posttoday

เปิดนโยบาย ‘วราวุธ’ ทำอย่างไรให้คนพิการคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเท่าเทียม?

20 ตุลาคม 2566

'วราวุธ ศิลปอาชา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. หลังจากก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งได้ 1 เดือน ต้องเจอโจทย์สำคัญ เมื่อพบว่าสถิติของผู้พิการปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน 90,000 คน และนี่คือนโยบายที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมในมุมมองของรัฐมนตรีคนใหม่

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยตัวเลขรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ว่า ตัวเลขผู้พิการทั่วประเทศมีกว่า 2,204,207 คน คิดเป็นเพศหญิง 1,053,353 คน เพศชาย 1,147,854 คน

 

เมื่อจำแนกตามอายุพบว่า ผู้พิการที่อยู่ในช่วงปฐมวัย (0-6 ปี) ผู้พิการในวัยเรียน (6-14 ปี) ผู้พิการที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น (16-21ปี) มีความพิการด้านสติปัญญาสูงที่สุด  ส่วนผู้พิการวัยทำงาน (15-59ปี) มีความพิการทางด้านการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย  ส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะพบกับปัญหาทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายเช่นเดียวกัน  โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนแล้วพบว่าผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องเผชิญกับภาวะพิการมากที่สุดถึง 55.6%

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นและสำคัญคือผู้พิการนั้นอยู่ในวัยทำงานทั้งหมดกว่า 859,555 คน ซึ่งบางคนต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

 

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์กับปีที่แล้วในไตรมาสเดียวกันพบว่า คนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการในปีที่แล้วมี 2,116,751 คน จึงนับได้ว่ามีจำนวนผู้พิการมากขึ้นเกือบ 90,000 คนภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี..

 

นำมาซึ่งการต่อสายสัมภาษณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เพิ่งจะมากุมบังเหียนร้อนได้เพียง 1 เดือน! ถึงมุมมอง นโยบาย และสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ในอนาคตอันใกล้!

 

สถิติอันเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์ครั้งนี้

 

ไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นหน่วยงานที่ทำให้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

 

เราเริ่มเปิดบทสนทนาจากสถิติผู้พิการปี 2566 ข้างต้น ...   

 

‘น่าตกใจมั้ยครับ เพราะเยอะมาก แต่ในขณะเดียวกันตัวผมเองก็ไม่ได้มองว่าคนเหล่านี้คือคนด้อยโอกาส’ รมว.พม. เสนอมุมมองการขับเคลื่อนกระทรวงที่มีต่อกลุ่มคนพิการ

 

‘ ถ้าดูตามจำนวนคนพิการที่เห็นอยู่ตอนนี้ จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้สูงอายุทั้งนั้นเลยนะครับ ทีนี้วันนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะด้วยเทคโนโลยีการแพทย์และการรักษาพยาบาล ทำให้สุขภาพของคนเราดีขึ้น แก่ช้าลง แปลว่า 60 ปีขึ้นไปเขาไม่ได้แก่อีกแล้ว ยังมีศักยภาพอีกมากมาย หากพูดแค่ประเด็นผู้สูงอายุ เขายังเป็นกำลังให้สังคมไทยได้อยู่ และถ้าพูดในประเด็นคนพิการ ผมไม่เคยคิดว่าคนพิการเป็นคนด้อยโอกาสนะ เพียงแต่หน่วยงานของรัฐและเอกชนบางแห่ง ไม่ให้สิทธิที่เขาควรจะได้

อย่างก่อนหน้านี้มีการใช้ภาษามือในการประชุมต่างๆ ทีวีบางช่องมีการใช้ภาษามือตลอด ซึ่งการให้บริการเหล่านี้เป็นมาตรฐานที่คนพิการควรได้รับ  พอเขาไม่มีคือเขาเสียโอกาส ไม่ใช่ด้อยโอกาสนะ แต่เสียโอกาส หมายถึง โอกาสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐและบางฝ่ายไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อรองรับความพิการที่เขามี'  รมว.พม.เปิดประเด็นถึงมุมมองต่อผู้พิการในประเทศไทย อันนำมาซึ่งนโยบายและสิ่งที่จะขับเคลื่อนในอนาคต

 

' สิ่งที่กระทรวงพม. อยากจะทำคือ เราอยากจะดึงศักยภาพของผู้พิการออกมา เพราะว่าคนพิการไม่ใช่คนไร้ศักยภาพ คนพิการเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถมากมาย

 

ยกตัวอย่างเช่น คนตาบอดจะมีประสาทการได้ยินดีกว่าคนธรรมดา ก็เป็นที่มาว่าอย่างวันนี้ กระทรวงพม. มีศูนย์ Hot Line ก็ขอให้ท่านปลัดกระทรวงนำคนตาบอดมาทำหน้าที่รับสาย เพราะอะไร เพราะเวลาฟังโทรศัพท์ คนตาบอดหูเขาจะฟังน้ำเสียง ฟังเสียงคนโทรมา เขาสามารถแยกแยะได้ และบอกได้ว่ามีอะไรผิดปกติมั้ย เพราะการได้ยินของคนตาบอดดีกว่าคนทั่วไป นี่เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่ว่า คนพิการไม่ได้แปลว่าไม่มีศักยภาพ เขามีศักยภาพมากมาย แต่ไม่ได้มีการดึงศักภาพมาใช้

 

ดังนั้น แนวทางของพม. ต่อไปคือเราไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นหน่วยงานที่ดึงเอาศักยภาพของคนทุกกลุ่มออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้มีที่ยืนในสังคม และสามารถใช้ชีวิตในสังคมด้วยความเท่าเทียม และด้วยศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน’

 

เปิดนโยบาย ‘วราวุธ’ ทำอย่างไรให้คนพิการคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเท่าเทียม?

 

นอกจากนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา ยังได้พูดถึงโครงการในเชิงรูปธรรมที่ทางกระทรวงจะขับเคลื่อนให้มากขึ้น นั่นก็คือ การจ้างงานคนพิการ โดยมองว่าภาครัฐต้องทำให้เป็นตัวอย่าง

 

‘ ภาครัฐยิ่งสำคัญ เราต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ให้มีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพิการด้านใดก็แล้วแต่ เพื่อให้เห็นว่าพวกเขามีศักยภาพที่ทำอะไรได้ แม้แต่คนที่เป็นออทิสติกเอง วันก่อนผมไปตรวจราชการที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ยังเห็นว่าพวกเขาทำเบเกอรีขายได้  ดังนั้นคนเราทุกคน ถ้าหากฝึกฝนให้ถูกต้องในกรอบการฝึกที่ถูกวิธี ก็สามารถดึงศักยภาพของคนทุกกลุ่มให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทยครับ’

 

เพิ่มงบประมาณการดูแลผู้พิการให้แก่ครอบครัว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่

 

จากสถิติเราจะพบว่าอันดับหนึ่งของผู้พิการในประเทศไทยนั้นมีปัญหาเรื่องความพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหวกว่าร้อยละ 50 หรืออยู่ที่ 1,130,067 คน รองลงมาคือการพิการทางการได้ยิน และการพิการทางการมองเห็น  ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ถูกพูดถึงตลอดมาคือ เมืองจะรองรับความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่มคนพิการอย่างไร?

 

 ‘แนวทางนโยบายของกระทรวงในปี 67 เราจะพยายามส่งเสริมในการหางบประมาณ เช่น จะเพิ่มวงเงินให้แต่ละครอบครัวได้ประมาณ 1 แสนบาท ในการปรับปรุงที่อยู่ให้แก่ผู้พิการและครอบครัว การทำทางลาด การปรับปรุงห้องน้ำ และขยายผลไปถึงผู้ที่ดูแลคนพิการ รวมไปถึงค่าอุปโภคบริโภค เราอยากจะให้เงินเพิ่มขึ้น ซื้อสิ่งของเครื่องใช้สำหรับผู้พิการเดือนหนึ่งให้ได้เงิน 2,000 บาท และหนึ่งในนโยบายของเราคือการสนับสนุนค่าอุปการะคนพิการ ให้กับคนมีอาชีพ หรือมีหน้าที่การดูแลคนพิการเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนเหล่านั้น ซึ่งทุกวันนี้เริ่มเป็นอาชีพที่สำคัญขึ้น การสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยทางด้านจิตใจกับนักจิตวิทยา ก็จะบรรเทาความรุนแรงทางใจของปัญหาได้ ซึ่งการอำนวยความสะดวกเหล่านี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการไม่ได้เป็นภาระจนเกินไป  ครอบครัวสามารถดูแลคนพิการในครอบครัวด้วยกันเองได้ด้วย ’

 

เปิดนโยบาย ‘วราวุธ’ ทำอย่างไรให้คนพิการคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเท่าเทียม?

 

มาตรการเชิงรุก ป้องกันก่อนการเกิดความพิการ

 

เมื่อดูจากสถิติจะพบว่า ในช่วงเด็ก-วัยรุ่นผู้พิการจะเป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาส่วนใหญ่ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานอัตราของผู้พิการที่เกิดความพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหวกลับพุ่งสุงขึ้นแซงทุกปัจจัยอย่างสูงลิ่ว

 

‘อาจเป็นไปได้จากอุบัติเหตุทางถนน สถานที่ทำงาน และเกิดจากการประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับกฎจราจร เพราะประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนและเกิดการพิการสูงมาก’

 

รมว.พม. ยังอธิบายต่อไปว่า หากเป็นมาตรการเชิงรุกในเรื่องของการป้องกันการเกิดความพิการ ในกรณีความพิการทางร่างกายที่เกิดจากอุบัติทางท้องถนน หรือจากการทำงาน อาจจะเกินขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพม.

 

'แต่ความพิการบางชนิดอย่างเช่น ความพิการทางการเรียนรู้ เชื่อว่าสามารถป้องกันได้ ด้วยการทำให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น พ่อแม่มีความใส่ใจกับการเรียนรู้ของลูกในแต่ละช่วงวัย เพราะการสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของกระทรวง’

 

ทั้งนี้ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีนัดประชุมกับคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 30 ตุลาคมที่จะถึงนี้  โดยเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะ ความคิด และแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นของการทำงาน และหนึ่งในเนื้อหาที่คุย คือ ประเด็นยุทธศาสตร์และนโยบาย ที่เน้นการทำให้ทุกคนในสังคมมีจุดยืนอย่างเท่าเทียมกัน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยจะหยิบยกประเด็นเรื่องของการจ้างงาน และการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเข้าร่วมในการหารือครั้งนี้ด้วย  ..  โดยทางกระทรวงตั้งเป้าจะทำโครงการดังกล่าวในงบประมาณปี 2567 ที่จะถึงนี้.