posttoday

สปท.มองปัญหาจราจรเมืองกรุง แนะเพิ่มปรับ 1 หมื่นบาท

14 กุมภาพันธ์ 2560

ปัญหาการจราจรทั้งความคล่องตัวบนท้องถนนและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในชั่วยามนี้นับเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องหาทางออกร่วมกันจริงๆ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ปัญหาการจราจรทั้งความคล่องตัวบนท้องถนนและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในชั่วยามนี้นับเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องหาทางออกร่วมกันจริงๆ

จากล่าสุดที่คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถอดข้อสรุปออกมาเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อไป

บทสรุปที่ว่าคณะกรรมาธิการ วิสามัญฯ สะท้อนปัญหาสำคัญของการจราจรบนท้องถนนโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครเอาไว้ 3 ข้อ คือ 1.ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ประชาชนสูญเสียเวลาไปหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อการเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน จนมีคำเปรียบเทียบว่าเด็กเมืองใหญ่ต้องโตในรถยนต์ อีกทั้งยังมีสภาวะรถติดขัดทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตต่อผู้ขับขี่ 2.ผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ผลของการจราจรติดขัดทำให้ต้องสูญเสียเชื้อเพลิงที่มากขึ้น เฉลี่ยแล้วค่าน้ำมันที่ต้องสูญเสียไป และอาจสูญเสียโอกาสอันเกิดจากการเดินทางล่าช้าของผู้ใช้รถใช้ถนน และ 3.ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมลพิษของเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกในรายละเอียดของปัญหาพบว่ามี 6 มิติ คือ 1.ปัญหาด้านองค์กรและบริหารจัดการ ที่ขาดเจ้าภาพผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน และที่ชัดเจนคือจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไม่เพียงพอ

2.ด้านระบบโครงข่ายถนน ที่พบว่าเมืองมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด และการพัฒนาด้านระบบขนส่งมวลชนสาธารณะไม่ทันกับความเจริญของเมือง
  
3.ด้านระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ยังไม่เพียงพอและขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะที่เป็นปัญหาสำคัญคือเรื่องของเวลา ซึ่งพบว่ามักจะไม่สามารถควบคุมเวลาการเดินทางได้ เนื่องจากเส้นทางโดยสารยังมีการจัดเส้นทางยาว ทำให้เกิดการควบคุมเวลาได้ยาก ขณะที่การขนส่งระบบรางระหว่างก่อสร้างก็เกิดปัญหาการจราจรตามมา

4.ด้านกฎหมายและการบังคับใช้ ปัญหาคือกฎหมายจราจรที่ไม่ทันสมัยและไม่สอดคล้องกับปัญหาจราจรในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีอัตราโทษที่ต่ำ รวมถึงติดตามเพื่อให้เสียค่าปรับยังทำได้ยาก และจากสถิติพบว่าแต่ละปีออกใบสั่งมากถึง 1.6 ล้านใบ แต่จำนวน ที่มีผู้มาชำระค่าปรับมีไม่ถึง 20%

5.ด้านวินัยจราจรผู้ใช้ถนนที่จอดรถกีดขวางและจอดริมถนนตามอำเภอใจ และการขับรถที่ไม่มีน้ำใจให้กับคนเดินถนน รวมถึงการใช้รถอย่างเห็นแก่ตัว

และ 6.ด้านการให้ข้อมูลและสื่อสาร พบว่าบนทางด่วนยังขาดการให้ข้อมูล ซึ่งบางครั้งขณะเกิดรถติดบนทางด่วน การใช้ถนนปกติอาจไปได้เร็วกว่า

นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่อีกประการที่ สปท.มองเห็น คือเรื่องรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุบนถนน เมื่อเกิดเหตุท้องที่ที่รับผิดชอบบางครั้งไม่ได้แจ้งกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และปล่อยให้รถติดสะสมจนยากจะแก้ไข เช่น ตำรวจท้องที่ทราบว่ามีอุบัติเหตุหรือรถเสีย แต่ก็เพียงแค่ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ เมื่อเสร็จแล้วก็ปล่อยเหตุทิ้งแช่เอาไว้เช่นนั้นราว 10-15 นาทีเพื่อเคลื่อนย้าย แต่ประเด็นสำคัญคือ บก.จร.ไม่ได้รับทราบ ทำให้ผลกระทบในการแจ้งเตือนไปยังผู้ขับขี่อื่นๆ เกิดการช้าตามไปด้วย

ทั้งนี้ ยังมีปัญหาต่างๆ อีกมากมายในลักษณะที่ดูเหมือนอาจจะเล็กน้อย แต่ได้เกิดผลพวงที่ใหญ่หลวงตามมา อาทิ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนไม่ใส่ใจต่อการควบคุมจราจร กดสัญญาณไฟที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการจราจรในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบเห็นปัญหาจนได้ข้อสรุปออกมาแล้ว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงนำเสนอแผนปฏิรูปออกมาเป็น 2 แนวทาง คือ 1.ระยะที่ 1 แผนปฏิรูปการจราจรระยะสั้น (เร่งด่วน) เพื่อให้เกิดการแก้ไขเป็นรูปธรรม และต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานร่วมมืออย่างเป็นระบบ และ 2.ระยะที่ 2 แผนการปฏิรูปจราจรอย่างเป็นระบบอย่างยั่งยืน เช่น การศึกษาวิธีการดำเนินการ การขอตั้งงบประมาณ โดยตั้งกรอบการปฏิรูปเป็นแผน 5 ปี โดยให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ในส่วนของตำรวจจราจรที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ปฏิบัติหลักในการอำนวยความสะดวก และเป็นด่านแรกของการแก้ไขปัญหานั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้รัฐบาลเพิ่มกำลังพลสนับสนุนอีก 3-4 หมื่นคน โดยแผนระยะสั้นจะให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจเป็น CEO เพื่อสามารถบริหารงานจราจรและแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีกับสถานการณ์

รวมถึงจัดหาอุปกรณ์และงบประมาณในสายงานจราจรให้ครบถ้วนทั้ง 88 สน. ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกองบังคับการตำรวจจราจร เพราะตำรวจตื่นมาทำงานตั้งแต่เวลา 04.00-21.00 น. ดังนั้นเครื่องมือและอุปกรณ์จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่อย่าง เต็มที่และมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังเสนอให้เพิ่มค่าปรับสูงสุดเป็น 1 หมื่นบาท ในข้อหาความผิดร้ายแรง เช่น ฝ่าไฟแดง เมาแล้วขับ เพื่อให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวต่อกฎหมาย