posttoday

เจาะแผนการตลาด “ซาอุดิ โปร ลีก” คิดใหญ่ขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก (1)

09 กันยายน 2566

ใครจะคิดว่าการย้ายไปเล่นในซาอุฯของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ คือการจุดไฟนำทางให้นักฟุตบอลชื่อดังหลายคนย้ายตามไปหากินในลีกที่ห่างไกลมาตรฐานที่สูงอย่างยุโรป ทุกอย่างมีที่มาและซาอุฯไม่มองแค่ดึงสตาร์มาเท่านั้น แต่มองไปถึงการแบ่งเค้กมูลค่าล้านล้านบาทในวงการฟุตบอล

ปฐมบทแห่งวงการกีฬาซาอุดิอาระเบีย

ซาอุดิอาระเบียถือเป็นชาติยักษ์ใหญ่และแข็งแกร่งของฟุตบอลทวีปเอเชีย พวกเขาอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย ตามหลังแค่ ญี่ปุ่น อิหร่าน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ส่วนในอันดับโลก พวกเขาอยู่ในอันดับที่ 54 

ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในทีมชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชีย พวกเขาได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เอเชียน คัพ  ฟุตบอลถ้วยใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย 6 ครั้ง และคว้าแชมป์มาได้ 3 ครั้ง (1984, 1988 และ 1996) รวมถึงผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 6 ครั้ง จะว่าไปนี่คืออขาประจำของเอเชียในฟุตบอลโลก

ส่วนฟุตบอลลีกในประเทศ ซาอุดิอาระเบีย ก็เป็นหนึ่งในชาติตะวันออกกลาง ที่คลั่งไคล้ฟุตบอลในระดับบ้าฟุตบอลอย่างมาก แม้พวกเขาจะมีลีกมาตั้งแต่ปี 1976 แต่กว่าที่จะมีลีกอาชีพแบบเต็มตัว ก็ต้องรอจนถึงปี 2007 เลยทีเดียว

ซึ่งการก้าวขึ้นเป็นลีกอาชีพครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้สโมสรซาอุฯ พยายามดึงนักเตะชื่อดังจากยุโรป หรืออเมริกาใต้มาร่วมทัพ เพื่อสร้างสีสันให้ลีก 

ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น ลี ยอง-เพียว อดีตกองหลังทีมชาติเกาหลีใต้ และสเปอร์ส ,จอร์จอส ซามาราส อดีตกองหน้าทีมแมนฯซิตี้ วิลเฟร็ด โบนี่ อดีตดาวยิงฟูแล่ม หรือซัลลีย์ มุนตารีย์ อดีตกองกลางทีม พอร์ทสมัธ 

แต่เชื่อเหล่านั้นเทียบไม่ได้เลยกับชื่อของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ระเบิดวงการฟุตบอลทั้งโลกให้หันมามองฟุตบอลลีก ซาอุดิอาระเบีย เมื่อย้ายมาร่วมทีม อัล นาสเซอร์ในฤดูกาลนี้

เจาะแผนการตลาด “ซาอุดิ โปร ลีก” คิดใหญ่ขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก (1)
 

โรนัลโด้ย้ายมาร่วมทีมแค่เริ่มต้น

การมาของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ สุดยอดกองหน้าเบอร์ต้นๆของโลก (ในช่วงที่เจ้าตัวพีคๆ) กลายเป็นเรื่องฮือฮามาก ทุกคนสงสัยว่าทำไมผู้เล่นระดับโรนัลโด้ถึงมาเล่นในลีก ซาอุดิอาระเบีย แม้อายุอานามจะเยอะแล้ว แต่ด้วยชื่อชั้นของกัปตันทีมชาติโปรตุเกส ยังไงก็ยังค้าแข้งในลีกยุโรปและสามารถต่อยอดสถิติในฟุตบอลยูฟา แชมเปี้ยนส์ ลีกได้สบาย

“ผมพิชิตยุโรปได้แล้ว ผมทำลายสถิติทุกอย่างที่ผมสามารถทำได้ และผมต้องการทำแบบนั้นที่นี่ด้วย นี่ไม่ใช่จุดจบสำหรับผม ลีกซาอุฯ แข่งขันสูงกว่าที่ใครหลายคนรู้” โรนัลโด้ กล่าวในวันเปิดตัวกับอัล นาสเซอร์

คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ย้ายมารับทรัพย์มหาศาลปีละเกือบ 8 พันล้านบาท

นั่นคือคำพูดของโรนัลโด้ ที่แม้จะบอกว่ามาหาความท้าทายกับลีกซาอุฯ แต่ก็ไม่อาจะปฏิเสธได้ว่า ค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 3.3 ล้านปอนด์ หรือเดือนละ 145 ล้านบาท รวมทั้งปีโรนัลโด้จะได้เงิน 173 ล้านปอนด์ (7,785 ล้านบาท)  แต่นั่นคือเป็นยอดรวมค่าใช้จ่ายที่ CR7 ได้รับเพื่อช่วยซาอุฯ โปรโมตการขอเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก 2030 ด้วย

ที่นี้เราไปดูรายได้นักฟุตบอลที่ย้ายมาเล่นในซาอุดิอาระเบียที่ได้ค่าเหนื่อยสูงสุด 10 อันดับแรกกัน 

1 คริสเตียโน่ โรนัลโด้         สโมสร อัลนาสเซอร์       173 ล้านปอนด์ / ปี
2 คาริม เบนเซม่า               สโมสร อัล อิตติฮัด        172 ล้านปอนด์ / ปี
3 เนย์มาร์                         อัล ฮิลาล                       138 ล้านปอนด์ / ปี
4 เอ็นโกโล่ ก็องเต้            สโมสร อัล อิตติฮัด          86.2 ล้านปอนด์ / ปี
5 ริยาร์ด มาห์เรซ              อัล อาห์ลี                        44 ล้านปอนด์ / ปี
6 จอร์แดน เฮนเดอร์สัน        อัล เอตติฟาค                36 ล้านปอนด์ / ปี
7 ซาดิโอ มาเน่                 อัล นาสเซอร์                   33 ล้านปอนด์ / ปี
8 คาลิดู คูลิบาลี่               อัล ฮิลาล                         30 ล้านปอนด์ / ปี
9 มาร์เซโล โบรโซวิช        อัล นาสเซอร์                   21 ล้านปอนด์ / ปี
10 โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่         อัล อาห์ลี                        17 ล้านปอนด์ / ปี

เจาะแผนการตลาด “ซาอุดิ โปร ลีก” คิดใหญ่ขายลิขสิทธิ์ทั่วโลก (1)
 

เมื่อเอา 45 ไปคูณเงินเดือนที่แข้งเหล่านี้ได้รับก็จะได้เงินไทยโดยประมาณ ซึ่งเป็นเงินมูลค่าที่มหาศาลมาก นักฟุตบอลบางคนที่กล่าวมาเล่นในลีกยุโรปกับต้นสังกัดเดิมมาเกือบทั้งชีวิตการค้าแข้ง ยังได้รายได้ไม่ถึง 1 ใน 3 จากที่พวกเขาได้เมื่อย้ายมาเล่นที่ซาอุฯด้วยซ้ำ

การดึงนักฟุตบอลชื่อดังมาค้าแข้งที่ซาอุฯ คือส่วนหนึ่งของโครงการ “Vision 2030” แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะผลักดันประเทศไปสู่ยุคใหม่ และลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว  โดยที่ “ฟุตบอล” ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปด้วย โครงการนี้อยู่ภายใต้การนำของ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน  หรือ MBS มกุฎราชกุมารแห่งกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ

โมฮัมมัด บิน ซัลมาน  มกุฎราชกุมารแห่งกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ

“นี่คือพิมพ์เขียวการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เปิดซาอุดิอาระเบียไปสู่โลก” รัฐบาลของซาอุฯ ระบุ

ก่อนหน้านี้หากจำกันได้เมื่อปี 2021 โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน  เพิ่งไปเทคโอเวอร์ สโมสร นิวคาสเซิล ยูไนเต็ดด้วยเงิน 300 ล้านปอนด์ ( 1.3 หมื่นล้านบาท) มาเป็นเจ้าของและบริหารทีมสาลิกาดงจนได้สิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลยูฟา แชมเปี้ยนส์ ลีกมาแล้ว

ซึ่งหลายสโมสรใน “ซาอุดิ โปรลีก” มีผู้สนับสนุนทางการเงินที่แข็งแรงมาก จากการเข้ามาสนับสนุนของ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund: PIF) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่งที่ลงทุนในตราสารหนี้และกิจการต่าง ๆ ที่กษัตริย์ซาอุฯ เป็นเจ้าของ รวมไปถึงแหล่งทุนจาก Saudi Aramco รัฐวิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่ของซาอุฯ  

การลงทุนของกองทุน PIF และ Saudi Aramco เป็นลงทุนอย่างมีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทีมฟุตบอลและวงการฟุตบอลของซาอุดีอาระเบีย และหวังที่จะขายทีมต่อให้กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อทำผลกำไรอีกทอดหนึ่งในอนาคตหากได้ราคาที่เหมาะสม

ซาดิโอ มาเน่ อดีตกองหน้าลิเวอร์พูลที่ย้ายมาเล่นในซาอุดิอาระเบีย

และนี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องลงมาช่วยภาคเอกชนในการทุ่มเงินมากมายมหาศาล เพราะพวกเขาตั้งใจจะให้ ซาอุดิ โปรลีก กลายเป็นลีกฟุตบอลอาชีพชั้นนำของโลกให้ได้

เพราะวัดแค่การมาของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ คนเดียว ก็สร้างกระแสความตื่นตัวในวงการฟุตบอลของลีกอาชีพในซาอุฯมากมาย ทำให้ในปีที่ผ่านมายอดผู้ชมในสนามเพิ่มขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ของซาอุฯ ที่ 2.2 ล้านคน และมีการถ่ายทอดสดไปกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

รัฐบาลซาอุฯ จึงมุ่งมั่นว่าจะปั้นลีก ซาอุฯ จะต้องกลายเป็นลีกฟุตบอลอาชีพชั้นนำของโลกแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ต่อปีได้ไม่ต่ำกว่า 480 ล้านดอลลาร์ (16,000 ล้านบาท) ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ 120 ล้านดอลลาร์ (4,200 ล้านบาท) ต่อปี รวมถึงรายได้จากการตลาดให้ได้มากกว่า 2,100 ล้านดอลลาร์ (73,000 ล้านบาท)

พรุ่งนี้เราไปตามกันอีกตอนว่า ทำไมซาอุดิอาระเบียถึงทุ่มเงินแบบไม่อั้นโหลดเม็ดเงินชนิดไม่มีหมดเพื่อดึงแข้งชื่อดังมาเล่นในลีก ซึ่งตอนหน้าเราจะพูดถึงจำนวนเม็ดเงินที่ลีกใหญ่ๆ Top5 ในยุโรปได้รับ บอกเลยระดับเกินล้านล้านบาท