posttoday

ไร้แผนปลูกต้นไม้ในกทม. เสียเงิน เสียเวลา เสียกำลังคน

18 ธันวาคม 2560

ปัญหาของต้นไม้ในเมืองคือ กทม. ไม่มีการวางแผนให้เห็นภาพก่อนว่าจะปลูกต้นอะไร ปลูกแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ที่ต้นไม้ริมถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถูกตัดโค่นจนเหลือแต่ตอ สวนทางนโยบายมุ่งเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้ผู้คนได้พักผ่อนคลายร้อน

เรื่องนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดต้นไม้แต่ละแห่ง เช่น กทม. การไฟฟ้านครหลวง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมไปถึงบริษัทเอกชน กลายเป็นต่างคนต่างทำโดยไม่มีหน่วยงานใดเป็นแม่งานหลัก ภาพที่ปรากฏจึงอัปลักษณ์พบเห็นได้ทั่วไป

ที่ผ่านมา สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ตัดแต่งกิ่งไม้ผ่านการฝึกอบรมวิธีการตัดกิ่งให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว แต่ขั้นตอนปฏิบัติอาจมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ที่ไปฝึกอบรมไม่ได้เป็นคนลงมือตัดเสียเอง แต่จ้างบริษัทเอกชนรับเหมาเข้ามาจัดการแทนและไม่ได้ผ่านการฝึกอย่างถูกต้อง

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องการตัดต้นไม้ในเมืองส่วนใหญ่มักถูกติติงจากภาคประชาชนว่าเจ้าหน้าที่ของ กทม.ทำการตัดต้นไม้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ต้นไม้ต้องตายไร้กิ่งก้านสร้างร่มเงา จึงแก้ปัญหาซ้ำซากนี้ด้วยการจัดประชุมตั้งคณะกรรมการรุกขกรรม ประกอบด้วย ภาคประชาชน กทม. การไฟฟ้าฯ และการประปาฯ เข้ามาอบรมสร้างความรู้ตัดต้นไม้ใหญ่ในเมืองให้เป็นรูปธรรม

โดยมีกรอบการทำงานบริหารจัดการต้นไม้จำนวนกว่า 3 ล้านต้นในพื้นที่ กทม. เช่น 1.ต้นไม้ในสวนสาธารณะ 2.ต้นไม้ตามถนนและทางเท้า 3.การขุดต้นไม้เพื่อนำไปบำรุงรักษาบริเวณที่กำลังก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และ 4.วิธีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับต้นไม้ในพื้นที่ของเอกชน ไม่ให้โค่นล้มทับบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งเริ่มดำเนินการในวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา นำร่องในถนนสายหลักคือ ถนนสุขุมวิท ระยะเห็นผลในทิศทางที่ดีขึ้นภายใน 1 ปีต่อจากนี้

ด้าน ธราดล ทันด่วน ผู้ชำนาญการด้านดูแลต้นไม้ในเขตเมือง กล่าวว่า ปัญหาของต้นไม้ในเมืองคือ กทม. ไม่มีการวางแผนให้เห็นภาพก่อนว่าจะปลูกต้นอะไร ปลูกแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ถัดมาคือไม่ได้ให้ความสำคัญกับรากของต้นไม้ เมื่อมีอายุมากขึ้นรากแขนงจะเลื้อยทำลายทางเท้าและล้มลงเมื่อไม่มีพื้นที่ให้แตกแขนงกว้างมากพอ ต้นไม้จึงไม่เคยสวยสักที

ที่ผ่านมาไม่ใช่เพียงแต่ กทม.เท่านั้น แต่รวมถึงหน่วยงานอื่นทั่วประเทศ ให้ความสำคัญกับต้นไม้ขนาดเล็กตามเกาะกลางถนนมากเกินไป โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่ เป็นการจับประเด็นผิดที่ทำให้ต้องแบกรับภาระมากขึ้น เช่น เสียเวลาต้องคอยดูแลตัดแต่งต้นไม้เล็กทุกๆ 15 วัน ต้องใช้กำลังคนจำนวนมากไปกับเรื่องที่ไม่ได้สร้างความร่มรื่น

แตกต่างจากการดูแลต้นไม้ใหญ่ที่ดูแลง่ายเพียงปีละครั้ง และปลูกให้เหมือนกันตลอดทั้งถนน เขายกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ไม่มีงบประมาณซื้อน้ำมารดต้นไม้ ทำให้ไม้ดอกไม้ประดับข้างถนนเหี่ยวเฉาเต็มไปหมด ทว่าภาพรวมทั้งประเทศยังเขียวขจีทั้งปี เหตุผลคือต้นไม้ใหญ่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง

ไร้แผนปลูกต้นไม้ในกทม. เสียเงิน เสียเวลา เสียกำลังคน

ธราดล กล่าวอีกว่า ต้นไม้จำนวนกว่า 3 ล้านต้นใน กทม.มีหลากหลายชนิด อาทิ ประดู่ นนทรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ และอีกมากที่ต้องอาศัยการตัดแตกต่างกัน

สำหรับการตัดต้นไม้ในแนวสายไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ตัดกิ่งเล็กออก เหลือกิ่งใหญ่ไว้ทำการตัดให้ชิดโคนกิ่ง แต่ต้องระวังไม่ให้โคนกิ่งมีบาดแผลมาก เพราะต้นไม้ต้องรีบสมานแผลตัวเองให้เร็ว 2.ตัดกิ่งใหญ่ออก เหลือกิ่งเล็กไว้ เป็นการตัดเบี่ยงทิศทางของลำต้น เริ่มจากตรวจสอบการทรงตัวของต้นไม้ให้ดีว่ามีความมั่นคงเพียงพอ

หัวใจสำคัญอยู่ที่ห้ามตัดทุกกิ่งเสมอกัน เพราะนอกจากไม่สวยงามแล้วยังสร้างปัญหาในระยะยาวอีกด้วย ส่งผลให้ต้นไม้สร้างเนื้อเยื่อสมานแผลได้ช้า บางครั้งไม่สามารถปิดรอยแผลที่เกิดขึ้นได้จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อไม้ผุ และล้มลงเป็นอันตราย

ผู้ชำนาญการ กล่าวอีกว่า กทม.มีการจัดประชุมรุกขกรรม เพื่อทำให้การตัดแต่งต้นไม้ทำอย่างถูกวิธีนั้นถือเป็นเรื่องดีส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาเป็นชาวต่างชาติ มาแนะนำถึงวิธีการตัดแต่งต้นไม้ในเขตเมืองหนาว ซึ่งแตกต่างจากวิธีการตัดต้นไม้ในเขตเมืองร้อนโดยสิ้นเชิง จึงเชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการรุกขกรรมขึ้นมาจะไม่ได้ผล ถ้า กทม.ไม่เปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่

“กทม.มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวมาตลอด ปลูกต้นไม้ไปแล้วเป็นล้านต้น แต่ทำไมยังไม่เขียวขจี เพราะมุ่งไปที่ไม้ดอกไม้ประดับมากเกินไป ส่วนเรื่องการตัดแต่งเป็นส่วนปลายของปัญหา ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน เพราะต้นไม้ในเมืองถ้าไม่มุ่งมั่นอย่างจริงจัง ผลสุดท้ายจะวนกลับมาที่จุดเดิม ทั้งหมดเป็นเรื่องของการบริหารงานผิดพลาดล้วนๆ” ธราดล กล่าว