posttoday

เปิด 3 มาตรการกำหนดโทษ 'เหตุยิงพารากอน' เท่าทันยุคหรือหวั่นซ้ำรอย

24 ตุลาคม 2566

จากข่าวล่าสุดที่ผู้กระทำผิดอยู่ในสถานพินิจ พ่อแม่ไม่ขอยื่นประกันตัว นั่นคือการดำเนินคดีขั้นต้นเท่านั้น เพราะบทสรุปของกฎหมายที่จะใช้กับผู้กระทำความผิดอายุ 14 ปีรายนี้ อาจทำให้ต้องตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมไทยว่าเท่าทันยุค และจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่?

จากเหตุยิงที่พารากอน ที่มีอายุเพียง 14 ปี ทำให้สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวกฎหมายสำหรับเด็กและเยาวชนที่จะมาใช้กับผู้กระทำความผิดไปต่างๆ นานา แต่ข้อเท็จจริงของเรื่องราวทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร? แม้ข่าวคราวจะเงียบหายไปพร้อมกับสถานการณ์โลกที่คุกรุ่น รวมไปถึงการได้รับข่าวว่าตัวผู้กระทำความผิดอยู่ในสถานพินิจ และพ่อแม่ไม่ขอยื่นประกันตัวนั้น แท้จริงขั้นตอนดังกล่าวยังอยู่ในขั้นก่อนฟ้อง! ยังมีระยะทางอีกมากกว่าจะไปถึงบทสรุปของการกระทำผิดครั้งนี้ ซึ่งมีข้อกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจน

 

PostToday จึงขอไขข้อกระจ่างผ่านบทสัมภาษณ์ อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน

 

ฐานคิดของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน อ้างอิงอนุสัญญาสิทธิเด็กตั้งแต่ปี 2535!

 

ก่อนที่จะรู้กันว่าคดียิงพารากอนน่าจะมีแนวทางอย่างไรทางกฎหมาย สิ่งที่ประชาชนควรรับรู้ก่อนคือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนมีฐานคิดที่ต่างจากการพิจารณาคดีของผู้ใหญ่

 

‘ฐานคิดซึ่งเป็นหลักการสากลตามอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งมีฐานคิดว่า ต้องแยกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กออกจากผู้ใหญ่ เพราะมองว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของมนุษยชาติ และควรจะได้รับการคุ้มครอบจากครอบครัวและสังคม’ อาจารย์ณัฏฐพรอธิบายถึงที่มาที่ไปของกฎหมาย ก่อนจะลงลึกถึงคำอธิบายว่าทำไมต้องต่างกัน

 

‘ลักษณะการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนจะมีข้อแตกต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ คือเด็กจะมีการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่น ควบคุมตัวเองได้ต่ำและมีวุฒิภาวะน้อย ความยับยั้งชั่งใจหรือลักษณะการตัดสินใจต่างๆ อาจจะมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องมาจากปัจจัยของครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กตามวงจรชีวิต ดังนั้นด้วยการกระทำความผิดของเขา จึงเป็นอะไรที่มีข้อจำกัด

 

แตกต่างจากผู้กระทำผิดผู้ใหญ่ ที่สามารถตัดสินใจได้อิสระ และมีวิจารณญาณ คิดไตร่ตรองและตัดสินใจได้ โดยตัวลำพัง ถ้าใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน อาจจะไม่ได้มีความยุติธรรมในมุมของเด็ก นอกจากนี้ถ้าลงโทษแบบผู้ใหญ่ เด็กก็จะได้เข้าไปอยู่ในคุกผู้ใหญ่ อาจจะทำให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมการกระทำความผิดในคุกผู้ใหญ่  ซึบซับการกระทำความผิดและเมื่อออกมาก็อาจเป็นอาชญากรเต็มตัวได้'

 

จากฐานคิดดังกล่าวจึงทำให้กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายของเด็กและผู้ใหญ่ มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน

 

‘กลุ่มผู้กระทำความผิดกลุ่มที่เป็นเด็ก จึงมีการใช้ลักษณะกระบวนการยุติธรรมที่เน้นการแก้ไข ฟื้นฟู พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางสังคม เน้นให้พวกเขาสำนึกผิด และกลับคืนสู่สังคมอย่างเป็นพลเมืองดีอีกครั้ง

 

ส่วนกระบวนการยุติธรรมของผู้ใหญ่จะเน้นการลงโทษ เพื่อให้สาสมกับความผิด เรียกว่า การแก้แค้นทดแทน และมีการป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำด้วย คือ ตัดไม่ให้เกิดการกระทำความผิดอีก เช่น จำคุกหรือประหารชีวิต’

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ณัฏฐพร ได้ให้ข้อสังเกตว่า สำหรับผู้กระทำความผิดที่มีอายุตั้งแต่ 15 -18 ปีนั้น แม้จะถูกพิจารณาโดยใช้กระบวนการยุติธรรมที่เน้นการแก้ไข ฟื้นฟู มากกว่าการลงโทษให้สาสมกับความผิด แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า ก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือตัดออกจากสังคมช่วงหนึ่งไม่ต่างจากผู้ใหญ่

 

‘ การแก้แค้นทดแทนหรือลงโทษให้สาสมกับความผิดเราจะนึงถึงการจำคุกใช่มั้ยครับ จำกัดสิทธิเสรีภาพให้อยู่ในพื้นที่จำกัด  สำหรับเด็กกระบวนการยุติธรรมทางอาญาก็มีลักษณะเดียวกันเหมือนกัน คือ ศาลจะมีคำสั่งให้ฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรม และมีการกำหนดระยะเวลา

 

สำหรับในส่วนของการแก้ไขฟื้นฟูนั้น ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่ามีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดบ้าง และจะมีการวางแผนบำบัดฟื้นฟูไว้อย่างรอบด้าน จะดูทั้งปัจจัยทางร่างกาย จิตใจ และภาวะทางจิตสังคม  เช่น เด็กมีภาวะออทิสติกส์ ขาดการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือมีภาวะบุคลิกภาพผิดปกติ เด็กมีภาวะติดสารเสพติด ครอบครัวมีความรุนแรงหรือไม่ โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือไม่ ศาลก็จะนำสิ่งเหล่านี้มาวางแผนและจัดทำการฝึกอบรมควบคู่กับให้เด็กได้รับการศึกษาและฝึกอาชีพ

 

ภาพจากเหตุยิงพารากอน ซึ่งสร้างความตกใจให้แก่สังคมเป็นอย่างมาก

 

เหตุยิงพารากอน เมื่อผู้กระทำความผิดอายุแค่ 14 ปี กฎหมายทำอะไรได้บ้าง?

 

‘ ผู้กระทำความผิดอายุ 14 ปี ตามข้อกฎหมาย กำหนดให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่ให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ก็ถือว่าไม่ถึงขั้นพ้นโทษไปเลย แต่จุดที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมก็คือ  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74’

 

แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 จะมองว่า ผู้ที่กระทำความผิดอายุเกิน 12 แต่ไม่เกิน 15 ปี ที่เรียกว่า วัยรุ่นตอนต้น นั้นมีลักษณะของการกระทำที่รู้สำนึกแล้ว มีการคิดไตร่ตรองและรู้ว่าผลการกระทำคืออะไร ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างไร ซึ่งต่างจากเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี ซึ่งยังมีพัฒนาการด้านความคิดและสติปัญญาไม่สมบูรณ์  แต่ผลทางอาญากลับมองว่าไม่ต้องรับผลทางกฎหมายเหมือนกลุ่มเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี

 

‘ ผมขอเจาะไปที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 ที่กำหนดวิธีการสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ก็จะกำหนดไว้ 3 มาตรการอย่างเคร่งครัด คือ

  • มาตรการแรก ว่ากล่าวตักเตือนบิดามารดาที่ดูแลและปกครองเด็ก
  • มาตรการที่ 2 คือ มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดา หรือในกรณีที่อยู่กับคนอื่น และใช้มาตรการป้องกันไม่ให้เด็กก่อเหตุซ้ำ คือ มีข้อกำหนดให้ผู้ปกครองทำข้อกำหนดว่าต้องดูแลไม่ให้เด็กทำความผิดซ้ำ ถ้าทำผู้ปกครองจะต้องวางเงินต่อศาลจำนวนไม่เกิน 10,000 บาท ในกรอบระยะเวลา 3 ปีนี้ ก็คือใช้เงินในการบังคับผู้ปกครอง
  • มาตรการที่รุนแรงที่สุดคือ มาตรการที่ 3 กรณีนี้ศาลสามารถสั่งให้เด็กไปอยู่ในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมได้จนถึงอายุ 18 ปี  

 

อาจารย์ณัฏฐพรอธิบายว่า จากมาตรการดังกล่าวที่กำหนดขึ้นเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน เพราะมาตรการที่ใช้ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ และทำให้สังคมตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมว่า กฎหมายมีบทลงโทษที่สาสมกับความผิดหรือไม่ และเป็นการคุ้มครองผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนมากไปกว่าผู้ที่เสียหายจากเหตุการณ์นี้หรือไม่

 

‘ นี่คือข้อสังเกตสำคัญ … ส่วนมาตรการที่ 3 ศาลก็ต้องปล่อยเด็กไปอยู่กับพ่อแม่ มีข้อสังเกตว่า เมื่อเด็กอายุครบ 18 ปี ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาหรือประเมินพฤติกรรมเด็กว่า เมื่อเด็กครบกำหนดแล้ว พฤติกรรมของเด็กดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ทำได้แค่เพียงปล่อยตัวไปตามกฎหมายอาญามาตรา 74 นี้'

 

คำถามคือ การแก้ไขและฟื้นฟูที่กฎหมายตั้งใจจะให้เกิดขึ้นกับตัวเด็ก จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?

ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีเด็กจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จริงหรือไม่ กระบวนการฟื้นฟูนั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาอีก และทำได้เพียงแค่ปล่อยตัวไป

 

' สุดท้ายด้วยกฎหมายมาตรา 74 นี้ ก็มีข้อจำกัดบางประการ ที่ทำให้สังคมรู้สึกว่ากฎหมายไม่ได้ลงโทษได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และไม่ได้ตัดเด็กที่มีพฤติกรรมร้ายแรงออกจากสังคม ก็จะทำให้สังคมรู้สึกไม่ปลอดภัย และแน่นอนว่ารู้สึกไม่ยุติธรรมด้วย’

 

นายกฯและผู้บริหารพารากอน ไว้อาลับกับการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

 

หมายความว่า วิธีการนี้ เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ว่าตัวเองทำผิดหรือไม่?

 

‘ ในมุมของผม วิธีการสำหรับเด็กในส่วนมาตรา 74 นี้ ไม่รัดกุมพอ สำหรับเด็กที่มีพฤติกรรมอุกอาจ และร้ายแรงต่อสังคม’ อาจารย์ณัฏฐพร ให้ความเห็นอย่างชัดเจน

 

‘ ด้วยข้อจำกัดที่พูดไปข้างต้น ก็กลายเป็นว่าเด็กได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองแบบเดิม … ควรต้องมีการประเมินด้วยว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง มีความพร้อมในการดูแลเด็กหรือไม่  ถ้าพ่อแม่มีปัญหา เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ ก็ต้องประเมิน ถ้ารับตัวไปแล้วดูแลไม่ได้ เด็กก็จะไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สำนึก และหวนไปกระทำความผิดซ้ำได้ ซึ่งมันมีหลักการในทางจิตเวชสำหรับเด็กและวัยรุ่นมีผลวิจัยว่า

 

ยิ่งเด็กกระทำผิดอายุน้อยมากเท่าไหร่ จะยิ่งกระทำความผิดซ้ำมากเท่านั้น

 

แน่นอนว่าถ้าทำตั้งแต่ตอนวัยรุ่นตอนต้น และมาตราการกฎหมายไม่รัดกุมพอ พ่อแม่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะดูแลให้กลับเนื้อกลับตัวได้ แน่นอนว่าเสี่ยงต่อการกลับมาทำความผิดซ้ำ และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม

 

สรุปคือ ผมค่อนข้างกังวลกับมาตรา 74 ตรงนี้’

 

อันที่จริงแล้วตอนที่ทาง PostToday ติดต่ออาจารย์เพื่อขอสัมภาษณ์นั้น เรามีประเด็นถามที่ค้างอยู่ในใจว่า

กฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น

ยังคงมีประสิทธิภาพและเท่าทันสภาพสังคม หรือเด็กในยุคนี้หรือไม่?

 

ในมุมผมวัยรุ่นตอนต้นปัจจุบัน มีกระบวนการคิดตัดสินใจ มีวิจารณญาณรู้สำนึกคล้ายกับวัยรุ่นตอนกลางหรือตอนปลายแล้ว  ถ้าเราไปดูกฎหมายมาตรการทางอาญาของเด็กที่ทำความผิดในวัย 15-18 ตามมาตรา 75 ศาลจะพิจารณาความรู้สึกผิดชอบทั้งปวงว่าควรลงโทษเด็กหรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่ก็จะใช้มาตรา 74 ถ้าศาลเห็นว่าควรลงโทษ เพราะอุกอาจ ก็จะใช้มาตรการทางอาญาแต่จะลดอัตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่ง’

 

อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ

 

แนวทางในการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เท่าทันกับสังคมและเหตุการณ์

 

อาจารย์เสนอ 2 แนวทางที่มองไว้ว่าหากมีการแก้ไขข้อกฎหมายควรทำอย่างไร

 

‘ ในมุมผม ถ้าพฤติการณ์ของเด็กมีลักษณะคล้ายวัยรุ่นตอนปลาย ถ้าจะพิจารณาข้อกฎหมาย อาจจะมีการยุบรวมได้หรือไม่ คือใช้มาตรการ 75 ศาลสามารถดูจากพฤติกรรมการทำความผิดว่ารู้สำนึกหรือไม่ ถ้าไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลเห็นสมควรลงโทษได้ทางอาญา โดยไม่ต้องใช้วิธีการสำหรับเด็ก นี่อาจจะเป็นแนวทางการแก้ไขกฎหมายในอนาคตเพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นในปัจจุบัน

 

หรือไม่ก็เป็นในลักษณะที่ว่า แก้ไขข้อกฎหมายเพิ่มเติม โดยการนำพยานหลักฐานมาหักล้างข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ถ้าข้อกฎหมายมองว่า เด็กที่อายุ 12-15 ไม่ต้องรับโทษ หมายความว่า เรามองว่าเด็กทำโดยไม่รู้สำนึก เพราะฉะนั้นถ้าเด็กรู้สำนึกในการทำ รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำคืออะไร ไตร่ตรองไว้ก่อน กฎหมายอาจจะบัญญัติไว้ได้ว่า อัยการอาจจะนำหลักฐานนี้มาหักล้างว่าเด็กรู้สำนึกและใช้มาตรการทางอาญาที่เหมาะสม เช่น อาจจะกำหนดให้เด็กฝึกอบรมในสถานกักกัน และคุมประพฤติที่เข้มข้นมากกว่านี้’

 

ท้ายนี้ อาจารย์ณัฏฎพรย้ำว่า แนวทางที่เสนอนั้นก็เพื่อการควบคุมและจัดการกับเด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคม นอกจากนี้ยังสามารถทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัยด้วย นอกจากการดูแลและคุ้มครองเด็กเพียงอย่างเดียว.

 

ขอขอบคุณ

อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน