posttoday

ถอดรหัสความสำเร็จ พัฒนา ‘ทุเรียนบาตามัส’ ของดีแดนใต้ ส่งออกทะลุ 70 ล้านบาท

21 สิงหาคม 2566

เป็นเกษตรกรตัวเล็กๆ จะมีอำนาจต่อรองกับวงจรธุรกิจได้อย่างไร เมื่อต้องเจอกับปัญหากดราคา ทำแทบตายแต่รายได้ตกอยู่ที่พ่อค้า และนี่คือถอดรหัสความสำเร็จของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้กับ ‘ทุเรียนบาตามัส’ ที่สามารถพัฒนาจนส่งออกหลายประเทศได้สำเร็จ!

ย้อนไปในปี 2561 เกษตรกรชาวสวนสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกกดราคาทุเรียนอย่างหนัก ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาเคยขายได้ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 10 บาท จนเมื่อสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยอาศัยหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นั่นคือ ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ มาปรับใช้ เป็นระยะเวลาแค่เพียง 1 ปีหลังจากเริ่มการพัฒนาเท่านั้นก็ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถเพิ่มผลผลิตได้กว่า 2 เท่า และสร้างรายได้เฉลี่ยมากขึ้นกว่าเดิมรายละ 4 เท่าต่อปี คือ จากที่มีรายได้เพียง 60,000 บาทต่อปี เป็น 262,731 บาทต่อปีเลยทีเดียว

 

พวกเขาทำได้อย่างไร?

 

ทุเรียนบาตามัส ราชาทุเรียนแดนใต้

 

1

พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์

 

ปัญหาสำคัญของทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ คือทุเรียนในช่วงก่อนนั้นขาดคุณภาพ เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ดูแลอย่างเหมาะสม หลังจากที่ได้มีการเรียนรู้จากอาสาสมัคร ที่เข้าไปให้ความรู้ และมีการติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน จนถึงการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีคุณภาพ

 

ปัจจุบันทุเรียนของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ภายใต้ชื่อ ‘ทุเรียนบาตามัส’  ขึ้นชื่อว่า เป็นทุเรียนที่ หนามเขียว ไม่มีหนอน ซึ่งแสดงถึงการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี  และเป็นทุเรียนที่ไม่อ่อน เพราะมีการวัดเปอร์เซนต์แป้งก่อนเก็บเกี่ยวให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 ซึ่งจะทำให้ทุเรียนแก่และรสชาติดี  อีกทั้งทุเรียนบาตามัสเองยังมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นนั่นคือ ‘กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน’ จนได้ชื่อว่าเป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้

 

ดอกของทุเรียนหลังจากที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

 

 

2

การรวมกลุ่มของเกษตรกรในระดับวิสาหกิจชุมชน และเครือข่าย

 

เมื่อคุณภาพของทุเรียนดีแล้ว (ปัจจุบันมีแปลงทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวม 770 คน) สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ จากที่เคยต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างปลูก ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพ กระจายไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้รวม 20 วิสาหกิจชุมชน แบ่งแยกออกไปตามพื้นที่

สาเหตุของการรวมกลุ่มเพื่อช่วยให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง โดยจัดตั้งร้านขายปัจจัยการผลิตของกลุ่ม ซึ่งสมาชิกสามารถมาซื้อปุ๋ย และปัจจัยอื่นๆ ได้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป  เนื่องจากเมื่อเกิดการรวมกลุ่ม และกลุ่มตัดสินใจที่จะซื้อปัจจัยจากร้านที่จัดตั้งขึ้น บริษัทก็ยินดีที่จะส่งปุ๋ยให้กับร้าน เพราะมียอดการสั่งซื้อสูง เนื่องจากเกษตรกรที่มาซื้อมาจาก 3 จังหวัด 20 วิสาหกิจชุมชน

นอกจากนี้เวลาที่เกษตรกรมีปัญหา และต้องการความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มเติม  แต่ละกลุ่มก็สามารถปรึกษาหารือกันในกลุ่มได้  อีกทั้งยังมีการเยี่ยมเยียนแปลงทุเรียนของสมาชิกแต่ละคน เพื่อเป็นการเรียนรู้วิธีการดูแล หรือเรียนรู้ปัญหาจากเพื่อนสมาชิก รวมไปถึงกระตุ้นให้สมาชิกตั้งใจดูแลสวนมากขึ้น

 

ต่อมาในปี 2565 วิสาหกิจชุมชนทั้งหมด จึงได้รวมตัวกลุ่มเป็น ‘เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้’ ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้

 

การรวมกลุ่มดังกล่าวทำให้เกษตรกรจากที่ไม่มีอำนาจการต่อรองใดๆ มีความเข้มแข็งขึ้นจากการเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 2,432 ไร่  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อขายผลผลิต เครือข่ายก็ไม่ได้ใช้วิธีต่างคนต่างขาย แต่ใช้วิธีขายภายใต้ความตกลงร่วมกันภายใต้ชื่อของเครือข่าย ทำให้ผลผลิตของเครือข่ายมีปริมาณสูง และสามารถต่อรองราคากับตลาดหรือพ่อค้าได้ เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรที่ขายผลผลิตร่วมกับเครือข่ายได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าขายเองทั่วไป  อีกทั้งยังได้มีการต่อรองกับล้งผู้รับซื้อ ให้สนับสนุนเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนพัฒนาทุเรียนของโครงการ จากเดิมที่ล้งต้องจ่ายให้นายหน้าออกไปหาทุเรียนตามสวน แต่ล้งนำค่าใช้จ่ายนั้นจ่ายตรงให้กับเครือข่ายในราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งเครือข่ายก็สามารถนำเงินที่ได้กิโลกรัมละ 2 บาทนี้ไปหมุนเวียนจัดตั้งเป็นกองทุนปัจจัยการผลิต รวมไปถึง การพัฒนาการปลูกโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘หมอนทอง’ (Monthong Application) สำหรับติดตามผลผลิตทุเรียนคุณภาพทุกระยะ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการผลิตให้ทันท่วงที รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์และการตลาดแบบออนไลน์ต่อไป

 

ปัจจุบันเกษตรกรในเครือข่ายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 4 เท่าต่อปี

 

ทั้งนี้การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาเกษตรกรจากที่เคยเป็นแค่เพียง ‘เกษตรกร’ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการ ที่รู้จักกลไกลตลาด และสามารถบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบได้เป็นอย่างดี

 

3

หาพันธมิตรร่วมกับภายนอก

 

การหาพันธมิตรร่วมกับภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา เมื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เกิดปริมาณผลผลิตที่เพียงพอ ในขั้นตอนของปลายน้ำก็จะต้องมีการเชื่อมโยงกับตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ คัดคุณภาพ และรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งออก รวมไปถึงการหาพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนในด้านองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งในส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน

 

ปัจจุบัน กลุ่มของผู้ปลูก ‘ทุเรียนบาตามัส’  สามารถส่งออกทุเรียนของเครือข่ายไปยังประเทศจีน ไต้หวัน อินเดียและอินโดนิเซีย  โดยผ่าน ‘ล้งพันธมิตร’ ผู้รับซื้อทุเรียน โดยล้งที่จะเข้ามารับซื้อทุเรียนของทางกลุ่ม จะเป็นการร่วมมือกันในรูปแบบพันธมิตรทางการค้า โดยมีการติดต่อเจรจา ทั้งในด้านราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไปแต่รับรองว่าได้ทุเรียนคุณภาพ ‘หนามเขียว ไม่มีหนอน และไม่อ่อน’ รวมไปถึงเรื่องเงินสมทบดังที่กล่าวมา

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังเปิดให้มีการขายช่องทางออนไลน์ในประเทศ ในแบบสั่งจองล่วงหน้า โดยปัจจุบันขายอยู่ที่กล่องละ 1,800 บาทต่อน้ำหนัก 8.5 กิโลกรัม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ‘ทุเรียนบาตามัส’ ให้คนไทยได้รู้จัก อีกทั้งยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะตอกย้ำให้เกษตรกรในเครือข่ายรับผิดชอบต่อผลผลิตที่มีคุณภาพของตนเอง เพราะการขายออนไลน์สามารถเคลมสินค้าได้ หากสินค้าไม่มีคุณภาพ

ในปีนี้ทางเครือข่ายฯ ยังได้เปิดการค้าในรูปแบบใหม่นั่นคือ ‘การประมูลสวน’  โดยใช้วิธีการคัดเลือกสวนทุเรียนจากสมาชิกในเครือข่ายที่มีคุณภาพสูง และเชิญล้งพันธมิตรลงไปดูที่สวนจำนวน 6 ล้งเพื่อประมูลราคาแข่งกัน  ซึ่งสามารถทำให้เกษตรกได้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 5-10 บาทเลยทีเดียว

 

สำหรับในปีนี้ คาดการณ์ว่าทุเรียนของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ในชื่อ ‘ทุเรียนบาตามัส’ จะมีผลผลิตอยู่ที่ 700 ตัน และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเครือข่ายฯ รวมแล้วกว่า 70 ล้านบาท (เมื่อคิดที่กิโลกรัมละ 100 บาท ** ราคาทุเรียนในวันที่ 21 สิงหาคม)