posttoday

คุยกับ ‘เยือนเย็น’ การแพทย์บนแนวคิดใหม่ เมื่อเราสามารถเลือกการตายได้ (1)

10 พฤศจิกายน 2566

'ถ้ารักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย' จะเลือกอะไร? บางคนเลือกสู้กับการรักษาให้ถึงที่สุด แต่มีคนกลุ่มหนึ่งเลือกยอมรับ 'การตาย' และใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพ โดยพึ่งพา 'เยือนเย็น' ที่มีเบื้องหลังเป็นบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำที่เคยอยู่ในระบบ 'สู้จนตาย' มาก่อน

อาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ได้อ่าน คือการออกมาประกาศการคาดการณ์การตายของคุณหมอ  จากเพจ สู้ดิวะ  .. อย่างไรก็ตามเมื่อได้อ่านหนังสือของคุณหมอ เนื้อหากลับไม่ใช่การสอนให้ต่อสู้กับโรคร้ายอย่างที่คิด แต่กลับสอนให้ใช้ชีวิตธรรมดาในทุกวันอย่างมีคุณภาพมากที่สุด ในทุกปัจจุบันขณะนั้นคือหัวใจสำคัญของการมีชีวิตอยู่ และคือสาระสำคัญที่ใครหลายคนต่างนำไปโควทในโซเชียลมีเดียของตัวเอง

 

นั่นทำให้เรานั่งทบทวนเรื่องความตายอีกครั้งหนึ่งอย่างมีสติ เพราะก่อนหน้าที่จะมาถึงบทความนี้ทางโพสต์ทูเดย์ก็ได้เขียนประวัติศาสตร์แนวคิดการตายของมนุษยชาติเอาไว้เช่นกัน  ก็ปรากฎว่า ‘เรารู้จักความตายน้อยมาก’ .. และถ้าหากจะหาใครที่เข้าใจความตายได้ดีไม่แพ้ใคร ก็ต้องเป็นคุณหมอ และโดยเฉพาะคุณหมอที่ต้องพบเจอกับโรคร้ายและการจากไปอยู่เสมออย่าง ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ศาสตราจารย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม ‘เยือนเย็น’

 

คุณหมออิศรางค์ นุชประยูร

 

การตายของผู้ป่วยมะเร็งเด็ก .. จุดเริ่มต้นของเยือนเย็น

 

ก่อนที่จะมาก่อตั้ง ‘เยือนเย็น’ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ยึดมั่นในหลักการ ‘อยู่สบาย ตายสงบ’ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คือหนึ่งในแพทย์ที่ถูกสอนให้ ‘สู้จนตาย’ มาก่อน จากสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการแพทย์ในอเมริกา

 

‘ แรกเริ่มเลยผมรักษาเด็ก และเจอเด็กที่เป็นมะเร็งอยู่เยอะ ในวันแรกที่รักษาเด็กผมรักษาเด็กหายเยอะแยะเลย แต่มีเด็กบางคนไม่หาย ผมก็ให้ยารอบสองรอบสาม แต่สุดท้ายก็ตาย .. ผมถูกเทรนด์มาว่าต้องสู้ตาย ถ้าล้มเหลวก็ให้ยารอบสอง ให้ยาแบบทดลองต่างๆ ซึ่งสุดท้ายแม้แต่ในอเมริกาเอง คนไข้ก็ตายไปเพราะทรมาน’ คุณหมออิศรางค์เล่าถึงที่มาอย่างตรงไปตรงมา

 

‘ พอกลับมาเมืองไทย ก็รักษาแบบเดิมให้ยารอบแรกไม่รอด รอบสองก็พบว่าคนป่วยเสียตังค์ฟรี วันหนึ่งผมก็คิดขึ้นมาได้ว่า ทำไมผมต้องให้สอง สามรอบแล้วตายล่ะ ทั้งๆที่ผมรู้ตั้งแต่รอบสองแล้ว ผมก็คิดว่ามันมีอะไรที่ดีกว่านี้ …   ในที่สุดทำงานมา 15 ปี ก็ค้นพบวิธีการที่เราเรียกว่า  ‘การรักษาแบบประคับประคอง’ ในปัจจุบัน

 

กว่าที่จะเริ่มต้นงานด้านการรักษาแบบประคับประคอง คุณหมอยอมรับว่าสู้กับตัวเองมามากพอสมควร เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ถูกสอนว่า ‘ควรให้การรักษาที่ดีที่สุด และหลีกเลี่ยงความล้มเหลว’ ซึ่งความล้มเหลวที่มากที่สุดสำหรับแพทย์ คือ ‘ความตาย’

 

‘ ผ่านมาสักพักผมก็รู้ว่าไม่มียาที่วิเศษขนาดนั้นหรอก หรือกว่าจะพัฒนาขึ้นมาได้ก็ต้องใช้เวลานาน .. ‘

 

ผู้ป่วยเด็กอยากไปทะเล

 

ต้องรักษามั้ย? คำถามที่แพทย์และผู้ป่วยไม่เคยพูดคุยกัน

 

คุณหมอเล่าว่า เมื่อคนไข้เข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล แพทย์จะมีหน้าที่รักษาอย่างดีที่สุด โดยไม่เคยคุยกันว่า

 

‘ต้องรักษาหรือไม่’ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญ

 

‘ ถ้าเป็นคนวัยหนุ่มสาว รักษามะเร็งหายได้เยอะ แต่ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวันนี้ ..  วัยนี้เป็นวัยเดียวที่เสียชีวิตเยอะจากการเป็นโรคมะเร็ง’

 

คุณหมออธิบายว่า จำนวนมะเร็งที่เยอะขึ้นนั้นเป็นเพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่อัตราการเป็นมะเร็งไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด มะเร็งบางอย่างลดลงด้วยซ้ำ

 

‘  โดยค่าเฉลี่ยคนแก่ อายุ 70 กว่าสามารถมีโอกาสเป็นมะเร็งได้เกือบ 2 เท่าของคนอายุ 60  อายุ 80 สิบกว่ามีโอกาสเป็นมะเร็ง 2 เท่าของคนอายุ 70 กว่า เอาเป็นว่าถ้าอายุถึง 120 ปีก็คงเป็นมะเร็งตายกันหมด เพียงแค่ว่าเป็นโรคอื่นตายก่อนนั่นเอง ’

 

คุณหมอพูดอย่างตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อมว่า

 

‘ แล้วคนแก่อยากรักษามั้ยล่ะ ถ้ารู้ว่ารักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย ’

 

คุณหมอพบว่ามีบางคนที่เขาแค่อยากจากไปแบบไม่ทรมาน .. ชีวิตนี้ใช้มาคุ้มแล้ว

 

‘ ถ้าอยากสู้ต่อ เราก็ไม่ห้าม แต่เขาจะต้องเจ็บตัว ทรมานก่อนตาย และค่าใช้จ่ายสูงมาก ทุกวันนี้ในอเมริกาบ่นว่าคอร์สสูงมาก แม้กระทั่งหมอก็บ่นว่าทำไมสูงอย่างนี้  แต่ต้องจ่ายเพราะทุกคนเป็นนักสู้ ไม่มีใครยอมรับเรื่องความตายได้เลย …  แต่ในประเทศไทย ลองถามผู้สูงอายุบางคนกลับบอกว่า อยากอยู่เท่านี้แหละ ไม่อยากอยู่นานขึ้นก็มี ’

 

‘ สังคมไทยเข้าใจสัจธรรมจำนวนมาก มองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ … สิ่งที่ทุกคนกลัวกันไม่ใช่ความตายแต่เป็นความทรมาน’

 

‘ ถ้าผู้สูงอายุคิดแบบนี้ อยากอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาลก็คงไม่ตอบโจทย์ โรงพยาบาลเชี่ยวชาญการยื้อชีวิตผู้คน เพราะหมอถูกเทรนด์มาแบบนี้  เดินเข้าโรงพยาบาลก็สันนิษฐานเลยว่าอยากยืดชีวิต ถ้าไปและบอกว่าไม่อยากยื้อชีวิต ก็จะขัดวัตถุประสงค์ คุณต้องยอมเจ็บเพื่อจะยืดชีวิต  แต่ถ้าปรัชญาของเจ้าตัวบอกว่าโอเคกับชีวิตที่ผ่านมา และความตายที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาลสิ แต่คำถามคือ ใครจะดูแล?’

 

และนี่จึงเป็นที่มาของ ‘เยือนเย็น’

 

ความเข้าใจเรื่อง Palliative care หรือการรักษาแบบประคับประคอง ยังคงไม่แพร่หลาย

 

หากกล้าพูดเรื่องความตาย ทุกคนจะสามารถเลือกการตายของตนเองได้

 

เยือนเย็น คือวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ให้บริการการดูแลรักษาแบบประคับประคองภายใต้หลักการ ‘อยู่สบาย ตายสงบ’ ให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการ โดยมองว่า ระยะสุดท้ายของชีวิตนั้น ไม่ใช่การจากไปอย่างสงบอย่างเดียว แต่มันคือช่วงเวลาที่ผู้ป่วยจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้อย่างเต็มที่ โดยเน้นที่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง

 

‘ It’s about Living’ คุณหมออธิบาย โดยสิ่งที่สำคัญและทำเป็นอันดับแรก คือ การชวนคุยเรื่อง ‘ความตาย’  และควานหาสิ่งที่จะเพิ่ม ‘คุณภาพชีวิต’ ที่ดีแก่ผู้ป่วย

 

‘ เวลาต้องแจ้งญาติว่าคนไข้เสียชีวิต ไม่มีแพทย์คนไหนอยากจะแจ้งหรอก .. เวลาคนไข้ใกล้ตาย โรงพยาบาลก็อยากให้กลับไปตายที่บ้าน ส่วนหนึ่งเพราะจะได้ตายในที่ๆ คุ้นเคย อีกส่วนคือถ้าตายในโรงพยาบาล สถิติของโรงพยาบาลก็ดูไม่ดี’

 

แม้กระทั่งในโรงพยาบาล ‘การตาย’ ก็เป็นเรื่องต้องห้าม

 

คุณหมออิศรางค์บอกต่อว่า ‘ การพูดคุยเรื่องความตาย ไม่ใช่เรื่องสามัญที่ทุกคนชวนคุยกันได้ มันต้องมีสกิลหรือสถานการณ์บางอย่างที่เหมาะสมถึงจะชวนคุยเรื่องความเป็นความตายได้’

 

สิ่งที่ ‘เยือนเย็น’ จะทำหลังจากได้รับการติดต่อคือ การเข้าไปพูดคุย โดยคุณหมอจะประเมินอาการ หากยังสามารถรักษาหายได้ คุณหมอก็จะส่งคนไข้เข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว และคนไข้มีเจตจำนงที่จะไม่รักษาต่อ ทาง ‘เยือนเย็น’ ก็จะเข้าสู่กระบวนการชวนคุยว่าแต่ละคนอยากได้อะไรจากชีวิตที่เหลืออยู่

 

‘ สิ่งที่เราทำคือต้องไปคุยกับครอบครัวที่บ้าน ครบทุกคน ทั้งครอบครัว ทุกคนจะต้องเคารพสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ ไม่ใช่การคุยกันเอง เพราะแต่ละคนก็อยากได้คนละแบบ นี่ไม่ใช่การตกลงร่วมกัน แต่ต้องเคารพสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ เพราะเท่าที่มีประสบการณ์ มันมีความขัดแย้งเสมอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

คุณหมอเล่าว่า ในบางครั้งที่ลูกหลานไม่เห็นด้วย ก็ต้องถามว่าเพราะอะไร อยากจะมีเวลามากขึ้นเพื่อทำอะไรกับคุณพ่อคุณแม่ ถ้ามีก็เริ่มทำตอนนี้ได้เลยเหมือนกัน กับการยื้อชีวิตไปเพื่อรอให้ได้ทำในอนาคตข้างหน้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้ทำหรือไม่

 

‘ หลังจากเขาโอเค เราจะทำทุกอย่างเพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตของทุกคน  คำถามคือ ต้องหาว่า คุณภาพชีวิตของแต่ละคนคืออะไร เช่น เขาบอกว่าผมชอบกินกาแฟ แต่ลูกบอกว่ากาแฟไม่ดีต่อมะเร็ง เพราะฉะนั้นคนที่ขัดขวางคุณภาพชีวิตคือลูกนั่นแหละ เขาต้องได้กินกาแฟ กินเข้าไป เพราะมันคือความสุข เพราะกินก็ตายไม่กินก็ตาย ก็จะได้ความสุขกลับมา …  บางคนบอกว่าจะตายละต้องฟังธรรมะ แต่เขาไม่เคยฟังเลย ฟังสุนทราภรณ์มาทั้งชีวิต ให้ทำตอนนี้ไม่มีประโยชน์หรอก ให้ของใหม่ตอนนี้ไม่เกิดประโยชน์ .. บางคนไม่อยากอยู่เพราะเจ็บปวด ทรมาน เราจะทำให้มันหายไปเลย บางคนต้องการแบบนี้ มะเร็งตายไม่กลัว กลัวทรมาน ปวดหายได้ เหนื่อยทำได้ ไม่อยากกินข้าวก็ต้องไปบอกลูกว่าอย่าบังคับ เพราะถ้ามีใครไปควบคุมให้เขาทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ เขาก็ไม่อยากอยู่ คุณภาพชีวิตก็แย่’

 

เราถามคุณหมอกลับว่า เหมือนสิ่งที่เยือนเย็นทำ พลิกความคิดของคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะเราถูกสอนให้ทำทุกอย่าง ดูแลตัวเอง เพื่อจะรักษาชีวิตของตัวเองไว้

 

ใช่ครับ การทำแบบนี้มันพลิกความคิดของผู้คนไปหมด ต้องทำตรงกันข้ามกับ common sense ทุกอย่าง จึงต้องมีคนไปชวนคุยและจัดระเบียบความคิดใหม่สำหรับคนที่พร้อมจะตาย  เพราะสิ่งที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตคือทำอย่างไรให้อยู่ยาวๆ ทั้งหมด เช่น ระมัดระวังการกิน หลายอย่าง แต่ในเมื่อเจ้าของชีวิตไม่ต้องการแบบนั้น ก็ต้องลำดับความคิดใหม่หมดเลย เราคือคนที่ไปช่วยจัดระเบียบความคิดของเขารวมไปถึงคนรอบข้าง’

 

คุยกับ ‘เยือนเย็น’ การแพทย์บนแนวคิดใหม่ เมื่อเราสามารถเลือกการตายได้ (1)

 

นอกจากการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และการขจัดความเจ็บปวดออกไป อีกสิ่งที่เยือนเย็นทำคือ การเทรนด์และสอนสมาชิกที่บ้านให้ดูแลผู้ป่วย

เราบอกเสมอว่าคุณนั่นแหละรู้ใจผู้ป่วยที่สุด พยาบาลเขาทำตามหน้าที่ ไม่ได้รู้จักพ่อแม่เราจริงๆ หรอก แล้วคุณกังวลเรื่องอะไร เขาก็จะบอกว่า กังวลถ้าฉุกเฉิน ถ้าปวดขึ้นมา เราก็จะคลายความกังวลและถ้าเกิดขึ้นจริงก็แค่โทรหาเรา เพราะความจริงแล้วมันเป็นเพราะความกลัวที่เราไม่กล้าที่จะจัดการกับมันเท่านั้น

ผมสามารถคาดการณ์ได้หมดว่าอะไรจะเกิดขึ้น ว่าช่วงนี้คุณแม่จะนอนหลับนะ จะไม่ตื่นมากิน อย่าบังคับ บางคนเข้าใจว่าต้องพยายามป้อนน้ำ เราก็บอกไปว่าแต่ละระยะจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และมันเป็นตามธรรมชาติ ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน’ และทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ ‘ผู้ป่วยและคนรอบข้างยอมรับและพร้อมกับความตาย’ แล้วเท่านั้น

 

ไม่ใช่การทำให้สังคมยอมรับ แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้ป่วย

 

สาเหตุหนึ่งที่คุณหมอตั้งใจจะเปิด ‘เยือนเย็น’ ที่ดำเนินการในรูปแบบของเอกชนด้วยตัวเอง เป็นเพราะประสบการณ์ที่เจอในระบบของโรงพยาบาล

 

เวลาอยู่โรงพยาบาล เราเข้าถึงผู้ป่วยที่อาจมีความต้องการแบบนี้ช้าไป เพราะโดยปกติคนไม่รู้ว่ามีทางเลือกนี้ให้พวกเขา เขาก็มุ่งไปหาหมอ หมอก็ยืดชีวิตหรือทำให้หาย คือเดาไปเลยว่าแบบนี้ แต่ข้ามคำถามไปเลยว่าพวกเขาต้องการรึเปล่า และไม่เคยบอกว่าจะหายหรือเปล่า บางครั้งไม่หายด้วย หมอไม่มีเวลาคุยกับคนไข้หรอก มีเวลาห้านาที คนไข้เยอะ ก็ไม่ได้รู้ความต้องการของคนไข้จริงๆ คนไข้ก็เข้าใจว่าหมอเสนอทางเลือกที่ดีที่สุด

ปกติในโรงพยาบาลมีการเสนอทางเลือกแบบรักษาแบบประคับประคอง แต่นั่นจะเกิดขึ้นจากการล้มเหลวทางการรักษาไปแล้ว 2-3 ครั้ง รักษาไม่ได้ พวกผมได้ดูตอนท้าย ก็ได้เตรียมตัวตายเฉยๆ แต่ไม่เคยได้ใช้ชีวิตเลย ผมอยู่ในโรงพยาบาลผมรู้ว่าระบบเป็นแบบนี้ แต่ผมไม่อยากได้แบบนี้ ผมอยากดูแลคนไข้ไวๆ ตั้งแต่วันแรกที่เขาไม่อยากรักษา เราจึงทำสิ่งนี้เพื่อข้ามระบบในโรงพยาบาลที่อยากให้ทุกคนสู้ตาย เราข้ามไปและติดต่อกับคนไข้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านระบบโรงพยาบาล’

 

สำหรับการรักษาแบบประคับประคองที่หลายคนอาจเข้าใจ คือการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่สำหรับ ‘เยือนเย็น’ นั้นไม่ใช่

 

เราอยากให้เขาได้ใช้ชีวิตทุกช่วงเวลาอย่างมีความสุข ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าสุดท้ายหรือไม่สุดท้าย บางคนใช้ชีวิตอย่างดีทุกวันก็มีความสุขทุกวันได้ และทำให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เพื่อให้คนเข้าใจง่ายก็พูดว่าคือระยะสุดท้าย  แต่จริงๆ แล้วคือให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตที่เขาเลือกในทุกๆ วันเริ่มตั้งแต่วันนี้’

 

เราถามไปว่าแนวความคิดแบบนี้ ยากแก่การโน้มน้าวให้คนที่ไม่ได้คิดมายอมรับหรือไม่?

 

ผมคิดว่าเราไม่ต้องเปลี่ยนความคิดใคร เราต้องเคารพทัศนคติที่หลากหลาย และเปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วย แค่มองว่าคนไหนอยากได้ เรามีทัศนคติตรงกันก็ไปด้วยกันได้ แต่บางคนอยากจะสู้ตายเขาก็ไม่เลือกเส้นทางนี้อยู่แล้ว  ก็เป็นสิทธิของเขา  .. ผมคิดแค่ว่ามีคนที่คิดแบบนี้อยู่ที่ไหน เราจะได้เข้าถึงได้รวดเร็วที่สุด ไม่ต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาล ผมแค่พยายามจะสร้างบริการทางสุขภาพที่เหมาะกับพวกเขาเท่านั้น’

 

การพูดคุยกับคุณหมออยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในตอนต่อไป เปิดสถิติ ‘เยือนเย็น’ สามารถช่วยเหลือระบบสาธารณสุขไทยแล้วกว่า 37 ล้านบาทด้วยระบบเล็กๆ ของตนเอง คุณหมอทำได้อย่างไร และสำหรับใครที่สนใจ ‘เยือนเย็น’ มีบริการคัดกรองสำหรับผู้ที่สนใจเกิดขึ้นแล้ว สำหรับรายละเอียดสามารถติดตามได้ในตอนต่อไป

 

คุยกับ ‘เยือนเย็น’ การแพทย์บนแนวคิดใหม่ เมื่อเราสามารถเลือกการตายได้ (1)

ขอขอบคุณ

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.อิศรางค์ นุชประยูร

ผู้ก่อตั้ง 'เยือนเย็น'

FB: เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม