posttoday

รู้จัก “Thainamic” STC-4 รถไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ไทยทำ สู่การแข่งขันระดับโลก

26 สิงหาคม 2566

STC-4 / “Thainamic” รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผลงานสุดเจ๋งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม พร้อมมุ่งสู่การแข่งขันรายการ Bridgestone World Solar Challenge 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย บนเส้นทางจากเมือง Darwin สู่ Adelaide รวมระยะทางกว่า 3,022 กิโลเมตร

รู้จัก “Thainamic” STC-4 รถไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ไทยทำ สู่การแข่งขันระดับโลก

 

วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกันเปิดตัว รถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 เพื่อเข้าแข่งขันรายการ Bridgestone World Solar Challenge 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 22-29 ตุลาคม 2566 โดยมีผู้ร่วมสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด และสำนักงานบริหารและพัมนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

 

ช่วงแรกของงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ STC-4 ณ ลานมิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566  ได้มีการเปิดวิดีทัศน์เสนอเรื่องราวของรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่รุ่น STC-1 ในปี พ.ศ. 2558, STC-2 ในปี พ.ศ. 2560, STC-3 ในปี พ.ศ. 2562 และในปีล่าสุดกับ STC-4 หรือ “Thainamic” รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผลงานของอาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่พร้อมมุ่งสู่การแข่งขันรายการ Bridgestone World Solar Challenge 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย บนเส้นทางจากเมือง Darwin สู่ Adelaide รวมระยะทางกว่า 3,022 กิโลเมตร ท่ามกลางความท้าทายของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยหวังว่าจะช่วยยกระดับ-ต่อยอดนวัตกรรมยานยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

 

รู้จัก “Thainamic” STC-4 รถไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ไทยทำ สู่การแข่งขันระดับโลก

 

คุณสมบัติและอัตลักษณ์ STC-4

ชื่อ : STC-4 / Thainamic

แข่งขันในรายการ : Bridgestone World Solar Challenge 2023

ประเภท : Cruiser Class (รถต้นแบบสำหรับใช้งานจริง)

ขนาด : หน้ากว้าง 2 ม. X ยาว 4 ม. X สูง 1.6 ม.

จำนวนที่นั่ง : สำหรับ 4 ที่นั่ง

Body Color : ขาว แดง น้ำเงิน (เอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยธงชาติไทย) มีลายของหางปลากัดไทยเสริมความสวยงาม

ความเร็วสูงสุด : 120 km/h 

ระยะทาง : 1,200 km/ชาร์จ (จากพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว)

ระบบสื่อสารข้อมูลภายในรถ : เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายในรถผ่านระบบคลาวด์และถูกส่งมาแสดงผลที่หน้าจอให้ผู้ขับได้รับรู้ข้อมูล อาทิ ความเร็วรถ / ตำแหน่งที่ตั้ง / พลังงานแบตเตอรี่ / ค่าแรงดันเซลล์แบตเตอรี่ / อุณหภูมิภายในแบตเตอรี่ / พลังงานที่คงเหลือในแบตเตอรี่

Body Material : ทำมาจาก Fyber Glass เพื่อให้โครงรถมีน้ำหนักเบาช่วยให้รถวิ่งได้ไกลมายิ่งขึ้น

มาตรฐานเดียวกับการผลิตรถยนต์ : ออกแบบและผลิตโดยใช้มาตรฐานเดียวกับการผลิตรถยนต์ที่ใช้งานจริงบนท้องถนนทั่วไปในประเทศไทย

ระบบบังคับเลี้ยว : ระบบช่วยบังคับเลี้ยวแบบไฟฟ้าล้อหน้า ทำให้ช่วยผ่อนแรงผู้ขับในขณะบังคับเลี้ยว นอกจากนี้ยังมีElectronic Differentail System ช่วยในการควบคุมความเร็วมอเตอร์ในขระรถแล่นอยุ่ในทางโค้งหรือขณะเลี้ยวรถทำให้รัศมีวงเลี้ยวของตัวรถแคบ

ระบบโซลาร์เซลล์ : แผงโซลาร์เซลล์ ซิลิกอนแบบผลึกเดี่ยว (mono-crystalline silicon) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง630-756 Wp แรงดันไฟฟ้า Voc 92.1 V, Vmp 79.8 V กระแสไฟฟ้า Isc 10.73A และใช้แบตเตอรี่ NMC Pack (8P14S) จำนวน 2 แพ็ก ความจุแบเตอรี่ 97 kWh

ระบบส่งกำลัง : ใช้มอเตอร์หมุนขับที่ล้อทั้ง 2 ล้อ โดยตรงทำให้การสูญเสียกำลังน้อยเมื่อเทียบกับระบบส่งกำลังที่ส่งผ่านชุดเกียร์

 

ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 ผลงานผลิตและสร้างสรรค์ โดยอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมากที่สุด โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์โดยมีหน้ากว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.6 เมตร ระบบภายในตัวรถมีการส่งข้อมูลสื่อสารผ่านระบบCloud สามารถทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยทำระยะทางได้ถึง 1,200 กิโลเมตร/ชาร์จ จากพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วยสีขาว แดง น้ำเงิน พร้อมลวดลายความพลิ้วไหวจากหางปลากัดไทย โดยวิทยาลัยเทคโนโลยี–สยามมีความคาดหวังว่า รถ STC-4 จะสามารถนำไปต่อยอดเป็นรถต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดสำหรับเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต