posttoday

"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

09 มิถุนายน 2559

เปิดใจ "ร้อยตรีหญิงกรรณิการ์ ชมศิริ" เจ้าของบ้านโบราณกลางดงคอนโดฯในซอยกรุงธนบุรี 2 พร้อมเจาะลึกสถาปัตยกรรม

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด ภาพ..ภัทรชัย ปรีชาพานิช / เพจเฟซบุ๊ก รัตนโกสิเนหา Rattanakosineha 

"ภูมิใจที่ได้รักษาสิ่งที่บรรพบุรุษมอบให้ไว้ และจะทะนุถนอมต่อไป วันหนึ่งเมื่อเราไม่อยู่แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อเรายังอยู่ ให้ 100 ล้านก็ไม่ขาย”

เป็นประโยคที่ ร้อยตรีหญิงกรรณิการ์ ชมศิริ เจ้าของบ้านไม้สักทองโบราณอายุกว่า 150 ปี ย้ำหนักแน่นระหว่างสนทนา

หลายสิบปีมานี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดดเด่นฉายแสง เจริญเติบโตทั่วเมืองกรุง พร้อมกับการล้มหายตายจากของบ้านไม้เก่าแก่ โดยเฉพาะผืนดินทำเลทองย่านใกล้รถไฟฟ้าที่ถูกกว้านซื้อหลังแล้วหลังเล่า จนทำให้การพบเห็นบ้านโบราณสักแห่งกลางคอนโดสูงระฟ้ากลายเป็นเรื่องสุดพิเศษ

วันนี้ แม่ชีกรรณิการ์วัย 80 ปี เจ้าของบ้านและที่ดินรวม 167 ตารางวา เลขที่ 34 ซอยกรุงธนบุรี 2 แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน ใกล้สถานีบีทีเอสวงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร เปิดบ้านยืนประกาศก้องให้สังคมรับรู้ว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป”

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

มรดกบรรพบุรุษที่ลูกหลานควรอนุรักษ์ไว้

กรรณิการ์ ชมศิริ มีสกุลเดิมว่า จุณณะปิยะ ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เธอเกิดและเติบโตที่นี่ ผ่านการรับราชการเป็นทหารหญิงยศร้อยตรี สังกัดกรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม จนกระทั่งเกษียณอายุจึงเลือกโกนศรีษะบวชเป็นแม่ชี นุ่งขาวห่มขาว มุ่งหน้าปฎิบัติธรรม

แม่ชี เล่าว่า บ้านนี้มีอายุมากกว่า 150 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นอกเหนือไปจากความผูกพัน ภาพความเหน็ดเหนื่อยของบรรพบุรุษก็ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอปฎิเสธเงินหลายสิบล้าน

“สมัยก่อนครอบครัวเราประกอบอาชีพค้าขาย รอบๆบ้านเป็นสวนผลไม้มากมายหลายชนิด ทั้งมะม่วง มะพร้าว มะนาว ส้มโอ ลิ้นจี่ ครอบครัวช่วยกันเก็บและแจวเรือไปขายผลไม้ หมากพลู ที่ท่าเตียนและท่าพระจันทร์ ทุกคนรักบ้านหลังนี้มาก เพราะสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรง ฝนตกฟ้าร้อง ก็ต้องไปขายของ จนสะสมเงินทอง ได้บ้านได้ที่ดินมาให้เราอาศัย ในอดีตพื้นที่กว้างใหญ่กว่านี้มาก แต่แบ่งขายให้เพื่อนบ้านจนเหลือเท่านี้” 

ที่ผ่านมามีนายทุนจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ติดต่อขอซื้อที่ดินผืนงามแห่งนี้ ด้วยมูลค่ามหาศาล แต่ก็ถูกปฎิเสธเรื่อยมา

“3 ปีก่อน เขาติดต่อมา ให้แม่ชี 50 ล้าน เราก็ไม่เอา ขึ้นมาเรื่อยๆ จนล่าสุด 85 ล้าน ก็ยังยืนยันว่าไม่ขาย ญาติพี่น้องก็นานาจิตตัง ทั้งอยากให้ขายทั้งไม่อยาก บางคนบอกว่าขายเถอะแล้วไปซื้อบ้านใหม่อยู่กัน แต่แม่ชีไม่อยากขาย  ทุกวันนี้เราถือศีลปล่อยวาง ไม่คิดมาก มีกินมีใช้ก็พอ เงินจำนวนมากมายขนาดนั้นเกินความจำเป็น ไม่ได้เห็นเงินแล้วตาโต วันนี้ความเหนื่อยในชีวิตไม่มีแล้ว มีแต่ความภาคภูมิใจที่สามารถรักษาทะนุถนอมสิ่งที่บรรพบุรุษให้ไว้ได้ แต่ถ้าเราไม่อยู่แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อยังอยู่ ยังไงก็ไม่ขาย อยากฝากบอกไปยังคนที่ได้รับมรดกทุกท่านทั่วราชอาณาจักร จงคำนึงไว้ว่า มรดกที่บรรพบุรุษมอบให้ถ้าไม่จำเป็น ไม่ต้องขาย ให้อนุรักษ์ไว้ เพราะมันมีคุณค่ามาก กว่าเขาจะได้ทรัพย์สินมาแต่ละอย่าง เหงื่อตกยางออก ลำบากมาก แม่ชีไม่ทำลายน้ำใจของบรรพบุรษหรอกค่ะ

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง กมลวรรณ ชมศิริ

แม่ไม่ขาย ลูกก็ไม่ขาย

บ้านไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้นหลังนี้ ประกอบไปด้วยห้องพระ ห้องโถง ห้องเก็บของ และห้องนอนอีก 2 ห้อง สามารถเปิดบานเฟี้ยมซึ่งเป็นฉากกั้น เชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด ภายในบ้านถูกตกแต่งด้วยของเก่าแก่ล้ำค่าอย่าง นาฬิกา เขากวาง และเรือแม่ย่านางอายุกว่าร้อยปี ด้านหลังตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด ปัจจุบันครอบครัวนี้อาศัยรวมกัน 10 คน

กมลวรรณ ชมศิริ อายุ 40 ปี ลูกสาวคนที่ 3 บอกว่า พี่น้องทุกคนไม่ต้องการขายบ้านหลังนี้ เพราะอาศัยมาตั้งแต่เกิด มีคุณค่าเต็มไปด้วยความอุ่นใจและความทรงจำมากมาย แม้มีผู้ติดต่อขอซื้อมาด้วยเงินจำนวนมาก แต่เงินทองมีวันหมด ผิดกับที่ดิน ซึ่งอยู่กับเรานานเท่านาน

“พอใจกับที่สิ่งที่มี ชีวิตเราอยู่ที่นี่ไปแล้ว ไปไหนมาไหนก็สะดวก โรงพยาบาลประจำของครอบครัว สถานที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมทุกอย่างลงตัวสำหรับเรา สมัยก่อนบ้านหลังตรงข้ามเป็นบ้านไม้โบราณเพื่อนร่วมรุ่นของคุณแม่ สุดท้ายเขาก็ขายไปเมื่อไม่นานนี้เอง กำลังจะกลายเป็นคอนโดสูง 6 ชั้น ล้อมบ้านเราอีกทางหนึ่ง”

กมลวรรณ ทิ้งท้ายว่า ครอบครัวชาชินเสียแล้วกับความเปลี่ยนแปลงรอบๆ ตัว คอนโดตึกสูงที่ทยอยฝุดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อนบ้านที่เริ่มหายหน้า หายตาไปทีละคน รวมทั้งมลพิษทางเสียงที่เกิดจากการก่อสร้าง 

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

สถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียน ขุมทรัพย์กลางกรุง

ต้นเหตุที่ทำให้บ้านหลังนี้โด่งดังเป็นที่สนใจจากสื่อทุกค่ายและผู้คนในโลกออนไลน์ เกิดจากความบังเอิญของผู้หญิงรายหนึ่งที่เดินเจอไม้สักทองเรือนนี้เข้า

วรารัตน์ ธรรมถุติ เล่าให้ฟังว่า ราวกลางปี 2558 ได้พบบ้านหลังนี้โดยบังเอิญ รู้สึกตกตะลึงกับความพิเศษที่หาได้ยากจากบ้านหลังอื่นๆ ในเมืองหลวง

“ปกติเป็นคนชอบเดินดูบ้านเก่าๆ สวยๆ อยู่แล้ว วันนั้นลัดเลาะไปตามชุมชนแถวซอยกรุงธนบุรี 4 ทะลุมายังถนนตากสิน แรกเห็นหลังนี้ก็ยืนตะลึงไปชั่วครู่ เพราะเหมือนพบขุมทรัพย์กลางกรุง ออกมาอีกนิดเดียวก็ถนนใหญ่ มีรถไฟฟ้า ด้านหลังเป็นคอนโดสูงตั้งตระหง่าน ช่วงนั้นบ้านหลังนี้ยังร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่กว่าทุกวันนี้มาก น่าจะเป็นเพราะบ้านข้างหน้ายังไม่ถูกรื้อออก มองจากถนนใหญ่จะมีอาคารบ้านเรือนบดบัง เห็นไม่ชัดเหมือนทุกวันนี้ จำได้ตอนนั้นยืนตะลึงเก็บภาพเท่าที่ทำได้”

วรารัตน์ คิดอยู่แล้วว่าบ้านโบราณสวยงามแบบนี้ ไม่นานต้องโดนรื้อถอนเป็นแน่ ซึ่งกลายเดือนถัดมา ก็พบว่าจริงดังคาด เมื่อหลายบ้านถูกรื้อถอนออกไป หลงเหลืออยู่เพียงหลังเดียว

“หลายเดือนต่อมา เราเดินผ่านทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสวงเวียนใหญ่ ก็แปลกใจที่สามารถเห็นบ้านหลังนี้ได้จากถนนใหญ่ จึงหาโอกาสลงไปดูและพบว่า บ้านเรือนสวยงามแถวนั้นถูกรื้อถอนออกไปหมดแล้ว ความร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ กลายเป็นพื้นที่โล่งเตียน ก่อนเปลี่ยนเป็นคอนโดสูง เหลือบ้านหลังนี้หลังเดียว เราเห็นแล้วใจหาย เลยรีบส่งภาพให้กับ เพจรัตนโกสิเน่หา เขานำไปเผยแพร่ จนถูกต่อยอดอย่างที่เห็น”

หญิงสาวรายนี้ ทิ้งท้ายว่า เมืองไทยมักถนัดกับการรื้อถอนและสร้างใหม่ ฉะนั้นการเห็นใครสักคนลุกขึ้นมาบูรณะ หรือแม้แต่แค่เก็บรักษาของโบราณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ทำลายทิ้งไป ช่างน่านับถือน้ำใจอย่างยิ่ง

ภูสิต อินทรทูต แอดมินเพจเฟซบุ๊ก รัตนโกสิเนหา อธิบายว่า บ้านดังหลังนี้ได้รับอิทธิพลจากงานสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียนโดยตรง สังเกตได้จาก “ไม้กลึงยอดจั่ว” ซึ่งในประเทศไทยและอาจรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนได้รับอิทธิพลและมีต้นตอมาจากชาวตะวันตกในยุควิคตอเรียน คาดว่าผู้ที่สามารถสร้างบ้านลักษณะนี้ได้ในสมัยนั้น หากไม่ใช่ขุนนางก็ต้องมีฐานะพอสมควร ต้องเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป

รูปแบบสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียนมาพร้อมกับชาวตะวันตก ที่เข้ามาสร้างเรือนอาคารของตนในสยาม ได้รับความนิยมในช่วงรัชกาลที่ 4 เรื่อยมา มีแรงผลักสำคัญเมื่อสยามถูกคุกคามจากการล่าอาณานิคม รวมถึงการเมืองการปกครองเริ่มปรับปรุงไปสู่สากลและความศิวิไลซ์มากขึ้นจนเบ่งบานสะพรั่งสูงสุดใน รัชกาลที่ 6 ลักษณะของบ้านไทย-วิคตอเรียนที่บานสะพรั่งสูงสุด ดูได้จากงานในจังหวัดแพร่ ก่อนจะเริ่มคลายความนิยมไปช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บ้านโบราณ คือ โบราณสถานอย่างหนึ่ง ถือเป็นตำราในการศึกษาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วิทยาการในยุคนั้นๆได้  การดำรงอยู่ของบ้านหลังนี้สะท้อนว่าเรากำลังเผชิญกับยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มที่ บ้านโบราณแบบนี้ หากอยู่ในมือเศรษฐี เขาไม่ขายก็ไม่มีใครสนใจ แต่เมื่ออยู่ในมือของคนรายได้ไม่มาก คนร้อยทั้งร้อยยุคนี้ถ้ารายได้ไม่มาก รับรองขายหมด เมื่อไม่ขายจึงกลายเป็นข่าวที่สะเทือนไปทั่ว"

พลิกปฎิทินย้อนหลังกลับไปหลายสิบปี แม่ชีกรรณณิการ์ยังคงระลึกถึงความทรงจำที่มีต่อบ้านหลังนี้ได้อย่างแจ่มชัด เธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

 

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

 

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

 

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง

\"100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ\" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง