posttoday

1 ศตวรรษที่ไทยร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1

16 กรกฎาคม 2560

ป้ายหินแกรนิต ที่วงเวียน 22 กรกฎาคม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจารึกภาษาไทยและภาษาจีน ว่า

โดย...ส.สต

ป้ายหินแกรนิต ที่วงเวียน 22 กรกฎาคม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจารึกภาษาไทยและภาษาจีน ว่า อนุสรณ์แห่งนี้เป็นวงเวียนแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนน 3 สาย คือ ไมตรีจิต มิตรพันธ์และสันติภาพ ได้สร้างเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ผู้ทรงนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2460 เข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตร

ผลแห่งชัยชนะของสงคราม ทำให้ประเทศ ไทยได้รับเอกสิทธิ์แก้ไขกฎหมายกับต่างประเทศ และนานาประเทศรู้จักประเทศไทย (สยาม)ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ฝ่ายพันธมิตรที่ไทยจับมือร่วมรบ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐ คู่สงครามของไทยและพันธมิตร ได้แก่ เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี

สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นจากกรณีอาร์ชดยุกฟรานซิสเฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งมหาอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี พร้อมด้วยพระชายา ถูกคนร้ายชาวเซอร์เบียลอบปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเจโว นครหลวงแคว้นบอสเนีย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2457 (ค.ศ.1914) เหตุดังกล่าวเยอรมนีกับออสเตรียจึงประกาศสงครามและเคลื่อนกำลังทัพอันเกรียงไกรเข้ารณรงค์กับฝรั่งเศส รัสเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐ

1 ศตวรรษที่ไทยร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ป้ายจารึก 2 ภาษา ที่วงเวียน 22 กรกฎาคม

 

เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับชาวยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ทรงเครื่องทรงพระมหาพิชัยยุทธ

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เขียนในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รำลึก ว่า

เมื่อกรุงสยามได้ประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีแล้ว ในวันที่ 22 ก.ค. 2460 เวลาบ่าย 5 โมง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราช ดำเนินจากพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และทรงสักการะพระบรมมณฑลทั้ง 5 รัชกาล ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ครั้นเสด็จฯ กลับประทับยังเกยหลังพระอุโบสถ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทปลุกใจเสือป่ากองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งชุมนุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั่น เป็นข้อความละเอียด เนื่องด้วยการประกาศกระแสพระบรมราชโองการว่าด้วยสงคราม ซึ่งมีต่อประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ครั้งจบแล้วมีพระราชดำรัสแก่บรรดาทหารบกซึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั่นมีใจความโดยย่อ ดังนี้

“ข้าพเจ้าขอสั่งทหารบกซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ว่า ตามที่ทางฝ่ายทหารบกได้ทำการเตรียมพร้อมโดยสงบเรียบร้อยตลอดมา จนวันนี้ข้าพเจ้ามีความปีติยินดีในความจงรักภักดีของท่านเป็นอย่างยิ่ง ขออวยพรให้ท่านจงมีความดีสวัสดิพิพัฒนมงคล เมื่อถึงคราวจำเป็นต่อไปขอให้ท่านจงมีชัยชนะแก่ราชศรัตรู”

พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเล็งผลเลิศอย่างยอดยิ่งในสงครามโลกครั้งแรกนี้ และการตัดสินพระราชหฤทัยก็เป็นไปอย่างเด็ดขาด ไม่ทรงฟังเสียงทักท้วงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทรงตระหนักแน่ว่าผลสุดท้ายของสงครามโลกจะต้องสุดสิ้นลงในสภาพใด หลังจากทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี แล้วได้ทรงมีพระราชดำรัสในท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในวันต่อมา วันที่ 23 ก.ค. 2460 ดังนี้

1 ศตวรรษที่ไทยร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 วงเวียน 22 กรกฎาคม วงเวียนแห่งแรกของไทย ที่สร้างเพื่อรำลึกถึงไทยเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1

 

ดูกร ท่านทั้งหลาย

อาศัยเหตุที่งานมหาสงครามในยุโรปได้ปรากฏโดยแน่ชัดแล้วว่าเป็นสากลสงคราม ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์ดูโดยดีด้วยแล้ว รู้สึกว่าที่กรุงสยามจะเพิกเฉยละเลยอยู่ต่อไปอีกนั้นหาได้ไม่ และเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของกรุงสยามและสันติภาพของโลกแล้ว ก็ไม่มีหนทางอย่างอื่นที่จะเลือกได้นอกจากจะต้องประกาศสงครามต่อประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งจะเพิกเฉยต่อธรรมะระหว่างประเทศโดยมิได้ละลด รัฐบาลของข้าพเจ้าได้พยายามแล้วที่จะกล่าวขัดขวางในวิธีที่ประเทศในท่าม กลางยุโรปกระทำสงคราม โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้เป็นสมาชิกในสมาคมแห่งชาติจะต้องปฏิบัติเช่นนั้น แต่เมื่อปรากฏแล้วว่าประเทศท่ามกลางยุโรปมิได้ไยดีต่อคำขัดขวางนั้นๆ แล้วข้าพเจ้าจึงมารู้สึกว่า การที่กรุงสยามจะคงถือความเป็นกลางต่อไปนั้นไม่ได้อีกแล้ว เป็นความจำเป็นโดยแท้ที่จะต้องทำสงครามด้วย

โดยอาศัยความจงรักภักดี และความอุตสาหะวิริยภาพแห่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือน ซึ่งข้าพเจ้ามอบให้เป็นผู้กระทำขั้นต้น เพื่อรักษาความสงบและความอยู่สุขแห่งสาธารณชน กิจการนั้นๆ ได้เป็นไปแล้วอย่างเป็นที่พอใจของข้าพเจ้าและโดยมิได้มีอันตรายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แลข้าพเจ้าขอขอบใจท่านทั้งหลายบรรดาที่ได้ปฏิบัติการในหน้าที่อันกล่าวมาแล้วนั้น

เราทั้งหลายได้เข้าข้างฝ่ายผู้กระทำสงคราม เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งธรรมะระหว่างประเทศแล้ว และได้ตั้งใจช่วยสัมพันธมิตรผู้กล้าหาญของเราต่อไป จนกว่าจะได้มีการสงบสุขอย่างสมศักดิ์ศรี

ข้าพเจ้ามีความเชื่อโดยแน่แก่ใจในความพยายามด้วยความจงรักภักดีและพร้อมเพรียงแห่งพสกนิกรของข้าพเจ้าทั่วไป แลขออานุภาพพระรัตนตรัยจงได้บันดาลดลให้สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล บังเกิดมีแก่เราทั้งหลายจงทั่วกันเทอญ