posttoday

"เพราะความจำเป็นบีบบังคับ" เสียงครวญจากวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งบนทางเท้า

09 กุมภาพันธ์ 2560

ความในใจของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในวันที่ถูกมองเป็นจำเลยข้อหาขี่รถบนทางเท้า

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / พรพิรุณ ทองอินทร์

ภาพรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปวิ่งบนทางเท้า กลายเป็นภาพชินตาที่เห็นได้เป็นประจำในสายตาคนกรุงเทพฯ บ้างลัดเลาะหลบผู้คนหวุดหวิดจวนเจียนจะเฉี่ยวชน บ้างทำกร่างบีบแตรไล่เสียดื้อๆ สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่ประชาชนคนเดินถนนเป็นอย่างยิ่ง

หนึ่งในจำเลยที่ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญหนีไม่พ้น "กลุ่มผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง"

วันนี้ หลังจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกนโยบายจัดระเบียบทางเท้าห้ามรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปวิ่งอย่างเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะโดนจับหนัก 5,000 บาท แถมยังอาจถูกลงโทษยึดเสื้อวิน ขณะเดียวกันยังได้มีแนวคิดให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ช่วยเป็นหูเป็นตา ถ่ายภาพผู้กระทำผิดด้วย ทั้งหมดนี้กำลังก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

"เพราะความจำเป็นบีบบังคับ" เสียงครวญจากวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งบนทางเท้า

ความจำเป็นบีบบังคับให้วิ่งบนทางเท้า

เหตุผลที่บีบบังคับให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างส่วนใหญ่ต้องขึ้นไปวิ่งบนทางเท้านั่นคือ หลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด ย่นระยะทางให้สั้นลง และทำตามคำร้องขอของผู้โดยสาร ภายใต้ชั่วโมงเร่งด่วน

อุไร  ผิวนวล วินมอเตอร์ไซค์ย่านรถไฟฟ้าบีทีเอส จตุจักร เล่าว่า เจอปัญหาลูกค้าเร่งรีบเป็นประจำ

"เดี๋ยวนี้รถมันติด พนักงานออฟฟิศจะรีบไปทำงานให้ทันเวลา บางคนต้องวิ่งลงไปตอกบัตรก่อนด้วยซ้ำแล้วค่อยวิ่งมาจ่ายค่าโดยสาร ปัญหาอยู่ที่คนใช้บริการไม่ใช่คนขับขี่รถ ถ้าลูกค้าเผื่อเวลาให้ เราก็วิ่งไปเรื่อยๆของเรา แต่ทุกคนมาสภาพแบบนี้ทั้งนั้น สังคมชอบมองว่าวินมอเตอร์ไซค์คือตัวปัญหา แต่คนขับวินและผู้ใช้บริการเขารู้ดีว่าจริงๆมันเป็นยังไง

ยกตัวอย่างลูกค้ามาบอกว่า 'พี่ ไปหมอชิต อีก 15 นาทีรถจะออก' ถามว่าถ้าเราขับอ้อมไปตามทางปกติจะทันไหม เราก็ต้องรีบให้เขา เพราะตกรถก็ต้องซื้อตั๋วใหม่ 500-600 บาท แล้วสุดท้ายก็มาโทษวินว่าพาไปส่งไม่ทัน ลูกค้าบางคนบอกเลย 'พี่ ไปดอนเมือง 15 นาทีถึงไหม' โอ้โห เวลาเผื่อๆเขาไม่เคยมาหาเราหรอก ไปนู้น ...แท็กซี่ รถเมล์ เวลารีบร้อนถึงมาหาเรา สุดท้ายก็กดดันให้เราฝ่าไฟแดงเพราะกลัวไปไม่ทัน แล้วพอโดนจับ วินมอเตอร์ไซค์นี่แหละที่เสียค่าปรับ"

อนุชา สายปัญญา วินมอเตอร์ไซค์ย่านลาดพร้าว บอกว่า ไม่ได้มีแค่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างเดียวที่วิ่งบนทางเท้า เมสเซนเจอร์ รถชาวบ้าน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เองก็มีให้เห็นเป็นประจำ

"ถ้าจะเล่นงานต้องเล่นให้หมด แบบนี้ผมโอเค ปกติก็ไม่ได้ขี่บนทางเท้าตลอดเวลาอยู่แล้ว อันไหนวิ่งข้างล่างได้ก็วิ่ง อันไหนใกล้ๆจุดหมายสัก 100 เมตร แทนที่จะวิ่งไปกลับรถอ้อมไกลๆ หรือย้อนศรอันตรายๆ ผมก็จำเป็นต้องขึ้นฟุตบาท มันแค่นิดเดียวครับ ประหยัดเงิน ประหยัดเวลาลูกค้าด้วย แต่ยืนยันว่าไม่เคยบีบแตรไล่คนให้พ้นทาง อาจจะมีแค่บีบแตรเตือนพวกที่ก้มหน้าเล่นมือถือแค่ทีเดียวเท่านั้นแหละครับ"

ภูวดล กล้าหาญ วินมอเตอร์ไซค์ย่านรัชดาภิเษก บอกว่า จะเลือกขึ้นทางเท้าเฉพาะช่วงที่คนไม่เยอะ ทางโล่งสะดวก ถ้าคนเยอะๆจะไม่ขึ้นไปวิ่ง

"เราก็รู้ว่าไปรบกวนทางเดินของประชาชน แต่ทางมันไปไม่ได้มอเตอร์ไซค์ก็ต้องฝืนไปบ้าง เราวิ่งบนทางเท้าแค่ช่วงเวลาด่วนครับ ไม่ได้วิ่งทั้งวัน ผมก็ไม่เห็นด้วยที่วินบางคนขึ้นไปวิ่งบนทางเท้าแล้วไปบีบแตรใส่เขาอีก แบบนี้ไม่ใช่ มันเป็นทางเดินของเขา วินต้องหลบประชาชนไม่ใช่ประชาชนหลบวิน"

"เพราะความจำเป็นบีบบังคับ" เสียงครวญจากวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งบนทางเท้า

"ตั้งวินบนฟุตบาท"ปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตก

ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่สร้างประเด็นถกเถียงมานาน นั่นคือ เหตุใดวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายจุดขึ้นไปจอดตั้งวินรอรับผู้โดยสารบนทางเท้า กีดขวางทางเดิน

เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย อธิบายว่า อาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมีการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

"วินเก่าๆที่ตั้งมานานก็มีความจำเป็นต้องอยู่ เพราะไม่รู้จะไปไหน เคยคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายครั้งว่า ถ้าไม่ให้จอดบนฟุตบาทแล้วจะให้เราไปจอดที่ไหน เพราะว่าวินมันเกิดมาก่อนแล้วจู่ๆจะไปยกเลิกไปไล่ก็เหมือนไปทำร้ายเขา เราเคยเสนอไปว่า หากฟุตบาทตรงไหนที่มีความกว้างเกิน 1 เมตรก็ขอให้มีการขีดเส้นกำกับเพื่อให้จอดรถได้ หรือไม่ก็ปรับถนนให้มีความเว้าเพื่อให้รถจอดได้สัก 10 คัน ที่เหลือก็ไปรอในซอยแล้วค่อยทยอยออกมา แต่ปรากฎว่าผู้ใหญ่บอกว่าไม่มีงบประมาณ ทุกวันนี้วินมอเตอร์ไซค์ก็เลยต้องอยู่กันไปแบบนี้"

นายกสมาคมวินมอเตอร์ไซค์แห่งประเทศไทย บอกว่า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างถือเป็นเอกลักษณ์ของการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ อยากให้มีการจัดที่จัดทางให้สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เกะกะกีดขวาง ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาของสังคม

"ท่านสร้างเขามา ท่านก็ควรมีสถานที่ให้เขา เว้าถนนได้ก็ควรเว้า หรือหาที่ตั้งใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จะให้เราไปต่อรองกับหน่วยงานหรือเจ้าของที่เองมันไม่มีทางสำเร็จ เขาไม่ให้จอดหรอก วินมอเตอร์ไซค์ไม่มีบารมีพอจะไปขอสถานที่ใครได้"

"เพราะความจำเป็นบีบบังคับ" เสียงครวญจากวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งบนทางเท้า เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย

ให้วินมอเตอร์ไซค์ช่วยเป็นหูเป็นตา...พูดง่ายแต่ทำยาก

นโยบาย 'หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง' ของกทม. โดยจะให้กลุ่มผู้ที่ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทำตัวเหมือนสารวัตรนักเรียน ช่วยเป็นหูเป็นตาต่อต้านการขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า เจอใครฝ่าฝืน ถ่ายรูปผู้กระทำผิดและป้ายทะเบียนรถ แล้วส่งมายังเฟซบุ๊กพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ประเด็นนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่

พีระพงศ์ จันทร์ประทีป วินมอเตอร์ไซค์ย่านบางกะปิ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

"การให้เป็นหูเป็นตาให้น่ะเป็นได้ แต่จะให้รายงานแล้วถ่ายรูปส่งไปให้เจ้าหน้าที่ผมทำไม่ได้ สมมติว่ามีมอเตอร์ไซค์วิ่งขึ้นฟุตบาท แล้วผมต้องเป็นคนถ่ายแล้วส่งไปให้เจ้าหน้าที่ วันนึงเกิดคนที่ผมถ่ายรูปไว้เขารู้ว่าใครเป็นคนร้องเรียน แล้วจะทำยังไง ผมก็คนทำมาหากิน เดี๋ยวจะไม่ปลอดภัย มันควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจมีกฎหมายในมือมากกว่า"

เช่นเดียวกับ วัฒนา มาตรรักษ์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านรัชดา-ลาดพร้าว ที่ส่ายหัวไม่เห็นด้วย

“พูดยากนะ กลัวจะมีปัญหา ประมาณว่าคุณเป็นใคร มีสิทธิ์อะไรมาทำแบบนี้ กลายเป็นว่าให้วินมอเตอร์ไซค์ไปกระทบกระทั่งกับประชาชนอีก"

ปยต เพ็งตี วินมอเตอร์ไซค์อีกราย บอกว่า หากถูกทำร้ายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ

"นโยบายดีแต่ไม่เห็นด้วย ถ้าให้เรามีหน้าที่เป็นหูเป็นตาไปแจ้งเจ้าหน้าที่เขาต้องคำนึงด้วยว่า ผู้แจ้งมีความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าเกิดผมไปแจ้งแล้วเกิดถูกทำร้ายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ เขาใช้เราเป็นมือเป็นเท้าทำหน้าที่แทนพวกเขา แต่ความปลอดภัยไม่ได้อยู่ที่เรา ใครจะมาช่วย ถ้ามีการ คุ้มครองมีรางวัลให้คนแจ้ง ผมว่าคนก็จะอยากแจ้ง"

"เพราะความจำเป็นบีบบังคับ" เสียงครวญจากวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งบนทางเท้า

จะจับก็จับให้หมด อย่าเลือกปฏิบัติ

สุดท้ายนี้ ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งลูกวินและหัวหน้าวิน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยินดีที่จะให้ความร่วมมือไม่นำรถขึ้นไปวิ่งบนทางเท้า แต่ขอให้มีการลงโทษอย่างเท่าเทียมกัน อย่าเลือกปฏิบัติ

"ผมเห็นด้วยที่ท่านนำมาตรการนี้ออกมา เพียงแต่ว่าต้องเข้มงวดให้ถึงที่สุด ไม่ใช่ห้ามวินเตอร์เตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นไปวิ่งบนฟุตบาท แต่รถชาวบ้านชาวช่องก็ยังวิ่งอยู่ วินมอเตอร์ไซค์ก็เห็นว่าคนอื่นวิ่งได้เขาก็วิ่งตาม คนอื่นก็มองว่าวินมอเตอร์ไซค์วิ่งได้ฉันก็วิ่งตามอีก วนกันไปกันมาอยู่แบบนี้ ที่ผ่านมาเวลาเห็นจะทำอะไรมักจะสร้างภาพมากกว่าทำจริง ถ้าท่านทำจริงๆจังๆเราเห็นด้วย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ผมว่าทุกอย่างจบ ไม่มีใครคัดค้านหรอก อาจจะมีงอแงนิดหน่อย สังคมจะอยู่ได้ถ้าโปร่งใส ชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนคนในสังคมที่ฟังก็จะไม่ชัดเจน"

ในฐานะนายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาเสียงของทางสมาคมไม่ค่อยรับการเหลียวแลเท่าที่ควร เวลามีการประชุมหารือประเด็นเกี่ยวกับการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเชิญไปร่วมรับฟัง ดังนั้นขอส่งเสียงไปยังพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ว่า อยากให้จัดเวทีขึ้นสักครั้งแล้วชวนสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยเข้าร่วม เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของอาชีพคนขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

*********************

ชมคลิป เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์

 

"เพราะความจำเป็นบีบบังคับ" เสียงครวญจากวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องวิ่งบนทางเท้า