posttoday

"ขึ้นค่าขยะ"รัฐถังแตกหรือประชาชนไร้จิตสำนึก?

19 กุมภาพันธ์ 2560

กฎหมายใหม่ไฟเขียวขึ้นค่าเก็บขยะ ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ทุกเช้าตรู่ รถขนขยะสีเขียวเข้มคืบคลานจากซอยนั้นสู่ซอยนี้ เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่ม ชายฉกรรจ์ในเครื่องแบบสีกรมท่าเดินแยกย้ายกันเก็บถุงขยะตามบ้านโยนขึ้นท้ายรถ

ตกสาย เจ้าหน้าที่อีกชุดเดินถือบิลค่าขยะเสียบตามประตูและตู้จดหมาย โชคดีเจอเจ้าของบ้านก็เก็บเงินได้ โชคร้ายอาจมีปะทะคารม เนื่องจากบางคนยึกยักไม่ยอมจ่าย หรือเจอกับบ้านร้างไร้ผู้อยู่อาศัย จำใจต้องเดินคอตกจากมาอย่างเซ็งๆ

ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย...เมื่อบิลค่าขยะไม่ต่างจากเศษกระดาษไร้ค่า

ที่ผ่านมา การบริการจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 20 ที่กำหนดให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดและจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้ โดยมีเงื่อนไขว่าสามารถจัดเก็บได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดไว้ว่าขยะมูลฝอยวันละไม่เกิน 20 ลิตร หรือ 4 กิโลกรัม ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมไม่เกิน 40 บาทต่อเดือน

ต่อมา อภิรักษ์ โกษะโยธินผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในขณะนั้น เล็งเห็นสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และปัจจัยอื่นๆ จึงให้เก็บค่าธรรมเนียมเพียงครัวเรือนละ 20 บาทต่อเดือนมาจนถึงปัจจุบัน

แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถเก็บได้ตามเป้า ...

ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ปัจจุบัน กทม.มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ 2.1 ล้านหลังคาเรือน แต่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะได้เพียง 1.9 ล้านหลังคาเรือน ที่เหลือประสบปัญหาไม่สามารถเก็บได้ เนื่องจากสาเหตุหลัก 4 ข้อ คือ 1.ยากจน ตกงาน ไม่มีรายได้ 2.ไม่ยอมจ่าย อ้างว่าพักอาศัยอยู่บ้านเช่า 3.คนสูงอายุและคนพิการ 4.บ้านร้างไม่มีผู้อยู่อาศัย ประกอบกับบทลงโทษกรณีไม่จ่ายค่าขยะไม่เป็นคดีอาญาเหมือนหนีภาษี และไม่ถูกตัดน้ำตัดไฟเหมือนการไม่จ่ายค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปา คนส่วนใหญ่จึงไม่เกรงกลัว

ผลที่ตามมาคือ ปี 2559 กทม.สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขยะได้เพียง 495,840,886 ล้านบาท ขณะที่ต้องใช้งบประมาณในการกำจัดขยะ 6,568 ล้านบาท นั่นหมายความว่า กทม.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะสูงถึง 6,072 ล้านบาทต่อปี

"ขึ้นค่าขยะ"รัฐถังแตกหรือประชาชนไร้จิตสำนึก?

เมื่อความจำเป็นบีบบังคับให้รัฐต้องมัดมือชก

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

ประเด็นสำคัญหนีไม่พ้นการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขยะและกำจัดปฏิกูลมูลฝอยทั่วประเทศ จากครัวเรือนละ 20 บาทต่อเดือน เป็นครัวเรือนละ 350 บาทต่อเดือน กรณีมีขยะไม่เกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การขึ้นค่าเก็บขยะครั้งนี้เหมาะสมหรือไม่

ที่ผ่านมา กทม.เก็บเดือนละ 20 บาท ถือว่าน้อยมาก มาจากแนวคิดว่าการเก็บขยะเป็นหน้าที่ของรัฐต้องให้บริการประชาชน แต่วันเวลาผ่านไปปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดมลภาวะต่างๆ ขณะเดียวกันเรารณรงค์ปลุกจิตสำนึกประชาชนมาตลอด ทั้งเรื่องลดปริมาณขยะ คัดแยกขยะ แต่คนส่วนใหญ่ยังละเลย มองว่าจะทิ้งขยะมากเท่าไหร่ก็เสียแค่ 20 บาทเท่านั้น จึงสร้างขยะมาก ดังนั้นการขึ้นค่าขยะจะทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญตรงนี้มากขึ้น ถึงแม้กฎหมายใหม่จะระบุว่าค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยครัวเรือนละ 150 บาทต่อเดือนและค่ากำจัดมูลฝอยครัวเรือนละ 200 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 350 บาทต่อเดือน แต่เราคงยังไม่เก็บเต็มเพดานสูงสุดในตอนนี้ เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาความเหมาะสม”

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะมูลฝอยของ กทม. แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะ ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่ารถเก็บขยะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าอุปกรณ์ในการเก็บขยะ ซึ่งค่าธรรมเนียมการเก็บขนขยะสำหรับบ้านเรือนที่สะท้อนต้นทุนแท้จริงคือ 128 บาทต่อเดือน 2.ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่เลือกใช้ โดย กทม.ใช้วิธีการห่อพลาสติกแล้วนำไปฝังกลบ หมักทำปุ๋ยและเผา ซึ่งค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะมูลฝอยที่สะท้อนต้นทุนเท่ากับ 95 บาทต่อเดือน 3.ค่าบำบัดน้ำเสียอันเกิดจากการกำจัดขยะ 3 บาทต่อเดือน

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะมูลฝอยของกทม.ที่สะท้อนต้นทุนจึงเท่ากับ 226 บาทต่อเดือน แต่ กทม.จัดเก็บค่าเก็บขยะมูลฝอยเพียงแค่ 20 บาท/เดือน แสดงว่า กทม.รับภาระค่าธรรมเนียมส่วนเกินถึง 206 บาทต่อเดือน

"ขึ้นค่าขยะ"รัฐถังแตกหรือประชาชนไร้จิตสำนึก?

“การจะให้เราไปชั่งขยะทุกวันว่าบ้านแต่ละหลังมีขยะกี่กิโล คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงได้มีการคิดมาตรฐานขึ้นมาว่า คนหนึ่งคนจะสร้างปริมาณขยะประมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน เฉลี่ยแล้วบ้านหลังหนึ่งมี 4 คน ดังนั้นจะมีปริมาณขยะรวมทั้งสิ้นประมาณ 120 กิโลกรัมต่อเดือน ที่ผ่านมาไม่เคยมีบ้านหลังไหนเจอฟ้องข้อหาไม่จ่ายค่าขยะ ต่างจากการไม่จ่ายค่าไฟก็โดนจะตัดไฟ ไม่จ่ายค่าน้ำก็โดนตัดน้ำ แต่การไม่จ่ายค่าขยะไม่มีมาตรการลงโทษแบบนั้น มีแต่บทลงโทษตามกฎหมายทางคดีแพ่ง กว่าจะสู้คดี ศาลตัดสิน ใช้เวลานาน ยุ่งยากมากกทม.ก็ต้องไปหามาตรการลงโทษเพื่อให้คนเกรงกลัวกฎหมาย

รองผู้ว่าฯ กทม. บอกอีกว่า ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการพิจารณายกร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข” เพื่อคำนวณค่าเก็บขยะและค่ากำจัดมูลฝอยให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ขณะนี้ กทม.มีกฎหมาย 2ฉบับ ซึ่งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมไว้แตกต่างกันจึงอยู่ระหว่างพิจารณาความถูกต้องในการแก้ไขร่างข้อบัญญัติการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯให้สอดคล้องกับกฎหมายทั้งสองฉบับ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด กฎหมายฉบับแรกคือ กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้งและการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยครัวเรือนละ 65 บาทต่อเดือน และจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดมูลฝอย 155 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน อัตรารวมทั้งสิ้น 220 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน สำหรับกฎหมายอีกฉบับ คือ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดค่าธรรมเนียมเก็บขนมูลฝอยครัวเรือนละ 150 บาทต่อเดือน และเก็บค่ากำจัดมูลฝอยครัวเรือนละ 200 บาทต่อเดือน อัตรารวมทั้งสิ้นครัวเรือนละ 350 บาทต่อเดือน

“ร่างข้อบัญญัติจะเสร็จภายในวันที่ 15 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่อให้ความเห็นชอบ แล้วจึงประกาศบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันจะอบรมเจ้าหน้าที่เก็บค่าขยะ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจแก่ประชาชน การจัดเก็บจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ช่วงแรกอาจจะจัดเก็บแค่ 30% ของอัตราสูงสุด ค่อยขยับเป็น 60% จนถึง 100% ที่พูดกันว่าเก็บ 350 บาทต่อเดือนคงไม่ใช่ ขอยืนยันว่ายังไม่เก็บค่าขยะสูงสุดเต็มเพดานแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการขึ้นค่าเก็บและค่ากำจัดขยะสูงหลายเท่าตัว รองผู้ว่าฯ กทม.ยอมรับว่าเงินค่าขยะที่เก็บได้เทียบกันไม่ได้เลยกับงบประมาณที่ใช้ในการกำจัดขยะ

เงินค่าขยะถือเป็นหนึ่งในรายได้ของกทม. เงินส่วนนี้จะกระจายไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะสร้างโรงเผาขยะ-ฝังกลบขยะ ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา อะไรต่อมิอะไรทั้งหลายแหล่ ไม่ได้นำเอาไปใช้ในการกำจัดขยะอย่างเดียว อนาคตหากเทคโนโลยีการกำจัดขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับประชาชนลดปริมาณการสร้างขยะ ก็อาจจะลดค่าเก็บขยะลงอีก เพราะเรามีหน้าที่บริการประชาชน ไม่ได้หวังสร้างกำไร

"ขึ้นค่าขยะ"รัฐถังแตกหรือประชาชนไร้จิตสำนึก?

เงินที่เก็บได้ต้องโปร่งใสและนำไปใช้อย่างถูกต้อง

ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เห็นด้วยกับการขึ้นค่าขยะ แต่ต้องมีหลักเกณฑ์การคำนวณที่เหมาะสม ที่สำคัญเงินที่เก็บได้ต้องถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง ประชาชนตรวจสอบได้

“อย่าเก็บเต็มเพดาน มันโหดเกินไปสงสารชาวบ้าน แม้กฎหมายจะระบุอัตราสูงสุดไว้ชัดเจน แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องเก็บเต็มเพดาน ถ้าไม่มีหลักคิดคำนวณค่าขยะที่สามารถไปอธิบายกับประชาชนได้ว่า ทำไมถึงเก็บเท่านั้นเท่านี้ เอาอะไรมาวัด แบบนี้มีปัญหาแน่ๆ อีกข้อที่เป็นห่วงคือ เรื่องการบริการจัดการเงินค่าขยะที่เก็บได้จะถูกเอาไปใช้อย่างถูกต้อง จะแน่ใจได้ยังไงว่าเงินก้อนนี้จะไม่ทุจริต เงินทุกบาททุกสตางค์จะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและจัดการขยะ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบอกประชาชนว่าจะเอาเงินไปใช้จัดการขยะ แต่เราเห็นหรือเปล่าว่ามันจริงหรือไม่จริง เหมือนเวลาลูกมาขอเงิน ก็ต้องบอกว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ไปเที่ยวห้าง ไปกินไอติม ต้องแจกแจงให้ละเอียด โปร่งใส เปิดเผยได้ แสดงตัวชี้วัดมาเลยว่า เดือนนี้เก็บได้เท่าไหร่ ปีนี้เก็บได้เท่าไหร่ เอาไปใช้ยังไง กทม.หรือเทศบาลต้องโชว์ให้เป็นรูปธรรมว่าเอาเงินที่เก็บเพิ่มได้ไปใช้ทำอะไร”

ผศ.ดร.พิชญ บอกต่อว่า การขึ้นค่าขยะจะช่วยทำให้ขยะลดลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการบริการจัดการเงินอย่างถูกต้องเหมาะสม

“เงินที่เก็บได้จากขยะก็ควรไปใช้ในการจัดการขยะ แต่นี่ยังไม่รู้ว่าเขาจะใช้เงินอย่างไร น่าเป็นห่วง ส่วนตัวผมมองว่า ไม่อยากให้เขาเก็บทั้งประเทศ แต่เลือกเป็นพื้นที่ใดพื้นที่นึงก่อน เช่น อำเภอ หรือเขต แสดงให้เห็นเลยว่า ทำได้ ทำดีแล้วค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เราชอบทำแบบปูพรมตูมเดียวทั้งประเทศ สุดท้ายก็ไม่เวิร์ก

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านขยะ มองว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะ ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ได้ยินมาจนเบื่อกับคำว่า ‘จะแยกขยะไปทำไม สุดท้ายก็เอามารวมกันอยู่ดี’ พูดแบบนี้ไม่ถูก การแยกขยะนอกจากจะนำขยะบางส่วนกลับมาใช้ประโยชน์ต่อได้ ช่วยรัฐประหยัดงบในการกำจัดขยะ ค่าขยะก็จะลดลง บ้านเมืองก็สะอาด ที่ผ่านมาน้ำท่วม กทม. ท่อระบายน้ำเต็มไปด้วยขยะอุดตัน ถุงพลาสติกมาจากไหน ก็มาจากความมักง่ายที่คุณทิ้งลงท่อนั่นแหละ อย่างถุงพลาสติกถ้าตากแดดทิ้งไว้ จะเห็นเลยว่ามันแตกละลายเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วถ้าเรากินพลาสติกพวกนี้มันก็เข้าไปสะสมในร่างกาย เดี๋ยวนี้เจอคนเป็นโรคมะเร็งแปลกๆ เยอะ

ผมเพิ่งไปเซอร์เวย์ตามโรงเรียนหลายแห่งใน กทม. พบว่า เด็กอนุบาลและเด็กประถมฯ มีพฤติกรรมที่ทิ้งขยะที่ดี แต่เด็กมัธยมฯ ไม่ใช่ มหาวิทยาลัยนี่ยิ่งแย่ ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานนี่ไม่ต้องพูดถึง ขยะเป็นการสะท้อนสังคมอย่างหนึ่งของคนในชาติ ดังนั้นหน่วยข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายต้องเข้ามาแล้ว โรงเรียนคือศูนย์การเรียนรู้ที่ดี บางโรงเรียนมีระบบการคัดแยกขยะ ธนาคารขยะ ทำน้ำหมักชีวภาพ รีไซเคิล เราใช้ประโยชน์จากโรงเรียนเหล่านี้น้อยจนแปลกใจมาก ควรทำเป็นหลักสูตรบังคับเลยด้วยซ้ำ การปลุกจิตสำนึกด้านขยะต้องปลุกตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเด็กเรียนรู้แล้วกลับไปทำที่บ้าน ผู้ใหญ่ก็จะทำตาม

"ขึ้นค่าขยะ"รัฐถังแตกหรือประชาชนไร้จิตสำนึก?

เสียงสะท้อนจากคนกรุง

ต่อไปนี้คือเสียงสะท้อนจากประชาชนคนกรุงที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าขยะ

นงนุช ไชยานุวัตร แม่บ้านวัย 60 ปีย่านบางบอน เห็นด้วยกับการขึ้นค่าขยะ แต่ต้องกำหนดราคาที่เหมาะสมและประชาชนยอมรับได้

“เก็บค่าขยะ 20 บาทต่อเดือนมันน้อยไป ก็เห็นใจ กทม.นะ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ไม่แคร์ อยากจะทิ้งก็ทิ้ง ไม่สนใจคัดแยกขยะ หรือช่วยกันลดปริมาณขยะอะไรทั้งนั้น คิดว่าทิ้งเท่าไหร่ก็จ่ายแค่ 20 บาท ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง มลพิษต่างๆ ก็เยอะ แต่การตั้งราคาค่าขยะใหม่ ถ้าเก็บเต็มที่ 350 บาทต่อเดือนก็มากไป คนไม่มีเงินจริงๆ จะแย่ จ่ายไม่ไหวหรอก แพงกว่าค่าน้ำอีก”

วิทวัส จำปา พนักงานธนาคารวัย 35 เสนอแนะวิธีแก้ปัญหาเก็บค่าขยะไม่ได้ว่า อยากให้รวมค่าขยะอยู่ในบิลเดียวกันกับค่าไฟฟ้า หรือค่าน้ำประปา เพราะเชื่อว่าดีกว่าการมาเดินไล่เก็บตามบ้าน ได้ก็ช่างไม่ได้ก็ช่าง

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มาเก็บค่าขยะก็มักเสียบบิลตามรั้วบ้าน หรือตะโกนเรียก เจอคนก็ได้เงินไม่เจอก็กลับ แบบนี้ไม่ได้ผล แถมเงินที่เก็บได้มันถึงหลวงรึเปล่า หรือเข้ากระเป๋าใครก็ไม่รู้ ดังนั้นถ้าค่าขยะมันไปปรากฏอยู่ในบิลค่าน้ำค่าไฟ เวลาจ่ายก็จ่ายพร้อมกันทีเดียว ถ้าไม่จ่ายมันก็แจ้งว่าคุณค้างค่าขยะกี่เดือนแล้ว ซึ่งตรงนี้รัฐก็ต้องหามาตรการลงโทษให้เด็ดขาดต่อไป

คงต้องจับตาดูกันว่า หลังกฎหมายฉบับใหม่นี้บังคับใช้อย่างเป็นทางการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับชาวบ้าน เพราะการขึ้นค่าขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต่างได้รับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง.

"ขึ้นค่าขยะ"รัฐถังแตกหรือประชาชนไร้จิตสำนึก?