posttoday

สำรวจความเชื่อเรื่อง'ตาย' ผ่าน ‘สัปเหร่อ’ ‘ฮาโลวีน’ และ ‘มัสยิดอัลอักซอร์’

31 ตุลาคม 2566

หนังสัปเหร่อ เทศกาลฮาโลวีน และมัสยิดอัลอักซอร์ที่นครเยรูซาเล็ม เกี่ยวพันและเกี่ยวข้องกับความคิดของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบันอย่างไรกับความเชื่อเรื่อง ‘ความตาย’

เราอยากจะขอเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า

 

หลายคนไม่อยากอ่าน เพราะเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นเรื่องชวนหดหู่

 

มนุษย์จึงมีเทศกาลฮาโลวีน และแทนที่จะชวนหดหู่ เทศกาลนี้กลับกลายเป็นงานรื่นเริงในคืนปล่อยผี เราทำให้ภาพยนตร์สัปเหร่อ เป็นภาพยนตร์ตลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายแม้จะพูดเรื่องการจากลาอยู่เนืองๆ  เราทำให้มัสยิดอัลอักซอร์กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ เป็นที่พึ่งของจิตใจในวันที่เราต้องเสียชีวิต

 

แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่ แต่แท้ที่จริงแล้วทั้ง 3 เรื่องนี้ได้ซ่อน ..

แก่นแท้และความเชื่อเรื่อง ‘ความตาย’ เอาไว้ .. ที่โพสต์ทูเดย์จะพาทุกคนไปสำรวจกัน!

 

คนโบราณ ยอมรับความตายได้ง่ายกว่าคนในปัจจุบัน

 

ทุกวันนี้หลายคนไม่อยากตาย .. และมีผลวิจัยออกมานานัปการว่ามนุษย์มีชีวิตได้ยืนยาวขึ้นจากวิทยาการทางการแพทย์ ซึ่งยิ่งทำให้เรามีความหวังที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างยืนยาว ในขณะที่บทสนทนาภายในครอบครัวก็หลีกเลี่ยงการพูดถึงความตายอยู่ตลอด เพราะจะเป็นการ ‘แช่งกัน’ จะพูดอีกทีก็ตอนที่นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลก็มี! ซิกมันต์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชื่อดังของโลกก็เคยกล่าวว่า ภายในจิตลึกๆ ของมนุษย์ มนุษย์เชื่อว่าเราจะอยู่ได้อย่างเป็นอมตะ ไม่มีใครจินตนาการถึงความตายของตัวเอง!

 

แต่ในสมัยโบราณ ตั้งแต่ช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุขัยของมนุษย์เฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีเท่านั้น ผู้คนในยุคนั้นคุ้นชินกับการตาย ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ การล่าเผ่าพันธุ์และการฆ่าฟันกัน พวกเขาได้พัฒนาแนวความคิดเรื่องการตายและชีวิตหลังความตายไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการฝังข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไปพร้อมกับผู้ตาย และเชื่อว่าวิญญาณของพวกเขาจะไปอยู่ในอีกที่หนึ่งหลังความตาย

 

ในอีกยุคหนึ่งที่มีการยอมรับความตายได้ง่ายคือในสมัยกรีก .. บรรดานักปราชญ์เชื่อว่าการตายเป็นการปลอดปล่อยวิญญาณออกจากร่างกายเท่านั้น โดยเชื่อว่าวิญญาณมีอยู่ก่อนร่างกาย จึงมองว่าความตายเป็นทางผ่านไปอีกสิ่งหนึ่งและเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติมาก .. อย่างเช่น โสกราตีส ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่แสดงออกถึงการยอมรับการตาย เมื่อเขาถูกตัดสินประหารชีวิต โดยการดื่มยาพิษ เขาเพียงล้มตัวลงนอน แต่ก่อนที่จะเสียชีวิตเขาลุกขึ้นนั่งแล้วพูดกับเพื่อนว่า  ‘ คริโต ฉันเป็นหนี้ไก่ตัวหนึ่งกับแอสเคลปิอุส คุณจะช่วยชำระหนี้นั้นได้หรือไม่’ แล้วก็ล้มตัวนอนลงตาย!

 

สำรวจความเชื่อเรื่อง\'ตาย\' ผ่าน ‘สัปเหร่อ’ ‘ฮาโลวีน’ และ ‘มัสยิดอัลอักซอร์’

 

การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเขาเพียงแค่คิดว่าการตายเป็นทางผ่านไปสู่สิ่งอื่น ที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตนี้นั่นเอง นอกจากนี้ชาวกรีกบางคนยังมีความเชื่อที่ว่าวิญญาณจะกลับชาติมาเกิดหลายครั้งจนกระทั่งวิญญาณบริสุทธิ์

 

ยุคกลาง ... ความกลัวตายบังเกิด

 

ในยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคที่เกิดสงครามหลายครั้งในฝั่งตะวันตก ผู้คนต่างเริ่มมีความหวาดกลัวกับความตาย แต่อยู่ภายใต้ความเชื่อของศาสนามากยิ่งขึ้น โดยพวกเขาจะจัดการความกลัวต่อความตายนี้ด้วยการเข้าร่วมกับศาสนา เพราะศาสนาสามารถให้คำตอบได้ว่าเมื่อตายแล้วพวกเขาจะไปไหนกันแน่ ..  และด้วยความที่การแพทย์ในยุคนี้ยังไม่ก้าวหน้า เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า หากคนตายอย่างไม่ทรมาน กลับถูกมองว่าเป็นการตายที่แปลกประหลาด เพราะคนส่วนใหญ่จะทุกข์ทรมานมากก่อนที่จะเสียชีวิต ..

 

ความเชื่อเรื่องสถานที่หลังความตายซึ่งสวยงาม เต็มไปด้วยทุ่งดอกกุหลาบและดอกไม้ ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน เพราะในยุคกลางนี้ได้มีจิตรกร และศิลปินสร้างเรื่องของความตายที่เต็มไปด้วยความงาม ประสบการณ์ที่พบกับความเป็นสุข และได้กลับไปอยู่กับคนที่รักอีกครั้ง เกิดขึ้นในช่วงนี้

 

อันที่จริงภาพหลังความตาย เป็นเรื่องที่แตกต่างกันอยู่หากนำประเด็นของศาสนามาพิจารณา สำหรับศาสนาพุทธเชื่อว่าวิญญาณที่ออกจากร่างจะไปเวียนว่ายตายเกิด ความน่ากลัวของความตายก็แต่เพียงการจากลากับคนในปัจจุบัน ส่วนศสนาคริสต์มองว่าการตายคือสถานการณ์ชั่วคราว เมื่อเราตายเราจะถูกไปอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่าไฟชำระ เพื่อรอวันพิพากษา และดูว่าเราจะได้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก ศาสนาอิสลามก็เช่นกัน การตายเป็นการสละจากโลกนี้ชั่วคราวเท่านั้น และรอวันพิพากษาเฉกเช่นเดียวกับศาสนาคริสต์

 

และนี่คือจุดที่มัสยิดอัล-อักซอร์ อย่างที่เปรยไว้เข้ามามีบทบาท

 

ความสำคัญของมัสยิดอัล- อักซอร์นั้น คือเป็นสถานที่ ๆ ศาสดามูฮัมหมัดขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากที่เขาอยู่ที่มัสยิดอัลฮารัมแห่งนครเมกกะ แต่จู่ๆ ก็ถูกส่งตัวไปยังมัสยิดอัลอักซอร์ในกรุงเยรูซาเล็มได้อย่างมหัศจรรย์และเสด็จสู่สวรรค์  เพราะฉะนั้นบริเวณใกล้ๆ กับมัสยิดแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยสุสานของชาวมุสลิมตั้งแต่ครั้งในอดีต เพราะพวกเขาเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้ เมื่อถึงวันพิพากษาของโลก หากได้ฝังร่างตนในบริเวณนี้จะทำให้พวกเขาได้ไปสวรรค์เฉกเช่นเดียวกับศาสดา

 

มัสยิดอัลอักซอร์

 

งานฮาโลวีน เพราะโลกความตายมันน่ากลัว

 

แม้ฮาโลวีนจะมาจากรากความเชื่อทางตะวันตก แต่มันก็แหวกจากความเชื่อของคริสต์ศาสนา ที่เป็นฐานรากของชาวตะวันตกที่มองว่าชีวิตหลังความตาย คือการไปสวรรค์และอยู่กับพระเจ้าไม่ใช่น้อย โดยฮาโลวีนซึ่งจัดขึ้นในทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีเชื่อว่าวันนี้ คือ วันที่โลกนี้ และ “โลกหน้า” โคจรมาอยู่ใกล้กันมากที่สุด ทำให้เหล่าวิญญาณของคนที่ล่วงลับไป สามารถกลับมายังโลกนี้และหาร่างสิงสู่ได้ จึงต้องแต่งตัวเลียนแบบผีกันไปเพื่อพรางไม่ให้ผีคิดว่านี่คือคนนะ แล้วจะมาสิงสู่ได้นั่นเอง …

 

สำรวจความเชื่อเรื่อง\'ตาย\' ผ่าน ‘สัปเหร่อ’ ‘ฮาโลวีน’ และ ‘มัสยิดอัลอักซอร์’

 

โดยสรุปแล้ว มนุษย์จัดการ ‘ความกลัวในเรื่องการตาย’ ให้น้อยลง ด้วยใช้ความเชื่อของโลกหลังความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง จะดีหรือน่ากลัวอย่างไรก็แล้วแต่แต่ละวัฒนธรรม .. แต่ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าถ้าทำดีก็จะได้ไปอยู่ในโลกหลังความตายที่ดีกว่าเสมอ ทำให้คนเราทำใจยอมรับได้บ้างกับความตาย .. แม้มันจะเป็นวิธีการที่อ้อมๆ มาแต่ไหนแต่ไร  .. แต่วิธีการนี้ก็ใช้ได้มานานเป็นพันๆ ปีเช่นกัน!

 

ยุคใหม่ .. ความตายเป็นเรื่องต้องห้ามไปเสียนี่!

 

ความกลัวต่อชีวิตหลังการตาย นั้นพัฒนาขึ้นอย่างมาก ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลางยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ความตายต้องห้าม’ เพราะความตายเป็นเรื่องน่าละอายและต้องห้าม รวมไปถึงไม่ควรที่จะพูดถึง .. ด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ใจนัก ผู้คนที่กำลังจะตายจะไม่ได้รับการถูกเปิดเผยว่าตนกำลังจะตาย เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของบุคคลนั้น

 

เราพบว่าในยุคดังกล่าว ความโศกเศร้าของการเสียชีวิตมีมากขึ้นอย่างพุ่งพรวด!!  และเกิดพิธีกรรมรำลึกถึงผู้ตายที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และสำหรับชาวตะวันตก นี่คือต้นกำเนิดของผู้ดูแลงานศพ ที่เรียกว่า  Undertaker นั่นเอง (หรือสัปเหร่อในบ้านเรา) ในงานจะมีการเรียกญาติมารวมตัวกันและบอกลาผู้เป็นที่รักเกิดขึ้น รวมไปถึงการเตรียมจิตใจสำหรับคนตาย

 

สำรวจความเชื่อเรื่อง\'ตาย\' ผ่าน ‘สัปเหร่อ’ ‘ฮาโลวีน’ และ ‘มัสยิดอัลอักซอร์’

 

ต่อให้เป็นในประเทศไทย ก็ปรากฎหลักฐานว่า สัปเหร่อ เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยก็ต่อเมื่ออิทธิพลและวัฒนธรรมของตะวันตกเข้ามาเช่นกัน ในสมัยรัชกาลที่ 5 พวกเขามีหน้าที่จัดการความเรียบร้อยของศพ เพราะแต่เดิมศพของบุคคลที่ไร้ญาติหรือเสียชีวิตบางคนถูกวางไว้ตามรายทางและในยุคนั้นประชาชนก็มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะศพไร้ญาติ จึงต้องมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว จนกระทั่งในปี 2460 นั่นแหละ รัฐสยามถึงได้มีการกำหนดให้มีป่าช้า และนายป่าช้า เข้ามาจัดการศพอย่างเป็นทางการ

 

และความตายก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน

 

ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทรัพย์สินและตัวตนที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะในโลกจริงหรือโลกโซเชียลมีเดีย ความตายทำให้มนุษย์กลัวที่จะไร้ตัวตน กลัวที่จะถูกตัดแยกออกจากสิ่งที่ตนเองเคยมี และกลัวความไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่เคยมีใครให้คำตอบได้เสียที

 

เราคิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะยืดอายุการใช้ชีวิตให้มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตามในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 ทัศนคติต่อความตายของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไป เกิดหนังสือและบทความที่พูดถึงความตายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการยอมรับความตายมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในวงการการแพทย์

 

กระบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้หลายคนอยากที่จะกลับไปตายอย่างสงบที่บ้าน และต้องพูดว่าในสังคมตะวันตกเริ่มหันมาเข้าใจและยอมรับการตายง่ายขึ้นและไม่ทรมาน  ในปี 2005 มีคำพูดหนึ่งของสตีฟ จ๊อบ ที่ฉายภาพความคิดของเขาต่อการตายโดยมองว่า สุดท้ายแล้วในความเป็นจริง การตายคือส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ...

 

สำรวจความเชื่อเรื่อง\'ตาย\' ผ่าน ‘สัปเหร่อ’ ‘ฮาโลวีน’ และ ‘มัสยิดอัลอักซอร์’

 

สัปเหร่อ หนังตลกที่กระชากให้คนไทยหันกลับมามองความตายแบบพุทธอีกครั้ง

 

ต่างจากสังคมตะวันตก สำหรับสังคมบ้านเราที่โตมากับความเชื่อทางพุทธศาสนานั้นสะท้อนออกมาได้ดีผ่านฉากทัศน์ภายในเรื่องสัปเหร่อ ต้องยอมรับว่านอกจากความตลกและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ถูกเสนออย่างมีเสน่ห์ออกมาแล้ว ส่วนหนึ่งที่แนบเนียนไปในเรื่องคือการมอง ‘ความตาย’ อย่างเป็นปกติธรรมดา

 

ในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้เสมออย่างเช่น เกิด แก่ ดับไป เป็นเรื่องธรรมดา หรือการมองการตายเป็นเรื่องธรรมชาตินั้น ผูกพันอยู่กับความเชื่อของคนไทยมานานมากแล้ว

 

การถูกสอนไม่ให้ยึดติดกับวัตถุ ทำให้กระบวนการตายของคนที่เข้าใจแก่นของพุทธศาสนาสละ ละ และปลงได้ง่ายขึ้น ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แม้กระทั่งการไม่ยึดติดกับชีวิตและสังขารของตนเองก็เช่นเดียวกัน โดยสอนให้เกิด มรณานุสติ หรือ การระลึกถึงความตาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับพุทธศาสนาแต่อย่างใด การสอนให้เจริญมรณานุสตินั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เศร้าโศก หรือคุยเรื่องอัปมงคล แต่ทำให้จิตเกิดปัญญา และลดการยึดมั่นถือมั่นลง

 

แนวความคิดเช่นนี้ ทำให้ผู้คนในยุคใหม่ มีวิธีการคิดแบบใหม่ เมื่อพวกเขายอมรับว่าวันหนึ่งจะต้องตายโดยไม่เกรงกลัวมากนัก พวกเขาจึงใช้ชีวิตให้วิเศษมากที่สุด และเติมเต็มชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในหนังสัปเหร่อซึ่งมีบทพูดตอนหนึ่งว่า ‘ยื้อเอาไว้ซำได๋ บ่อาจหยุดเข็มของนาฬิกา’  นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ‘สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดเพราะวันหนึ่งก็ต้องตายลง’ หรือแแม้แต่ในหนังดังอย่าง Dead Poet’s Society ที่บอกว่า อย่ารอเลย จงออกไปใช้ชีวิตให้พิเศษที่สุด

 

สำรวจความเชื่อเรื่อง\'ตาย\' ผ่าน ‘สัปเหร่อ’ ‘ฮาโลวีน’ และ ‘มัสยิดอัลอักซอร์’

 

หลายคนไม่อยากอ่าน เพราะเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นเรื่องชวนหดหู่

 

พอพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่จรรโลงใจและสังคม ส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงความสมาร์ทของนวัตกรรมต่างๆ หรือเรื่องอื่นใดที่จะมาอำนวยความสะดวกให้แก่เรามากที่สุด . .. แต่แท้ที่จริงแล้ว ‘การยอมรับเรื่องความตาย’ เรื่องธรรมชาติง่ายๆ เช่นนี้ อาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่คนใน พ.ศ. นี้ควรจะเข้าใจ ก่อนจะออกไปใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุดก่อนที่จะต้องตาย.

 

แฮปปี้ ฮาโลวีน.

 

ที่มา

A historical Perspective of death in the western world by David San Filippo

https://www.aa.com.tr/en/middle-east/israel-demolishes-muslim-graves-near-al-aqsa-mosque/2388235

https://www.silpa-mag.com/culture/article_119947