posttoday

ถอดการศึกษาไทย เรียนอะไรมีงาน? เมื่อตลาดปรับตัวไกลแต่การศึกษาไทยไปไม่ถึง

12 ธันวาคม 2566

ถอดรหัสการศึกษาไทย เมื่อปัญหาการศึกษาส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างลุกลามและรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนในยุคดิจิทัล จะร่วมกันแก้ไขอย่างไรให้รอด! จากวิกฤติ ‘เรียนก็ไม่มีงาน’ ในวันนี้

มูลนิธิเอสซีจีเดินหน้าขยายแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด จัดงาน Learn to Earn : The Forum ผนึก Key Drivers ทุกภาคส่วนระดับประเทศ นำทัพสร้างวาระแห่งชาติ  “เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” จุดประกายและเปิดมุมมองใหม่ ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ปรับตัวแบบ Life long learning  พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างรวดเร็ว โดยโพสต์ทูเดย์ได้ถอดรหัสหัวใจสำคัญ ที่จะเป็นประโยชน์แก่คนไทยยุคใหม่ ที่อาจจะตั้งคำถามอยู่ว่า ‘ทำไมเรียนก็ไม่มีงาน’ ‘ไม่เรียนก็ไม่มีงาน’ แล้วจะทำอย่างไร?

 

เวทีสัมนาโดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

 

 

การผลิตแรงงานในภาคการศึกษาไม่สอดรับกับตลาดแรงงานในปัจจุบัน

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ฉายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักกับ ‘คน’

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอย่างที่ภาคอุตสาหกรรมไม่เคยเจอ ในอดีตการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสามารถคาดการณ์ได้ และในทุก 10 ปีจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อลงทุนก็จะสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะสามารถทำกำไรได้เมื่อไหร่ แต่ทุกวันนี้เมื่อเกิดการเปลี่นแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก็เกิดผลกระทบกับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมที่เคยเข้มแข็งในอดีต สามารถล้มได้ในฉับพลัน

เราจึงต้องมุ่งปรับตัวไปสู่ ‘อุตสาหกรรมใหม่’  ที่ต้องเปลี่ยนเยอะ โดยเฉพาะเรื่องคน บริษัทใหญ่สามารถลงทุนกับเครื่องจักรขนาดใหญ่ได้ แต่ปัญหาเดียวคือ ‘คน’  แล้วคนตอนนี้ที่ผลิตมาก็คือ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด บางคนจบมาสองปีจึงไม่สามารถหางานได้’

 

ประธานสภาอุตสาหกรรมยังชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวหลังจากโควิดนั้น สำหรับประสิทธิภาพของประเทศไทยของกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ก็ยังไม่ได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนิเซียและเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่ง โดยสิ่งที่ประเทศกำลังขาดแคลนมากที่สุดคือ ‘กำลังคนด้านภาษาอังกฤษและดิจิทัล’

‘ สำหรับตัวเลขความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษในปี 2022 ประเทศไทยเราอยู่ที่อันดับ 97 ในขณะที่อันดับที่ 2 และ 31 คือเกาหลีใต้และมาเลเซีย

ส่วน Basic ICT Skill (ความเชี่ยวชาญขั้นพื้นฐาน) ซึ่งเกี่ยวกับดิจิทัลโดยตรง เรามีแค่ 17% อยู่ท้ายตาราง เรามี Standard Skill (ความเชี่ยวชาญตามมาตรฐาน)  10% และ Advanced Skill (ความเชี่ยวชาญขั้นสูง)  คือ 1% ซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบัน’

 

นายเกรียงไกรยืนยันว่า ความต้องการของตลาดแรงงานมีอยู่มาก เพราะต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมใหม่เพื่อความอยู่รอด  เปลี่ยนจากการทำมากได้น้อยไปสู่ทำน้อยได้มากซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสำคัญ

 

‘ แต่ว่าสิ่งที่ยังตอบไม่ได้คือ การผลิตแรงงานคน ยังตอบความต้องการของเราไม่ได้’ ประธานอุตสาหกรรมแสดงความเป็นห่วง

 

สำหรับ 3 ทักษะที่ทางภาคแรงงานต้องการ ได้แก่

อันดับ 1  68.8% ทักษะทางวิศวกรรม

อันดับ 2  63.3% ทักษะทางดิจิทัล

อันดับ 3  53.7% ทักษะทาง Digital analytics

 

ถอดการศึกษาไทย เรียนอะไรมีงาน? เมื่อตลาดปรับตัวไกลแต่การศึกษาไทยไปไม่ถึง

 

 

การศึกษาต้องเน้นไปที่การผลิตแรงงานชั้นสูง เหตุจากปัญหาด้าน ‘ดิจิทัล’ และ ‘ผู้สูงอายุ’

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงทิศทางภาพรวมของอุตสาหกรรมไทยที่เน้นไปที่แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญชั้นสูง ด้วยปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะเสน่ห์ของแรงงานที่หายหมดเกลี้ยง!

‘ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ถูกรบกวนด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และจะกระทบด้วยเรื่องของสังคมผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งที่กำลังเข้ามา แต่เดิมจุดขายของเรา เราเปลี่ยนตัวเองจากประเทศเกษตรกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมโดยผันตัวเองเป็นฐานการผลิต เรามีแรงงานภาคเกษตรเยอะและราคาถูก มีโลเคชั่นที่ยอดเยี่ยม การย้ายฐานการผลิตมาใช้ในประเทศไทยจึงเยอะ แต่ตลอดเวลาที่อยู่ที่เรา เรารับจ้างผลิตส่วนใหญ่ เอาค่าแรงไป แรงงานจึงเป็นเสน่ห์ที่สำคัญ แต่วันนี้เสน่ห์หายหมดเกลี้ยง เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น

 

ความจำเป็นเรื่องแรกที่จะต้องทำคือ ต้องทำให้อุตสาหกรรมมีดีไซน์และมีแบรนด์ของตัวเอง ต้องเรียนว่าแบรนด์คนไทยระดับโลกมีอยู่แบรนด์เดียวคือกระทิงแดง ซึ่งก็ไม่ใช่คนไทยเป็นคนสร้างอีกด้วย อันนี้จึงจำเป็น

เรื่องที่สองคือต้องเปลี่ยนการใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล เรื่องเครื่องจักร ระบบออโตเมชัน ค่าแรงก็กำลังไล่ขึ้นมา นอกจากนี้กติกาโลกใหม่ต้องควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เราจึงต้องเปลี่ยนจากแรงงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะมาก เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง นี่คือสิ่งที่ต้องรีบเร่ง  .. ซึ่งก็พบว่าในอุตสาหกรรมดั้งเดิมครึ่งหนึ่งไปได้ แต่อีกครึ่งก็ยังใช้แรงงานแบบเข้มข้นอยู่ ‘

 

ประธานสภาอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นถึงกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน GCP ในอนาคต ซึ่งหากใครเรียนจบมาทางด้านดังกล่าวก็จะมีตลาดงานที่รองรับแน่นอน โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่ม S-curve

‘ กลุ่ม S Curve ประกอบไปด้วย

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศไทยเป็นอันดับสิบที่ส่งออกยานยนต์แบบสันดาปภายใน และมีแรงงาน 6 แสนคน มีมูลค่าการส่งออกเกือบ 10% ตอนนี้ลูกค้าอยากเปลี่ยนไปใช้ EV  จึงต้องเร่งในการปรับตัว ซึ่งทักษะคนละแบบกับที่เคยทำมาเลยสำหรับแรงงาน จึงต้องยกคุณภาพแรงงาน
  • Smart Electronics ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิต Harddisk drive เยอะที่สุดในโลก แต่อุตสาหกรรมนี้หยุดชะงักด้วยเทคโนโลยีใหม่ เรามีการจ้างงาน 8 แสนคน แต่ตอนนี้กำลังลดลง เพราะการผลิต Harddisk drive เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เมื่อเทียบกับการเขียนโปรแกรมหรืออย่างอื่น ที่ใช้แรงงานขั้นสูงและจะได้มูลค่าทางการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า
  • New S Curve อีก 7 ตัวจะเป็นอุตสหากรรมที่ไม่มีมาก่อน เช่น Medical Hub ประเทศไทยมีจุดที่เข้มแข็งคือภาคบริการดีมาก แต่เรายังขาดการผลิตยา ซึ่งอาศัยการนำเข้าเยอะมาก และยังขาดการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์

ซึ่งทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ต้องใช้ทักษะสูง นอกจากนี้ยังมีอีก 2 กลุ่ม คือ BCG  และกลุ่ม Climate Change  ทั้งสามกลุ่มคือ New Economy ที่เกิดขึ้นที่เราต้องการ New Skill ที่จะมาขับเคลื่อนกลุ่มนี้ได้ ’

 

ถอดการศึกษาไทย เรียนอะไรมีงาน? เมื่อตลาดปรับตัวไกลแต่การศึกษาไทยไปไม่ถึง

 

มองภาพการศึกษาไทย นำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาและตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

 

นายประสาน ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดข้อเท็จจริงการศึกษาไทย โดยเฉพาะในภาคแรงงานระดับล่างของครัวเรือนไทย ที่มองว่าต้องมีการเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา และเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา

 

โดยภาพรวมของประเทศไทยจะพบว่า หากอยู่ในชนชั้นที่มีฐานะดี จะเข้าถึงการศึกษาในระดับประถมศึกษา 99% ( 1% เป็นสาเหตุอื่นเช่นการเจ็บป่วย) เหลือ 94% เมื่อจบมัธยมต้น 84% เมื่อจบมัธยมปลาย และ 48% ที่จบระดับอุดมศึกษา

‘ แต่สำหรับเด็กที่ถูกจัดว่าอยู่ในระดับล่างของครัวเรือนไทยซึ่งมีทั้งหมด 20% เมื่อเปิดภาพรวมการศึกษาของเรา  จะพบว่าเด็กประถมสามารถจบมัธยมต้นจาก 99% เหลือ 70% ที่จบม.ปลายเหลือ 27% ไปถึงมหาวิทยาลัยคือ 8%’

โดยทางกสศ. พยายามจะทำความเข้าใจว่าทำไมเด็กที่เข้าสู่ระบบการศึกษาจึงหลุดจากระบบการศึกษา และจะทำอย่างไรที่เด็กที่หลุดออกมาจะสามารถพัฒนาตัวเองได้มากขึ้นหรือไม่? ก่อนที่จะไปถึงคำถามต่อไปที่ว่าเด็กควรจะเรียนอะไร นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาของผู้ปกครองกับเด็ก คือ ถ้าผู้ปกครองการศึกษาน้อยจะมีผลต่อการศึกษาของเด็กอีกด้วย

 

‘ เด็กและเยาวชนของเราต้องเข้าใจว่ามีทั้งอยู่ในระบบและนอกระบบ ส่วนที่ยังอยู่ในระบบตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี ปัญหาคือคุณภาพการศึกษา ผลลัพธ์ที่ต้องการคือ คุณภาพการศึกษาที่มากขึ้น

เมื่อกระเถิบไปในการศึกษาภาคบังคับเราพบว่าปัญหา คือ ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน เราต้องใช้การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทักษะการทำงาน สำหรับคนที่อยู่ในระบบ เราพบว่ากลุ่มนี้ม.3 ไม่เรียนต่อ คือ จุดที่หลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด นอกจากความพร้อมแล้ว คือ ทัศนคติที่ถามว่า เรียนไปทำไม? สู้ฉันหางานทำตอนนี้ได้เลยมั้ย? โจทย์คือการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทักษะทำอย่างไร

สำหรับเด็กที่หลุดจากระบบ ปัญหาคือเราจะสามารถนำเขาเข้ามาในระบบได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เราจะสามารถสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อพวกเขาได้หรือไม่ ทักษะห้องเรียนหรือครูต้องแตกต่างในการสอนและวัดผล นอกจากนี้ อายุเกิน 15 ไม่อยู่ในระบบการศึกษาและขาดทักษะตรงนี้เรามีเยอะมาก เราต้องรู้ว่าจะทำยังไง เป้าหมายคือการฝึกทักษะอาชีพเป็นสำคัญ’

 

ทั้งนี้ ภายในวงเสวนาดังกล่าว ยังสรุปได้ว่า การศึกษาไทยต้องขยับจากการศึกษาแบบเดิมๆ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างเช่น ในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา คอร์สที่เรียนก็ต้องมีการรวบรวมหลายหลักสูตรที่จำเป็นในการทำงาน เข้ามาในหลักสูตรเดียว

นอกจากนี้การจัดคอร์สระยะสั้น ใช้เวลาเรียนไม่มากนักก็เป็นทางออกที่สำคัญ ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กที่ยากจน สามารถใช้เงินในการเรียนน้อยลง และเข้าสู่ระบบการทำงานที่มีตลาดรองรับได้เลยแล้ว ยังช่วยให้ภาคแรงงานมีทักษะที่จำเป็นมากขึ้นอีกด้วย

และมองว่าการจะแก้โจทย์ใหญ่ของประเทศอย่าง ‘การศึกษา’ ต้องแก้ไขไปด้วยกันในทุกภาคส่วน เริ่มจากมองว่าตลาดแรงงานต้องการอะไร และภาคการศึกษาสร้างหลักสูตรที่สอดคล้องและปรับตัวได้รวดเร็วตามที่ตลาดต้องการหรือไม่  และเน้นย้ำว่า ‘การศึกษา’ คือปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และควรจะจัดการอย่างเร่งด่วน   … ทำแบบนี้แล้ว ‘เรียนรู้เพื่ออยู่รอด’ จึงจะเกิดขึ้นได้จริง ในยุคที่โลกเปลี่ยนผ่านหมุนเร็ว และประเทศต้องการแรงงานคนในการขับเคลื่อนเพื่อความอยู่รอด

 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี

 

เกี่ยวกับแนวคิด  ‘Leart to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด’ จากมูลนิธิเอสซีจี

มูลนิธิเอสซีจี ได้ดำเนินงานเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมานานกว่า 60 ปี เป็นจำนวนกว่า 100,000 ทุน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างคนให้เติบโตเป็นทั้งคนเก่งและดี มีน้ำใจ แต่ปัจจุบันพบว่า ยังมีผู้ว่างงานจำนวนมากเพราะทักษะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จึงเกิดเป็นแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด ด้วยหวังว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

โดยมองว่าการศึกษาต้องปรับตัว ร่วมพลังกันทุกภาคส่วน เพราะการศึกษาในโลกยุคใหม่ คือการเรียนรู้ ที่ผู้เรียน ผู้สอน ผู้ใช้งาน ต้องปรับตัวเข้าหากัน ทักษะความรู้สำคัญไม่แพ้ทักษะชีวิต

แนวคิด Learn to Earn มุ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาน้อยลง เมื่อมีอาชีพ มีรายได้ คนในสังคมก็จะพึ่งพาตัวเองได้ และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน.