posttoday

‘เที่ยว พัก ช้อป’ แบบไหนที่ตรงใจ LGBTQIA+

18 มิถุนายน 2566

จากผลสำรวจบริษัทชั้นนำหลายเจ้าพบว่ากำลังซื้อของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่มีต่อธุรกิจท่องเที่ยวนั้นอาจเป็น ‘ฮีโร่’ ในสงครามการแข่งขันเลยก็ว่าได้ แล้วอะไรที่จะโดนใจ และดึงดูดพวกเขาให้มา เที่ยว พัก ช็อป กับเราได้?

มีการเปิดเผยผลสำรวจและพบว่ากลุ่ม LGBTQIA+ พร้อมที่จะเดินทางหลังจากการระบาดของโควิดสูงกว่ากลุ่มคนทั่วไปกว่า 8%  และแม้ในช่วงเวลาโควิดพวกเขาก็มีอัตราค่าเฉลี่ยการเดินทางอยู่ที่ 5.5 ครั้งต่อปีซึ่งสูงกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ยที่ 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น .. นั่นหมายถึงว่าหากใครทำธุรกิจท่องเที่ยวและกำลังมองตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และพร้อมเปย์!! ตลาด LGBTQIA+ คือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องตีแตกให้ได้!!

อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกหลายคนมองว่ามันคือการเดินเกมของนักเรียกร้อง เช่นว่า หากรัฐบาลอยากให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น ก็ต้องผ่านกฎหมายที่รับรองสิทธิของพวกเขา จนมองว่าการเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQIA+  นั้นมากจนเป็นสิทธิพิเศษหรือไม่ แต่อยากให้มองว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นตัวอย่างสำคัญของการ ‘ส่งเสียง’ เพื่อให้รัฐบาลหรือสังคมได้รับรู้ถึงปัญหาที่มีอยู่ ที่ต้องมีการรวมพลังกันและการรวมพลังของกลุ่มคนหลากหลายนั้นถือว่าเป็นการขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดระดับโลกใน พ.ศ.นี้ ที่กระเทือนถึงเศรษฐกิจและไม่อาจมองข้ามได้ เพราะพวกเขาคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากการเปิดเผยขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO)

 

ความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง

 

สำหรับประเทศไหนที่อยากจะเชิญชวนหรือดึงดูให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาเที่ยวนั้น สิ่งสำคัญที่พวกเขาให้ความสนใจคือ ‘ความปลอดภัย’  ความปลอดภัยในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่มีโจรชุกชุมเท่านั้น แต่ความปลอดภัยในแง่มุมของพวกเขาคือ

 

‘สังคมที่ประเทศนั้นเปิดกว้างต่อการยอมรับ LGBTQIA+ มากน้อยเพียงใด’

 

บางคนจะมองแค่เพียงชื่อเสียง หรือความที่ได้ยินมาว่าประเทศนี้เป็นมิตรกับกลุ่มเพศหลากหลาย อย่างนักท่องเที่ยวหลายคนที่มาเมืองไทยก็ประทับใจกับสิ่งนี้ แต่หลายคนมองไปลึกกว่านั้นคือ มองในเชิงของกฎหมายที่เข้ามารองรับ สำหรับประเทศไทยเอง เรามีพ.ร.บ. หลายตัวที่ดูแลสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2558 หรือพ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ทางฝั่งเพศหลากหลายก็มองว่าสิทธินั้นยังไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับ ‘สมรสเท่าเทียม’ และหากผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปได้ก็จะมีกำลังในการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกจำนวนไม่น้อยให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทย เพราะภาคสังคมของประเทศไทยรับรู้และเปิดกว้างต่อเรื่องนี้มากอยู่แล้ว เหลือเพียงแต่ภาคกฎหมายที่จะมาเติมเต็มให้สมบูรณ์

จากสถิติของ booking.com ระบุว่ากว่าร้อยละ 71 ของผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งเป็น LGBTQIA+ ยอมรับว่าทัศนคติ และการเลือกปฏิบัติในสังคมที่มีต่อพวกเขากระทบต่อการตัดสินใจเดินทาง โดยเฉพาะชาวออสเตรเลีย ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากที่สุด  ซึ่งจะเห็นจากผลสำรวจได้ว่ากลุ่มเพศหลากหลายเลือกที่จะไม่เดินทางไปประเทศที่มีบทลงโทษประหารชีวิตกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน  หรือแม้แต่กระทั่งในช่วงที่มีบอลโลก ก็ยังไม่สามารถดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้ได้เพราะประเทศเหล่านั้นไม่รับรองบุคคลเพศหลากหลาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนข้ามเพศมีอัตราการยกเลิกการเดินทางไปยังปลายทางกว่าร้อยละ 63

 

สำหรับผู้ที่เป็นคนข้างเพศ การเดินทางท่องเที่ยวจะพบกับอุปสรรคมากกว่าปกติ เพราะรูปร่างหน้าตาไม่ตรงกับหนังสือเดินทาง ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อึดอัดกับสภาวะที่ต้องแสดงตัวตนของพวกเขาที่ไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง เช่น ต้องใส่เสื้อผ้าและการแต่งหน้าที่เข้ากับหน้าบัตรประชาชน รวมไปถึงการปฏิบัติจากการบริการที่มักจะใช้สรรพนามหรือระบุเพศของพวกเขาไม่ตรงตามอัตลักษณ์ที่พวกเขาเป็น

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ ‘จุดมุ่งหมายการเดินทาง’ ที่อยากเดินทางแล้วเจอความอิสระเสรี ได้พักผ่อนและปลดปล่อยจากชีวิตและการทำงานที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้เต็มที่ โดยพบว่าในปี 2566 กลุ่มเพศหลากหลายรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตัดสินหรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเดินทางเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 จากปี 2565

 

นอกจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัยที่สังคม เมือง และผู้ประกอบการต้องจริงใจกับพวกเขาแล้ว จะพบว่านักท่องเที่ยวเพศหลากหลายเลือกท่องเที่ยวตาม Bucket List ของตัวเอง  และส่วนหนึ่งจะเลือกสถานที่ท่องเที่ยวตามเพื่อนในกลุ่มเพศหลากหลายด้วยกันซึ่งเคยไปมา

 

สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายนี้มีความเป็นชุมชนค่อนข้างสูง หมายถึงพวกเขามักจะให้ความสนใจกับสิ่งที่ชุมชนเพศหลากหลายแนะนำ อาทิร้อยละ 65 ของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เป็น LGBTQIA+ ชอบที่จะเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับ LGBTQIA+ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวข้องกับชุมชนของพวกเขา

 

เจาะจง เจาะใจ LGBTQIA+  สินค้าและการบริการที่เสมอภาค

 

ก่อนอื่นบริษัทต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงตัวเป็นพันธมิตรเพื่อดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมให้แก่ชาวเพศหลากหลาย  เพราะจากผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 65 กลุ่มคนเพศหลากหลายจะทำการหาข้อมูลการท่องเที่ยวก่อนการเดินทางเสมอ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็รวมไปถึงประสบการณ์ที่มีต่อ LGBTQIA+ ในพื้นที่ด้วย และร้อยละ 66 พบว่าพวกเขาจะจองการเดินทางกับเจ้าของที่เป็น LGBTQIA+ มากกว่า รวมไปถึงสนับสนุนสายการบินและแบรนด์ที่เป็นกลางนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ

 

เพราะฉะนั้นการใช้ภาพในการโปรโมท หรือการสร้างแคมเปญที่สื่อถึงการยอมรับในความหลากหลาย ไม่เจาะไปแค่ภาพคนผิวขาวสองคนที่มาเที่ยวด้วยกัน แต่ภายในภาพรวมคนหลากหลายเชื้อชาติและหลากเพศ ย่อมทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเปิดใจแบบจอยๆ ได้มากกว่า

 

นอกจากนี้กลุ่มเพศหลากหลายยังต้องการสินค้าบริการที่สะท้อนความเสมอภาคเมื่อพวกเขาท่องเที่ยว  เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจกับพนักงานผู้ให้บริการที่ให้บริการด้วยความจริงใจไม่ว่าลูกค้าจะเป็นเพศใด ใช้คำสรรพนามที่กลางๆ ไม่เจาะจงหรือระบุเพศ  ถามประเภทของห้องโดยไม่ชี้นำว่าต้องนอนแยกเตียงหากเห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวชายสองคนเดินทางมาด้วยกัน  ให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ และสามารถแนะนำสถานที่ใกล้ๆโรงแรมที่เป็นมิตรต่อกลุ่มที่มี

 

อย่างไรก็ตามการทำแบรนดิ้งและแคมเปญของสินค้าและบริการบางชนิดก็มีในลักษณะของ Pinkwashing คือใช้กลุ่มหลากหลายทางเพศในการเรียกยอดการขายเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความจริงใจในการสนับสนุนหรือเข้าใจประเด็นในด้านความหลากหลายอย่างแท้จริง หากลูกค้าในกลุ่มนี้สัมผัสได้ย่อมเป็นผลเสียต่อธุรกิจอย่างแน่นอน  เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำการตลาดอย่างไรต้องกลับมาสู่พื้นฐานของการทำธุรกิจและให้บริการนั่นก็คือ .. ความจริงใจที่ต่อความเข้าใจและยอมรับในความหลากหลายและเท่าเทียมอย่างแท้จริง