logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
posttoday

แพทย์เตือน ‘ไข้หวัดใหญ่’ อันตรายกว่าที่คิด ไม่ระวังถึงขั้นเสียชีวิต

18 สิงหาคม 2566

ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่เตือน ไข้หวัดใหญ่ปีนี้ระบาดหนักกว่าเดิม ระบุมีอันตรายกว่าที่คิด เพราะเป็นตัวนำร่องโรคที่รุนแรงเช่น ปอดอักเสบ หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และหลอดเลือดสมอง ถึงขั้นป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ย้ำฉีดวัคซีนสำคัญ

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยว่าปี 2566 นี้ พอเข้าสู่ฤดูฝน จะเริ่มเห็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วงโควิด-19 ครองโลก ทำให้ผู้คนเก็บตัวในบ้าน ระมัดระวังด้านสุขอนามัย โอกาสแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ก็น้อยลง บวกกับในช่วงนั้นประชาชนห่างหายจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังหมุนเวียนอยู่อย่างเบาบาง พอสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับสู่สภาวะปกติ ทำให้พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราคนที่เป็นไข้หวัดแล้วมาโรงพยาบาล ตรวจพบว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 15% (ณ ต้นเดือนสิงหาคม 2566) ของคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่

 

อันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ ตัวน้ำร่องโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ว่า โรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่มักจะก่อโรคในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เด็ก 100 คนในปีหนึ่งๆ จะติดเชื้อและมีอาการเจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ที่  20-25% แต่ถ้าผู้ใหญ่ จะพบเป็นไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 10% โดยปัจจัยที่สำคัญของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ นอกจากฤดูฝนที่ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีชีวิตอยู่นาน ปัจจัยอีกประการ คือ โรงเรียนเปิด เด็กนักเรียนจะติดต่อส่งเชื้อให้กัน ทำให้เด็กอาจพาเชื้อไปสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ปู่ย่าตายายที่อยู่ในบ้าน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุหากติดเชื้อแล้ว มีโอกาสที่โรคจะรุนแรง ถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลหรือหากรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่างๆ จากสถิติระบุว่า ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงที่นอน ICU พบจำนวนที่เสียชีวิต อยู่ที่ 10% ของผู้ป่วยที่นอน ICU     

 

ที่สำคัญคือ 'ไข้หวัดใหญ่เป็นตัวนำร่อง’ เป็นเชื้อโรคที่ก่อโรคทางเดินหายใจ ตัวมันเองก่อโรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้บ้างแต่ไม่มาก แต่ตัวที่มาซ้ำเติม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เกาะในลำคอจะมีอันตรายมากกว่า ทำให้โรครุนแรงมากขึ้น โดยที่เวลาที่เราเป็นไข้หวัดใหญ่ทำให้เส้นทางเดินหายใจที่ลงไปที่ปอดมีการติดเชื้อ มีการอักเสบ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนทางเดินขรุขระ ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่ที่คอ แต่พอทางเดินขรุขระเชื้อแบคทีเรียก็จะไต่ลงไปที่ปอด เกิดภาวะปอดอักเสบ ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรืออาจจะกระจายเข้าสู่เลือดเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสโลหิต ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดเล็กๆ น้อยๆ อยู่ตามที่ต่างๆ ทำให้โรคหัวใจรุนแรงขึ้น จากปกติที่เป็นโรคหัวใจที่ไม่รุนแรง หรือหากไปอุดตันตามเส้นเลือดของสมอง ก็ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ได้ เพราะฉะนั้น ไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึ่งรุนแรงและอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้รุนแรงขึ้นหลายชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคประจำตัว พอเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ยิ่งเป็นตัวเสริมทำให้คนที่เป็นโรคหัวใจอาจจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มีภาวะหัวใจวาย หรือคนชรามากๆ พอเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ทำให้เลือดไปเลี้ยงช้า ทำให้มีภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ จึงเป็นที่มาของอันตรายจากโรคของหลอดเลือดที่ไปหัวใจและสมองได้

 

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มีลักษณะอาจเรียกว่า ‘กลุ่มเสี่ยงตาย’ เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ เพราะหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้ว โรคแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาและทำให้เกิดความรุนแรงสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ ‘ปอดอักเสบ’ ตามมาด้วย โรคหัวใจวาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 

 

การป้องกันที่ดีคือการ 'ฉีดวัคซีน'

ประชาชนจะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร?  รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี ได้แนะนำว่า การป้องกันตามธรรมชาติอาจจะป้องกันได้บ้างแต่ยาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนที่จะแสดงอาการ ฉะนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดและคุ้มค่าทางการแพทย์ โดยมีการศึกษามาอย่างยาวนาน ก็คือ ‘วัคซีน’ ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสามารถจัดการกับโรคได้ตลอดระยะเวลา ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนามาตลอดกว่า 80 ปี จึงมีความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์แล้ว

โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่  2 ประเภท ได้แก่

1.       วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน (Standard Dose) ซึ่งจะมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ (ขนาด 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)

2.       วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (High Dose) สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สามารถฉีดได้ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีร่างกายปกติ และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์เท่านั้น (ขนาด 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส)

การมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีร่างกายอ่อนแอ ทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนต่ำ จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ฉีดวัคซีนขนาดมาตรฐาน ผลการศึกษาปรากฎว่า ผู้สูงอายุบางรายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี ไม่เหมือนกับช่วงอายุอื่นๆ จึงมีการศึกษาพัฒนาโดยการเพิ่มขนาดของตัวยาในแต่ละสายพันธุ์ เป็น 60 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ ผลการวิจัยพบว่าสามารถลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดที่มีอาการได้สูงกว่าชนิดที่เป็นมาตรฐาน (15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์) ร้อยละ 24 และยังสามารถลดการนอนโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 64.4 และลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9 แต่อาจพบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมากกว่าขนาดมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตามมีความมั่นใจและปลอดภัยสูง เนื่องจากวัคซีนขนาดสูงได้ใช้อยู่ในประเทศยุโรป อเมริกา มานานมากกว่า 10 ปี และใช้มากกว่า 200 ล้านโดสแล้ว

 

แพทย์เตือน ‘ไข้หวัดใหญ่’ อันตรายกว่าที่คิด ไม่ระวังถึงขั้นเสียชีวิต

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการรับการฉีดวัคซีนสามารถติดต่อไปที่สถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฤดูกาล ปี 2566 ได้แก่

1.  สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บัตรทองทุกแห่ง ให้บริการฉีดวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ ฟรี! สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี, ผู้มีโรคเรื้อรัง, ผู้พิการทางสมอง, โรคธาลัสซีเมีย, โรคอ้วน, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

  • โรงพยาบาลภาครัฐทุกแห่ง / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) / ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการ
  •  เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ (7 กลุ่มเสี่ยงสามารถจองคิวช่องทาง ‘กระเป๋าสุขภาพ’ บนแอปเป๋าตัง ได้ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. – 31 ส.ค. 2566)

2.  สำนักงานประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ปีละ 1 ครั้ง ที่สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

3.  สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง หรือประชาชนทั่วไป ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้ทั้งจากโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐ หรือคลินิกเวชกรรม โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

 

แพทย์เตือน ‘ไข้หวัดใหญ่’ อันตรายกว่าที่คิด ไม่ระวังถึงขั้นเสียชีวิต  

 

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือทางเพจของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่