posttoday

อ้อนรัฐบาลใหม่ผลักดัน "สมรสเท่าเทียม"

25 สิงหาคม 2566

"นิกร อาทิตย์" อ้อนรัฐบาลใหม่เดินหน้าผลักดัน "สมรสเท่าเทียม" เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม ด้าน "นัซมาดี มะทีม หนูจันทร์"หวังเห็นความเท่าเทียมแบบจับต้องได้ ไม่ฉาบฉวยเกิดขึ้นในสังคม

     นายนิกร อาทิตย์ ประธานองค์กร บางกอกเรนโบว์ กล่าวในงาน Equity for All เพราะทุกคนเท่ากัน ช่วง Session 2 : Inspired Talk เพราะความหลากหลายไม่ใช่แค่ “เพศ” ว่า ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สมัยก่อนยังไม่เปิดกว้างเหมือนตอนนี้ เหมือนสีเทาด้วยซ้ำเวลาที่ไปพูดถึงความหลากหลายทางเพศ ไปพูดที่ไหนก็มักจะถูกโจมตีมากกว่า การต่อสู้เข้มแข็งมาก ไม่มีแบ๊คอัพเลย เป็นการรวมตัวของความหลากหลายทางเพศเป็นการสร้างพลังสร้างตัวตนเองจนเข้มแข็ง 

    ตอนนี้ถือเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีมาก จุดเปลี่ยนสำคัญผมคิดว่าไม่ว่าเราจะพูดว่าเปิดกว้าง ประเทศเราเปิดกว้าง หรือกรุงเทพมหานครเป็นความเท่าเทียม แต่ในรูปธรรมจับต้องไม่ได้ ด้วยความเคลื่อนไหวของคนรุ่นไหม่ที่ช่วยกระเพื่อมให้กับสังคม อีกทั้งภาครัฐมีส่วนอย่างมากในการผลักดัน พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ออกมา 

    และด้วยสิทธิมนุษยชนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ตอนนี้ถ้าให้พูดถึงความเท่าเทียมคือ สมรสเท่าเทียม สิทธิการสร้างครอบครัวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตอนนี้ใกล้แล้ว ไม่แน่ใจว่า รัฐบาลชุดใหม่จะสานต่ออย่างไร แต่เราก็หวังว่าจะช่วยผลักดันไม่มากก็น้อย

     อย่างไรก็ดี ความหลากหลายที่แท้จริง ส่วนตัวมองว่าวันนี้ทุกคนพูดถึงความหลากหลาย หลายคนอาจจะมองว่าเป็นความเท่าเทียม แต่มองว่ามันยังไม่ตอบโจทย์เพราะความเท่าเทียมที่แท้จริงคือมันต้องมีความยุติธรรม ทั้งในสังคมครอบครัว สังคมการทำงาน และสังคมต่างๆ ต้องมีความยุติธรรมเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

     นายนัซมาดี มะทีม หนูจันทร์ Mr.Gay World Thailand 2023 กล่าวเช่นกันว่า ผมเชื่อว่าทุกอย่างควรได้รับการสังคายนา โดยบริบทเวที Mr.Gay World Thailand 2023 ถือเป็นเวทีที่มีการสังคายนา ทั้งคำว่า มิสเตอร์ และ เกย์ ให้น้ำหนักเท่ากันจึงตัดสินใจเข้าประกวด

     และด้วยประสบการณ์รวมถึงความคิดเห็นส่วนตัว ก่อนมาพูดบนเวทีนี้ผมได้ทำรีเสิร์ชโดยเข้าหาผู้นำทางศาสนา ซึ่งส่วนตัวผมและครอบครัวนับถือศาสนามุสลิม ตั้งแต่เกิดจนโตผมนับถือศาสนาค่อนข้างมาก แต่พออายุ 8 ขวบผมถูกบังคับให้ต้องขลิบอวัยวะเพศโดยที่เราไม่ได้ต้องการ ดังนั้นนับตั้งแต่อายุ 8 ขวบจนถึงช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจึงแอนตี้ศาสนาจากการถูกบังคับดังกล่าว และพอเกิดสถานการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้ ครอบครัวส่งผมไปเรียนโรงเรียนที่มีความหลากหลายมากขึ้น

     ทั้งนี้ครอบครัวถือเป็นฐานมั่นที่สำคัญ หัวใจสำคัญคือ 1.ครอบครัวของผมมีการบูรณาการร่วมกัน เมื่อก่อนที่บ้านผมไม่มีการสื่อสารกัน แต่หลังจากที่มีการบูรณาการร่วมกันก็มีการพึ่งพากันมากขึ้น 2.การมี Growth Mindset สิ่งที่ยึดถือคือทุกคนมีบับเบิลทางความคิด จะทำอย่างไรให้บับเบิลชนกันแล้วไม่แตก และ 3.เราต้องเป็น Doer ก่อนเป็น Speaker อย่างช่วงที่ผมกลับไปที่บ้าน เราเริ่มต้นด้วยการเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชน จนเป็นที่ยอมรับเป็นมิตรกับคนในชุมชน

     ความหลากหลายที่แท้จริง ส่วนตัวมองว่าในระบบของประเทศที่เป็นเสรีนิยม ความเท่าเทียมเป็นอะไรที่ฉาบฉวย เป็นสิ่งที่ค่อนข้างแตะต้องไม่ได้ แต่ผมมองว่าความเท่าเทียมมันสร้างได้ อย่างน้อยการจะก้าวไปสู่โลกที่เสรีมีความเจริญ การมีความใส่ใจ  การตระหนักถึงคนที่เผชิญหรือเจอะเจอปัญหาเหมือนเรา ที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอาจจะช่วยให้ความเท่าเทียมเป็นจริงมากกว่า