posttoday

เปิดความหมาย ประวัติ การปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลกินเจ 2566

14 ตุลาคม 2566

เทศกาลกินเจ ปี 2566 นี้อยู่ช่วงวันที่ 15-23 ต.ค. การกินเจเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน และยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อคนเชื้อสายจีนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกินเจ ความหมายของคำว่า "เจ"

เทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก การบริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี รวม 9 วัน ซึ่งจะตรงกับเดือนตุลาคมของไทย

"กินเจ" ตรงกันวันอะไร
สำหรับในปี 2566 เทศกาลกินเจจะตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม บางคนอาจจะเริ่มเตรียมล้างท้องก่อนในมื้อเย็นในวันที่ 14 ต.ค. การล้างท้องคือการเริ่มกินผักงดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ 

ประวัติ ความเชื่อเกี่ยวกับ "เทศกาลกินเจ"
ความเชื่อเกี่ยวกับ "เทศกาลกินเจ" มีหลายตำนาน แต่เชื่อกันว่า เริ่มจาก เล่าจื๊อ ศาสดาแห่งลัทธิเต๋า ก่อนหน้านั้นการกินเจไม่มีการกำหนดว่าจะกินกันเมื่อไร แต่ถือเอาความสะดวกของผู้กิน จะกินวันไหน เดือนไหนก็ได้ ทว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนิยมกินเจในช่วงไว้ทุกข์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฎิบัติตนในทางที่ดีงาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย

เปิดความหมาย ประวัติ การปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลกินเจ 2566
 

ต่อมาเมื่อเกิดกบฏไท้เผ้ง ซึ่งชาวจีนได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านและหวังกอบกู้แผ่นดินจากพวกแมนจู ผู้ก่อการกบฏ ถูกจับประหารชีวิต ยังความโศกเศร้าเสียใจให้กับชาวจีน จึงร่วมกันปฎิบัติธรรม โดยกินเจและถือศีล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ถูกประหารชีวิต การกินเจจึงถูกกำหนดให้เป็นเทศกาลตั้งแต่นั้นมา

ส่วน เทศกาลกินเจในประเทศไทย เป็นรูปแบบความเชื่อและประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันในกลุ่มคนเชื้อสายจีน โดยรับเอาแนวคิดจากบรรพบุรุษชาวจีน ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผสมกลืนกลายกับรูปแบบความเชื่อท้องถิ่น จนกลายเป็นประเพณีเฉพาะของลูกหลานชาวจีนในภูมิภาคนี้ 

เปิดความหมาย ประวัติ การปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลกินเจ 2566

เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจ ไทยมักจะจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เพื่อสืบสานประเพณี ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาร่วมงาน สำหรับงานกินเจที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จัก ได้แก่ งานกินเจเยาวราช กรุงเทพฯ และงานกินเจ จ.ภูเก็ต

ส่วนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน เชื่อว่าการกินเจ คือการสักการะพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์ 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ ซึ่งชาวจีนจะเรียกเทศกาลนี้ว่า "เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9"

เปิดความหมาย ประวัติ การปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลกินเจ 2566

สาเหตุที่ต้องล้างท้อง
การล้างท้องหมายถึง เริ่มกินเจก่อนถึงวันเริ่มต้นเทศกาลจริง 1-2 วันเพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับสภาพ และทำความคุ้นเคยกับการกินเจได้ดียิ่งขึ้น

ความหมายของ "เจ"
คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพระพุทธศาสนา หมายถึง “อุโบสถ หรือการรักษาศีล 8” ของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่จะมีการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคอะไรหลังเที่ยงวันตามหลักศีล 8 ข้อ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ช่วงหลังจึงเรียกคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ว่า “กินเจ” ไปด้วย แต่ถึงกระนั้นการกินเจไม่ใช่เพียงแต่งดเนื้อสัตว์ อาหาร และเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ แต่ยังรวมถึงการรักษาศีล ประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ อีกด้วย 

เปิดความหมาย ประวัติ การปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลกินเจ 2566

การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้

1. รับประทาน "อาหารเจ"
2. งดอาหารรสจัด เช่นอาหารเผ็ด หวาน เปรี้ยว เค็ม งดผักที่มีกลิ่นฉุนทั้งหลาย แยกภาชนะสำหรับอาหารเจเท่านั้น
3. รักษาศีลห้า
4. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ ไม่พูดคำหยาบคาย รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์ ทำบุญทำทาน ไหว้พระ สวดมนต์
5. นุ่งขาวห่มขาวตลอดเทศกาลกินเจ และควรแต่งกายชุดขาวเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆในแต่ละศาลเจ้า


อาหารที่รับประทานได้ แต่ไม่แนะนำ

1.น้ำอัดลม 
2.ผงชูรส 
3.ช็อคโกแลต