทุนหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่อาเซียนเปิดตลาดเสรีหมดแล้วเพื่อให้ตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขัน เพราะโทรคมนาคมเป็นตลาดต้นทางที่ธุรกิจอื่นนำไปใช้ต่อ ถ้ากิจการโทรคมนาคมมีประสิทธิภาพ ต้นทุนทางธุรกิจจะมีประสิทธิภาพไปด้วย             

พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ชี้แจงว่า การประมูลคลื่นความถี่ในหลายประเทศมีวิธีการแตกต่างกัน แต่วิธีการที่อนุกรรมการซึ่งประกอบด้วย กทค.ทั้ง 5 คน และผู้เชี่ยวชาญภายนอกจากอัยการสูงสุด อดีตรองเลขาธิการกฤษฎีกา นักวิชาการมหาวิทยาลัยหลายแห่งมีความเห็นเอกฉันท์ว่าวิธีการเดิมไม่มีประสิทธิภาพจึงตัดสินใจใช้วิธีประมูล 9 สล็อตละ 5 เมกะเฮิร์ทซ์

นอกจากนี้ อนุกรรมการได้พิจารณาเพื่อมิให้รายใดรายหนึ่งถือครองคลื่นความถี่จนมีเหตุให้อีกรายหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันได้ ทั้งนี้อนุกรรมการได้เคยเห็นพ้องต้องกันเพื่อให้มีการแข่งขันและให้ได้เงินเข้ารัฐ จะต้องไม่น้อยกว่า 20 เมกะเฮิร์ทซ์ต่อ 1 ผู้เข้าประมูล แต่เมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางการให้ 20 เมกะเฮิร์ทซ์ต่อ 1 รายสูงสุดนั้นอาจเกิดการผูกขาดในตลาดได้ เพราะอาจเกิดกรณีมี 2 รายได้ 20 เมกะเฮิร์ทซ์และมี 1รายได้ 5 เมกะเฮิร์ทซ์จนทำให้เกิดการผูกขาดในระยะเวลา 15 ปี ต่อมา กทค. จึงใช้ราคาตั้ง 4,500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิร์ทซ์ซึ่งคิดเป็น 70% มูลค่าของคลื่นความถี่

พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวต่อว่า แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการตั้งราคา 4,500 ล้านบาท ใน 2 ลักษณะที่บอกว่าสูงเกินไป และต่ำเกินไป กสทช.จะต้องพยายามตัดสินให้เกิดความสมดุลมากที่สุดใน 3 ด้าน คือ รายได้ของรัฐ ผลประโยชน์ของประชาชน-ผู้บริโภค และความอยู่รอดของผู้ประกอบการ ดังนั้น การที่มีคนจำนวนหนึ่งเห็นว่าราคาดังกล่าวถูกเกินไป กสทช.มิสามารถให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันและมีความเห็นทางเดียวกันได้ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งแม้รู้อยู่แล้วทางใดก็มีผู้ไม่เห็นด้วยและข้อโต้แย้ง

"กสทช.ทราบดีว่าความเจ็บปวดเกิดขึ้นเสมอกับความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และกสทช.ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์ สุจริตตามที่ได้รับโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอยืนยันในฐานะประธานกทค.ว่า ผมได้กระทำอย่างบริสุทธิ์ไม่เคยใช้วาจาจาบจ้วงเมื่อพูดในสาธารณะก็พูดในหลักวิชาการ เราไม่เคยแสวงหาผลประโยชน์จากการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ หากกมธ.เห็นว่าผิดปกติ ผมและกสทช.ขอน้อมรับในการตรวจสอบอย่างละเอียดและยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว

ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดมูลค่าคลื่นโดยมีราคาตั้งต้น 6,440 ล้านบาทนั้น สภาพการแข่งขันจะลดลงทันที กสทช.จะถูกมองว่ากำหนดราคาสูงเกินไปเพื่อต้องการลดการแข่งขัน อีกทั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กทช.กำหนดราคามูลค่าคลื่นและราคาตั้งต้นประมูลเท่ากัน 4,300 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิร์ต แต่ต่อมาราคาโลกลดลง หากทาง กทช. ดำเนินการโดยไม่มีฐานรองรับความเสี่ยงเกิดขึ้น แทนที่จะได้บริษัทใหญ่ 3 บริษัท อาจมี 2 บริษัทหรือ 1 บริษัทเท่านั้น