posttoday

ศิลปะผ้า "ชาติพันธุ์" ผลงานชิ้นเดียวในโลก

14 พฤษภาคม 2560

"สิ่งที่ได้จากงาน ไม่ใช่รายได้ แต่คือวิถีชีวิต ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาแห่งชาติพันธุ์ที่ยังคงอยู่"

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

“สิ่งที่ได้จากงาน ไม่ใช่รายได้ แต่คือวิถีชีวิต ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาแห่งชาติพันธุ์ที่ยังคงอยู่ ดีใจที่เรามีส่วนทำให้ภูมิปัญญาของเขาไม่สูญหาย หลายชีวิตมีกำลังใจและเรียนรู้การสืบทอดสิ่งที่มีคุณค่าของชาติพันธุ์ต่อไป”

นี่คือสิ่งที่ อารีรักษ์ ฮงประยูร หรือ “ปุ๋ย” เจ้าของร้านผ้าทอพื้นเมืองใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ยึดมั่นมาตลอด 15 ปี ในการดำเนินธุรกิจผ้าพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมิใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังเพื่อนบ้าน ทั้งสิบสองปันนาชายแดนจีน ลาว หลวงน้ำทาในลาว รวมทั้งในเขตไทย เช่นผลงานของกลุ่มเมี่ยน ม้ง ไทลื้อ อาข่า ฯลฯ

ปุ๋ย บอกว่า การศึกษามาทางด้านประยุกต์ศิลป์ ทำให้เมื่อได้พบเห็นผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ลวดลายการตัดเย็บ ปัก หรือตกแต่งลายที่เป็นเอกลักษณ์ จึงชื่นชมในผลงานที่มาจากภูมิปัญญา ความคิดของผู้ที่ออกแบบ

“เวลาได้ไปเที่ยวตามหมู่บ้านชนบททั้งในและต่างประเทศ จะพบเห็นพี่น้องชาติพันธุ์มากมายสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของตนเอง ก็หาซื้อมาออกแบบประยุกต์ หรือนำมาเก็บรักษาไว้ และหลายครั้งที่ได้ออกเยี่ยมพี่น้องเย้าเมืองสิงห์บริเวณชายแดนประเทศจีน-ลาว ในเมืองหลวงน้ำทา มีผ้าปักมือสวยงามมากซึ่งกำลังจะหายไปเพราะไม่สามารถขายได้ ผลกระทบจากตลาดสินค้าของจีนเข้ามารุกอย่างหนักจนหาที่ขายไม่ได้ จึงขอให้เขารักษาไว้และทำออกมาให้ นำมาประยุกต์เป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องแต่งกาย ทำให้มีคุณค่าขึ้นอีกมากมาย”

อารีรักษ์ ทำธุรกิจผ้าพื้นเมืองมานานถึง 15 ปี ด้วยใจรักของเก่า งานเก่าที่มีคุณค่าเพื่อไม่ให้สูญหายไป

“บางหมู่บ้านกว่าจะเข้าไปถึงต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับหลายวัน คนทำงานฝีมือกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาใช้เวลาเป็นอาทิตย์ เป็นเดือนหรือหลายเดือน แต่ในชิ้นงานนั้นคือวิถีชีวิต คือลมหายใจ คือความอยู่รอดของชุมชนของเขา” เธอเล่าถึงการดั้นด้นพยายามค้นหาวัตถุดิบผ้าพื้นเมืองเพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ที่ร่วมสมัย

ศิลปะผ้า "ชาติพันธุ์" ผลงานชิ้นเดียวในโลก

กลุ่มลูกค้าของอารีรักษ์ มี 4 กลุ่ม คือ 1.ลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่นิยมผ้าทองานฝีมือ 2.กลุ่มที่นิยมซื้อเก็บสะสมเพื่อจัดทำนิทรรศการหรือแกลเลอรี่ 3.กลุ่มที่นิยมผ้าทอและต้องการให้ออกแบบให้ไม่ซ้ำแบบใคร และ 4.กลุ่มที่นิยมผ้าพื้นเมือง ระบบการตลาดของเธอมีทั้งการเปิดขายหน้าร้านและขายผ่านเฟซบุ๊ก : Areerak Hongprayoon

ในฐานะที่บุกเบิกและเป็นต้นแบบ เธอบอกว่าบางครั้งเครียดเพราะมีผู้นำผลิตภัณฑ์ของเธอไปคัดลอกและขายถูกกว่ามาก แต่เมื่อคิดว่าคุณค่าของงานคือความแตกต่างที่ไม่มีใครสามารถคัดลอกไปได้ ถึงจะเย็บได้โดยใช้เครื่องจักร แต่คุณค่างานยังไม่เทียบเท่า นานไปลูกค้าที่รู้ก็แยกแยะได้ คุณค่างาน คุณค่าคน ล้วนแตกต่าง ก็ช่วยให้เธอเดินไปในแนวทางที่เชื่อมั่นต่อไป แม้จะยากลำบากในการดั้นด้นไปยังหมู่บ้านกลางหุบเขา ยอดดอยสูง เพื่อรับซื้อผ้าทอจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ไม่ทำให้เธอย่อท้อ

“ยังมีผ้าและลวดลายของชาติพันธุ์ประเทศอื่นๆ ที่ได้เรียนรู้และศึกษ

า เช่น บอร์เนียว ศรีลังกา เนปาล ทิเบต นำลวดลายมาประยุกต์ผสมผสานกันเป็นชิ้นงานที่ไม่ซ้ำแบบกับใคร และบางชิ้นมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ดังนั้นเรื่องราคาสำหรับงานฝีมือ 100% แล้ว ไม่มีใครเกี่ยงว่าแพง เพราะคนที่รู้คุณค่าของงานฝีมือจะมองที่คุณค่าของงานแต่ละชิ้นกว่าจะได้ต้องใช้เวลา ความอดทน ความเพียร ความทุ่มเทด้วยหัวใจ”

ปุ๋ยเล่าถึงสิ่งที่เธอทำอยู่อย่างมีความสุข

ศิลปะผ้า "ชาติพันธุ์" ผลงานชิ้นเดียวในโลก