posttoday

‘คนมีบุตรยาก’ เทรนด์ปัจจุบันและอนาคต ที่พ่อแม่ต้องเตรียมพร้อม

19 สิงหาคม 2566

เมื่อความพร้อมของพ่อแม่ที่อยากมีบุตรสวนทางกับความพร้อมด้านสังคมและเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีบุตรยาก โรงพยาบาลเมดพาร์คจึงยกระดับการดูแล ‘คนอยากมีลูก’ เปิดศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เมดพาร์ค ไอวีเอฟ ที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีเพิ่มเปอร์เซนต์การมีลูกที่มากขึ้น

‘สภาวะมีบุตรยาก’ เทรนด์ปัจจุบันและอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น

 

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า 17.5% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ หรือ 1 ใน 6 ของประชากรทั่วโลก กำลังประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก โดยจำนวนตัวเลขของผู้ประสบภาวะมีบุตรยากในประเทศที่มีรายได้สูงอยู่ที่ 17.8% และ 16.5%  สำหรับประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยในระดับปานกลาง เนื่องมาจากความพร้อมที่จะมีบุตรสวนทางกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จนทำให้กว่าจะพร้อมมีบุตรก็อายุล่วงเลยมามากแล้ว สวนทางกับความพร้อมของร่างกาย โดยเฉพาะเพศหญิงที่จะมีความสามารถในการเจริญพันธุ์ได้ดีอยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี และจากรายงานก็พบว่าปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ และอัตราการเกิดที่ลดลงของประชากรทั่วโลก

โดยส่วนใหญ่สาเหตุของการมีลูกยากมาจาก 3 กรณีด้วยกันคือ  1. ฝ่ายชาย มีอสุจิอ่อน หรือมีปริมาณน้อย หรือเป็นหมัน ซึ่งจะพบได้ร้อยละ 25-30 ของสาเหตุการมีลูกยาก 2. ฝ่ายหญิง มีความผิดปกติ เช่น ไข่ไม่ตก ท่อนำไข่ตัน หรือเนื้องอกมดลูก รวมไปถึงเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นอาการที่เจอบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน พบได้ร้อยละ 30 ของสาเหตุ  3. ไม่ทราบสาเหตุ คือเป็นปัญหาโดยธรรมชาติของทั้งฝ่ายหญิงและชาย ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ เพราะการท้องโดยธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งจะพบได้ร้อยละ 10-15 ของสาเหตุการมีลูกยาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ทางด้านการใช้ชีวิตที่เป็นความเสี่ยงของภาวะการมีบุตรยากไม่ว่าจะเป็น อายุ ภาวะน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่และดื่มสุรา เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์ จึงกลายเป็นตัวช่วยสำคัญของผู้ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบัน รวมทั้งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคู่แต่งงานทั่วโลก แม้แต่คู่แต่งงานในประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มประสบภาวะมีบุตรยากสูงขึ้น  และหันมาใช้บริการศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเพื่อเพิ่มความสำเร็จการมีบุตรมากขึ้น

 

บรรยากาศการแถลงข่าวเปิดตัว ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เมดพาร์ค ไอวีเอฟ

 

ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากภายในโรงพยาบาล 'ท่วงทันและครบวงจร'

 

นายแพทย์สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ หัวหน้าศูนย์ เมดพาร์ค ไอวีเอฟ ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวเปิดตัว ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เมดพาร์ค ไอวีเอฟ ณ Sky Lounge ชั้น 22 โรงพยาบาลเมดพาร์ค เพื่อประกาศความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ประสบภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาขอรับคำปรึกษาจนถึงวันที่คลอดทารกอย่างปลอดภัย ว่าประสิทธิภาพของการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้มีบุตรยากขึ้นภายในโรงพยาบาลเมดพาร์คคำนึงถึงการสร้าง ‘ดรีมทีม’ หมายถึงการมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ  และเทคโนโลยีใหม่ๆ ระดับสากลที่ครบครันซึ่งจะคอยช่วยเหลือผู้ต้องการมีบุตรในทุกขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสภาวะของผู้มีบุตรยากที่จะมีความซับซ้อนของการดูแลมากกว่าปกติ

‘ ประการแรกคือโรงพยาบาลนั้นมีความครบวงจร คือ การให้ความช่วยเหลือผู้มีบุตรยากอาจจะมีบางกรณีที่มีความเสี่ยงซึ่งมองไม่เห็น ต้องได้รับการผ่าตัดเพิ่มเติม หรือครรภ์มีความเสี่ยง สิ่งเหล่านี้ด้วยความเป็นโรงพยาบาลก็จะสามารถให้การรักษาได้ในที่เดียว  .. อีกประการคือความทันท่วงที อาทิเช่น ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือลูกคลอดก่อนกำหนด ก็จะมีกุมารแพทย์เฉพาะทางเวชบำบัดวิกฤต (NICU) ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของห้องวิกฤตเด็กอ่อนในประเทศไทย เมื่อเทียบกับผู้ป่วยนั้นเรียกได้ว่าไม่เพียงพอ แต่ที่เมดพาร์คเรามีส่วนนี้ซึ่งมาตรฐานทั้งหมดดังกล่าวจะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่เข้ามารับการช่วยเหลือได้ ’

 

นายแพทย์สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ อาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศ และมีประสบการณ์การรักษาผู้มีบุตรยากมากว่า 30 ปี

 

นายแพทย์สุภักดียังได้ยกตัวอย่างเคสที่เข้ามารับการรักษาที่ศูนย์ ว่า มีคนไข้จากประเทศอินเดียซึ่งมีบุตรยาก ได้รับการทำเด็กหลอดแก้วในประเทศอินเดียแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเดินทางมายังที่ศูนย์และได้รับการตรวจผลปรากฎว่า คนไข้มีภาวะพิเศษคือต่อมใต้สมองไม่ผลิตฮอร์โมนเพื่อไปกระตุ้นรังไข่ ทางศูนย์ก็จะทำการรักษาก่อนด้วยการให้ฮอร์โมน จนสามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ  หรือคนไข้บางคนที่เป็นเนื้องอกที่มดลูก เราก็จะให้การรักษาเนื้องอกที่มดลูกก่อน เพื่อให้ตัวอ่อนสามารถฝังตัวที่โพรงมดลูกได้ มิฉะนั้นก็จะตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความสำคัญว่าทำไมทีมแพทย์ของศูนย์ผู้มีบุตรยากถึงต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างครบวงจร

 

ทางด้าน นายแพทย์วิวรรธน์ ชินพิลาศ สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์มากว่า 30 ปี ได้เล่าถึงกระบวนการรักษาที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากว่า หากคู่สามี-ภรรยา มาหาแพทย์ แพทย์จะหาสาเหตุก่อน เพื่อประเมินว่าร่างกายของผู้ที่เข้ามารับความช่วยเหลือผิดปกติส่วนไหน และสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เช่น หากฝ่ายชายมีอสุจิน้อย ก็จะให้ยาหรือแนะนำคนไข้ให้เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ให้ดีขึ้น เป็นต้น เพื่อให้ทั้งคู่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติก่อน แต่ถ้าหากยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติก็จึงเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีช่วยการตั้งครรภ์ต่อไป

บรรยากาศภายในศูนย์ เมดพาร์ค ไอวีเอฟ

 

เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เพิ่มเปอร์เซนต์การตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีตั้งแต่การผสมเทียม ซึ่งจะมีผลสำเร็จได้ร้อยละ 10-15 และการทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้ว ด้วยวิธีการทำอิ๊กซี่ (ICSI - Intracytoplasmic Sperm Injection) ซึ่งมีอัตราความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 55 นอกจากนี้ เมดพาร์ค ไอวีเอฟ ยังมีการนำอุปกรณ์รุ่นใหม่ และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพระดับสากล เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์ เช่น

การคัดเลือกตัวอ่อนด้วยระบบเอไอชื่อว่า ไอด้าสกอร์ (iDAScore) ซึ่งเป็นการให้คะแนนและติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนทุกตัว ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี Timelapse กล้องบันทึกภาพซึ่งติดตั้งอยู่ในตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน Embyoscope Plus ทำหน้าที่ติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนและนำมาเรียงเป็นวิดีโอ ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำตัวอ่อนออกมาจากตู้เพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์แบบตู้รุ่นเก่า ซึ่งเป็นการรบกวนตัวอ่อนและมีผลต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์

เทคโนโลยีที่นำมาใช้ภายในศูนย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย

 

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งชิป (RFID Tags) บนภาชนะเก็บไข่ สเปิร์ม และตัวอ่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่น การสลับไข่กับสเปิร์มของคู่อื่น  การสลับตัวอ่อนคุณภาพดีกับตัวอ่อนผิดปกติ เป็นต้น โดยจะนำมาใช้ควบคู่กับระบบระบุตัวตนของผู้เข้ารับบริการ เช่น การสแกนลายนิ้วมือ และการสแกนใบหน้า โดยทุกกระบวนการของการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก จะถูกออกแบบให้อยู่ภายในศูนย์ฯ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ โดยไม่ต้องถูกส่งตัวไปตรวจหรือรักษาตามแผนกต่าง ๆ ร่วมกับคนไข้ทั่วไป

รวมไปถึง การใช้เทคโนโลยีตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม ตรวจโครโมโซมเพื่อหาความผิดปกติของตัวอ่อนอย่างละเอียด ด้วยเครื่อง Next-generation sequencing (NGS) ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 60 - 70% และลดความเสี่ยงที่จะแท้งลงกว่า 3 เท่า

บรรยากาศห้องพักหลังคลอด

 

ทั้งนี้ ทางทีมแพทย์ของศูนย์เมดพาร์ค ไอวีเอฟ ย้ำว่าการรักษาทุกขั้นตอนล้วนมีความสำคัญ เมดพาร์คตั้งใจที่จะสร้างศูนย์ซึ่งมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในทุกๆ สาขา และเชี่ยวชาญด้านคนไข้มีมีบุตรยากโดยตรง เพราะมีความซับซ้อนของการดูแลและรักษามากกว่าการตั้งครรภ์ตามปกติ รวมไปถึงจัดหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ เพื่อสร้าง ‘ดรีมทีม’ ขึ้นมาเพราะรู้ว่าหากมองข้ามสิ่งใดไปแม้เพียงเล็กน้อยก็มีผลต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ทันที.