posttoday

เป็นไปได้หรือไม่? สั่งปิด Facebook คนไทย

23 สิงหาคม 2566

จากกรณีกระทรวง DES จ่อสั่งปิด Facebook ภายในสิ้นเดือนนี้ หลังจากที่เกิดความเสียหายกว่า 100,000 ล้านบาท แจงหากอยากจะทำธุรกิจในไทยก็ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ซึ่งข่าวนี้แม้กระทั่งสื่อต่างประเทศก็ยังลงความเคลื่อนไหวจนเป็นที่ฮือฮาว่า จริงหรือ?

ถ้าไม่มี Facebook คนไทยจะลงแดงขนาดไหน?

 

จากสถิติซึ่งรวบรวมมาจาก Meltwater บริษัทตรวจสอบการใช้งานสื่อออนไลน์ทั่วโลก พบว่าในเดือน มกราคม ปี 2023 คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 61.21 ล้านคน จากจำนวนประชากร 71.75 ล้านคน โดยมีความต่างอยู่ที่จำนวน 10 ล้านคนเท่านั้น! 

 

สถิติ Social media ที่คนไทยนิยมมากที่สุด

 

โดย Social media ที่คนไทยนิยมมากที่สุดยังคงเป็น Facebook ด้วยอัตราส่วน 91% มีผู้ใช้งาน 48.10 ล้านคน ของผู้ที่เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต รองลงมาก็คือ LINE และ อันดับสามก็ยังเป็น Facebook Messenger ที่ 80.8%  และ Facebook ก็ยังเป็น Social media ที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุดอีกด้วย รองลงมาก็คือ TikTok และ LINE

 

สถิติ Social media ที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุด

 

 

นอกจากนี้ Facebook ยังถูกใช้เป็นพื้นที่ค้นหาข้อมูลต่างๆ ซึ่งการค้นหาข้อมูลนั้นเป็นอันดับ 1 ของกิจกรรมยอดฮิตบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงค้นหาข้อมูลแบรนด์สินค้า ซึ่งก็จะใช้ Social Network เป็นอันดับต้นๆ ของการค้นหาข้อมูลเช่นกัน

 

คำที่ถูกค้นหาบน Google มากที่สุด

 

และถ้าดูว่าคำไหนที่คนไทยชอบค้นหามากที่สุดบน Google ก็จะพบว่าคำว่า Facebook เป็นอันดับการค้นหาที่ 14 เลยทีเดียว และแน่นอนว่าการเข้า Facebook มีการเข้าใช้ได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่านแอปพลิเคชั่น หรือการเข้าผ่านเว็บบราวเซอร์ปกติ ซึ่งการเข้าผ่านเว็บบราวเซอร์ปกตินั้นพบว่า Facebook ยังเป็นเว็บไซต์ที่คนไทยเข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจาก Youtube และ Google

 

สถิติการเข้าใช้ผ่านเว็ปไซต์

 

ทางด้านแอปพลิเคชั่นเองก็ไม่น้อยหน้าเพราะ Facebook เป็นแอปพลิเคชันที่คนไทยใช้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และมียอดดาวโหลดมากที่สุดในปี 2022 เป็นอันดับที่ 3 รองจาก TikTok และ Facebook Messenger

 

ซึ่งจากสถิติทั้งหมดก็พอจะเห็นว่า ถ้าไม่มี Facebook คนไทยจำนวนไม่น้อยที่คงจะลงแดงจาก Social media อีกทั้งทุกวันนี้ Facebook ถูกพัฒนาการใช้งานไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งช่องทางการเสพข้อมูล เสพข่าว การติดต่อกับเพื่อน การอัพเดตชีวิต แหล่งคอมมูนิตี้ที่น่าสนใจ ช่องทางการโฆษณาสินค้า และช่องทางการสร้างแบรนด์ของธุรกิจต่างๆ  ซึ่งหากใครที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็นับว่าหากไม่มี Facebook อาจจะกระทบอยู่ไม่น้อย

 

และเมื่อสำรวจประเทศที่ปิดกั้น Facebook ในโลกนี้ก็พบว่ามีประเทศ จีน อิหร่าน เกาหลีเหนือและเติร์กเมนิสถาน ที่แบน Facebook จากประเทศของตัวเอง นอกจากนี้ยังเคยมีบางประเทศที่ปิดกั้น Facebook ในหลักวันหรือหลักเดือน เช่น บังคลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน เวียดนาม เมียนมา เป็นต้น

 

Facebook แหล่งช่องทางมิจฉาชีพ ที่ควรจะจัดการ แต่อย่างไร?

 

แม้เรื่องของการแบน Facebook น่าจะเป็นเรื่องที่กระทบกับประชาชนจำนวนไม่น้อย จนอาจจะยากที่จะสั่งปิด แต่จากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกมาเปิดเผยว่าอยากให้ Meta หรือเจ้าของ Facebook ออกมารับผิดชอบต่อสังคมไทยบ้างนั้น ก็พอจะเข้าใจได้เนื่องจาก ตัวแอปพลิเคชัน Facebook เอง แทบจะไม่มี Customer support ที่ครอบคลุมเมื่อเทียบกับจำนวนการใช้งาน

 

โดยปี 2565 ที่ผ่านมา Meta เพิ่งจะประกาศว่ากำลังขยายแผนก Customer support ที่เป็นคนจริงๆ ด้วยซ้ำ และการสนทนาแก้ปัญหาแบบ Life chat ก็เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนปีที่ให้บริการของ Facebook ซึ่งเปิดตัวในปี 2547 อย่างไรก็ตาม Facebook เอง ก็ไม่ได้มีแผนก Customer service ที่สามารถโทรศัพท์ติดต่อได้เหมือนบริการอื่นๆ เมื่อเกิดปัญหา ( ซึ่งยากมากเมื่อเทียบกับลักษณะผู้เล่นในประเทศไทยที่ขยายวงกว้างไปถึงคนในวัยชรา ที่หากมีปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ดังกล่าว แต่ชินกับการได้รับบริการแบบคนจริงๆ มากกว่า ) ในขณะเดียวกันกลับเป็นช่องทางที่ง่ายต่อการให้ให้มิจฉาชีพดูดเงินออกไป

 

ซึ่งคงจะมีหลายคนที่เดือดร้อนกับการผูกบัญชีธนาคารกับ Facebook รวมไปถึงการโดน 'แฮคเฟซ' โดยมีข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดในนั้นซึ่งอันตรายต่อความปลอดภัย  รวมไปถึงหากบัญชีไหนมีการผูกกับบัตรเครดิตเพื่อยิงโฆษณา ก็จะถูกแฮคเพื่อนำบัตรเครดิตไปจ่ายค่าโฆษณา หรือนำเพจนั้นไปใช้งานโดยเฉพาะสำหรับธุรกิจสีเทา ซึ่งก็ไม่ได้มีการควบคุมอย่างครอบคลุมจาก Facebook 

อย่างไรก็ตาม Facebook ก็พัฒนาด้านความปลอดภัยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการล็อคอินด้วยระบบความปลอดภัยหลายชั้น หรือสามารถติดต่อผ่าน Customer support ที่จะมีให้พูดคุยใน Facebook messenger ได้ แต่หากคุณโดนแฮคไปแล้ว ก็ย่อมจะเสียทั้งเวลาและโอกาสทางธุรกิจ เพราะบางครั้งจะถูกจำกัดการไลฟ์สดหลังจากได้บัญชีคืน หรือไม่สามารถซื้อโฆษณาได้ทันที รวมไปถึงการต้องเปลี่ยนบัตรเครดิตเพื่อความปลอดภัย

 

สำหรับในกรณีที่ทางกระทรวงดีอีเอสออกมาพูดถึงการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพเพื่อล่อลวงให้คนเข้าไปลงทุน และเรียกร้องให้ Facebook มีการสกรีนบัญชีให้มากขึ้นเพราะบัญชีมิจฉาชีพเหล่านี้ลงทุนโฆษณากับทาง Facebook เพื่อหลอกลวงประชาชน แต่ Facebook กลับปล่อยให้มีการโฆษณาโดยไม่ปิดกั้น  ซึ่งหากมองที่นโยบายของ Facebook ก็จะพบว่านโยบายดังกล่าวครอบคลุมลักษณะของเพจที่ไม่ถูกกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพได้จริงๆ และ Facebook ก็ควรจะรีบหามาตรการ หรือเทคโนโลยีที่ครอบคลุมการใช้งานผิดกฎหมายเหล่านี้ในเร็ววัน 

 

อย่างไรก็ตามการที่จะแก้ไขที่ Facebook ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่หลายประเทศกลับมองว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือ การสร้าง Media Literacy ให้แก่ประชาชน คือ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ว่าสิ่งที่ปรากฎบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นจริงหรือเท็จอย่างไร ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่ทางรัฐให้การสนับสนุนให้มากที่สุด เพราะถึงจะไม่มี Facebook แต่ก็จะพบว่าทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ เกิดขึ้นในทุกๆ ปี และมิจฉาชีพก็มักจะหาทางใช้ช่องทางเหล่านี้ในการหลอกเงินประชาชนที่รู้ไม่เท่าทัน ..