posttoday

ทางเดินแม่เหล็กให้คนตาบอด

13 มกราคม 2561

สำนักงานเขตตลิ่งชัน ริเริ่มนำแนวคิดนวัตกรรมนำถ่านไฟฉายหรือถ่านอัลคาไลน์มาทำทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตา

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ก้าวเท้าแรกเมื่อเดินเข้าไปใช้บริการภายในสำนักงานเขตตลิ่งชัน จะพบเห็นเจ้าหน้าที่เขตกำลังขะมักเขม้นทาสีตีเส้นทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตาที่มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบายและไม่เกิดอันตราย ถือว่าเป็นนวัตกรรมแนวใหม่ที่ใส่ใจกลุ่มคนเล็กๆ อย่างผู้พิการทางสายตา

วิฑูรย์  อภิสิทธิ์ภูวกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตตลิ่งชัน ผู้ริเริ่มนำแนวคิดนวัตกรรมนำถ่านไฟฉายหรือถ่านอัลคาไลน์มาทำทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตา พร้อมเปิดเผยแนวคิดนี้อย่างน่าสนใจว่า หลังมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ประชา พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน แล้วเห็นว่ามีการรีไซเคิลนำถ่านไฟฉายหรือถ่านอัลคาไลน์ที่ใช้แล้วมาคัดแยก เพื่อนำผงถ่านที่ใช้แล้วไปสังเคราะห์เอาผงแม่เหล็ก หรือเฟอร์โรแมกเนติกไปใช้ประโยชน์ได้

แนวคิดนี้มองว่าจะสามารถช่วยจัดการถ่านไฟฉายที่มีปริมาณมากในกรุงเทพฯ ได้มากกว่าการจะนำไปทิ้งแบบไม่เกิดประโยชน์ การทิ้งถ่านไฟฉายโดยปกติหากเป็นวิธีฝังกลบต้องเป็นการฝังกลบด้วยวิธีพิเศษเท่านั้น เพราะเมื่อระยะเวลาผ่านไปอาจมีสารเคมีที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ส่วนนี้หากนำมาใช้ประโยชน์ให้มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กมันจะได้ประโยชน์มากกว่า

นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดการใช้วัตถุมาทำแม่เหล็ก รวมถึงลดการจัดการของเสียได้อย่างมีคุณค่า ที่สำคัญยังช่วยให้การกำจัดได้อย่างถูกวิธี จึงกลายเป็นแนวคิดที่มาในการทำทางเดินแม่เหล็กสำหรับผู้พิการทางสายตาจากถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับกรุงเทพฯ

ทางเดินแม่เหล็กให้คนตาบอด

 

การทำงานของทางเดินแม่เหล็กกับไม้เท้าของผู้พิการทางสายตานั้น วิฑูรย์ อธิบายว่า การทำเส้นทางเดินแม่เหล็กจะนำผงถ่านที่ใช้แล้วมาสังเคราะห์เอาสารแม่เหล็ก ก่อนนำมาผสมลงในสีทาบ้านหรือผสมกับปูน แล้วทาหรือฉาบลงไปที่พื้นทำเป็นแนวเส้นทางเดินไว้เป็นเส้นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา

ส่วนอาวุธประจำกายอย่างไม้เท้านั้น ทางสำนักงานเขตจะมีไม้เท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษ โดยมีแนวคิดว่าจะทำไม้เท้าแบบพิเศษนี้ขึ้นมาเสริมให้ผู้พิการสายตา เวลาลงจากรถแล้วสามารถจับไม้เท้าแบบพิเศษดังกล่าว แล้วเดินเข้าไปตามจุดบริการได้ทันที

วิฑูรย์ อธิบายว่า การทำงานของไม้เท้าแบบพิเศษจะมีตัวจับสัญญาณคือแถบแม่เหล็กจากการ์ดบัตรเครดิตที่ไม่ใช้แล้วนำมาติดที่ปลายไม้เท้า เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก หากเจอเส้นทางเท้าที่ทาสีหรือฉาบไว้โดยผ่านกระบวนการผสมผงแม่เหล็กลงไปแล้ว โดยจะจับสัญญาณกันผ่านตัวเซ็นเซอร์เมื่อเจอกันจะเกิดปฏิกิริยาโดยการสั่น ซึ่งผู้พิการทางสายตาจะทราบว่าตรงนี้เป็นเส้นทางสำหรับเดินแล้วห้ามเดินออกนอกเส้นทาง

“ถ่านไฟฉายที่เหลือใช้นั้น ทางเขตมีการตั้งจุดรวบรวมให้ประชาชนที่มาใช้บริการติดไม้ติดมือที่เป็นของเสียจากบ้านและไม่ใช้แล้วนำมาใส่ไว้ที่จุดรับบริจาคที่จัดไว้ให้ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ”

ข้อมูลจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พบว่า สถิติการใช้ถ่านอัลคาไลน์หรือถ่านไฟฉายของคนไทยมีปริมาณการใช้ 3,400 ตัน/ปี เฉลี่ย 1 คน ใช้ถ่านปีละ 4 ก้อน คิดเป็นมูลค่าทางตลาด 4,500 ล้านบาท/ปี โดยผงถ่านอัลคาไลน์ที่ใช้แล้วนำมาสังเคราะห์เอาสารแม่เหล็ก ซึ่งในถ่านขนาด 2 เอ จำนวน 100 ก้อน จะมีสารแม่เหล็ก 1 กิโลกรัม

ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตตลิ่งชัน กล่าวอย่างภูมิใจว่า สำนักงานเขตตลิ่งชันถือว่าเป็นเขตแรกในกรุงเทพฯ ที่นำร่องทำนวัตกรรมเพื่อผู้พิการทางสายตาขึ้นมา ตอนนี้กำลังเร่งทาสีพื้นเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เขต มีประโยชน์ 2 ทาง คือ 1.กำจัดของเสียได้อย่างถูกวิธี และ 2.นำของเสียมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกทาง