posttoday

จากสตรีเหล็ก สู่ มาตาลดา ‘กระเทย’ ไม่เคยเป็นอย่างที่คิด

16 มิถุนายน 2566

ทุกวันนี้แทบจะไม่มีคนพูดคำว่า ‘กระเทย’ แต่ถ้าย้อนไปสิบถึงยี่สิบปีคำว่า ‘กระเทย’ ถูกใช้อย่างเกลื่อนกลาด และดูเหมือนว่าถ้าชายที่ไม่อยากเป็นชายไม่ว่าจะแตกต่างอย่างไร ก็จะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ‘กระเทย’ เท่านั้น

เมื่อวันจันทร์ - อังคารที่ผ่านมาหากใครได้เปิดดูละครก่อนเข้านอน ก็จะพบละครเรื่อง ‘มาตาลดา’ ซึ่งออนแอร์ทางช่อง 3 และเพียงสัปดาห์ที่สอง ‘มาตาลดา’ ก็พาตัวเองติดเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์ ซึ่งนอกจากเป็นเพราะพระเอกสวยหล่อ เล่นดีอย่างเจมส์ จิรายุ หรือ เต้ย จรินทร์พร แต่ส่วนสำคัญคือเพราะบทของ ‘พ่อเกรซ’  ที่แสดงโดยชาย ชาตโยดม และ ‘น้าวี’ ซึ่งถูกถ่ายทอดโดย โกโก้ กกกร ในบทของพ่อที่เป็น LGBTQIA+ และหล่อหลอมนางเอกในครอบครัวที่ต่างก็เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศทั้งหมดที่แสดงออกมาได้มีสีสัน และละมุนด้วยคำพูดที่สอนเรื่องการยอมรับความหลากหลายได้อย่างดี

มาตาลดาถูกเลี้ยงมาในครอบครัวที่เป็น LGBTQIA+

อย่างไรก็ตาม การกลับมาบนหน้าจอของ ‘โกโก้’ ในบทบาทของ ‘น้าวี’ ก็ทำให้หวนคิดถึงสมัยที่ยังต่อคิวซื้อตั๋วหนังเพื่อดูเรื่องสตรีเหล็ก ภาพยนตร์ชื่อดังที่ออกมาพูดเรื่องของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โกโก้ในครั้งนั้นแสดงเป็น ‘เปีย’ สาวงามนักวอลเล่ย์บอล  LGBTQIA+ คนเดียวที่แปลงเพศและลงเล่นวอลเล่ย์บอลในฐานะนักกีฬาชาย และเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เป็น LGBTQIA+ ในฐานะนักแสดงหลักตัวจริง ...

ภาพของภาพยนตร์สตรีเหล็กเมื่อ 20 ปีก่อน กับละครมาตาลดานั้น มีบางส่วนที่ซ้อนทับกัน อย่างที่ไม่นึกว่ายี่สิบปีผ่านไป สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และมีบางส่วนที่แตกต่างออกไป .. อย่างที่มีคนบอกไว้ว่าดูละครสะท้อนดูตัว .. บทของละครและภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องก็สามารถสะท้อนถึงพัฒนาการของสังคมต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศได้เช่นกัน

ภาพยนตร์เรื่อง สตรีเหล็ก ออกอากาศในปี ค.ศ.2000

 

จากพูดเหมารวมว่าเป็น ’กระเทย’ สู่ LGBTQIA+

 

ถ้าใครดูสตรีเหล็กจะพบว่า ศัพท์ที่ใช้เรียกตัวละครสมาชิกชมรมวอลเล่ย์บอลสตรีเหล็กนั้น ใช้คำว่า ‘กระเทยหรือตุ๊ด’  ในละครสตรีเหล็กแม้เพื่อนสาวภายในทีมจะมีคาแรคเตอร์ที่ต่างออกไป บางคนแปลงเพศ บางคนยังคงแต่งเป็นผู้ชาย (แต่การแสดงก็จะติดกริยาตุ๊งติ๊งออกมามากน้อยแตกต่างกันไป)  .. แต่ทุกคนที่เป็นเพศชาย แต่ไม่ใช่ผู้ชาย จะถูกเหมารวมว่าเป็น ‘กระเทย’ ส่วนโค้ชซึ่งเป็นผู้หญิงแต่ใจเป็นชาย ก็จะเรียกว่า ‘ทอม’ .. สังคมไทยใน 20 ปีก่อน มีแค่เพียงกรุ๊ปของกระเทยและทอมเท่านั้น ต่างกับสังคมปัจจุบันที่ใช้คำว่า LGBTQIA+ เพราะยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า 3 หรือ 4 เพศอย่างที่เคยคิดกัน หรือหากเทียบกับสังคมโลกที่รณรงค์ให้ใช้คำว่า LGBTQ เพื่อแสดงให้เห็นความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ปี 1988 หรือ 40 ปีก่อน  สังคมไทยก็จะช้าไปกว่า 20 ปี

 

การมองแบบเหมารวมเช่นนี้เกิดผลกระทบหลายด้าน นอกจากที่ว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ในสมัยนั้นไม่กล้าออกมาแสดงตัวตนที่แตกต่างจากเพศชายหรือหญิง เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ตุ๊งติ๊ง หรือเป็นกระเทย  บางคนชอบความเป็นชายที่ชอบผู้ชาย  บางคนเป็นผู้หญิงแต่ก็ชอบผู้หญิงแต่ก็ไม่ใช่ทอม ยังคงแต่งตัวสวยงามเหมือนเดิม  คนเหล่านี้หายไปจากการรับรู้ของสังคมและทำให้พวกเขาอึดอัดและไม่มีที่ยืนในช่วงเวลาดังกล่าว

 

นอกจากการจัดหมวดหมู่ที่เกิดขึ้นจากการใช้คำว่า ‘กระเทย’ แล้ว กระบวนการมองแบบเหมารวมยังคงเกิดขึ้นกับ ‘คาแรคเตอร์’ ของคนที่เป็นกระเทยอีกด้วย  สะท้อนในคำพูดตอนหนึ่งของเปียในเชิงว่า

 

‘เป็นตุ๊ดมันต้องเลว ... มันต้องมั่วผู้ชาย’

 

เธอพูดขึ้นเมื่ออกหักจากผู้ชายที่หันไปเลือกผู้หญิงที่พ่อแม่จัดหาให้มากกว่าเธอ แม้เธอจะเคยพูดว่าต่อให้เป็นกระเทย มีแฟนก็ต้องรักเดียวใจเดียวก็ตาม คำพูดนี้สะท้อนได้ดีถึงความคิดของคนนอกต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ถูกมองว่า ‘บ้าผู้ชาย’ หรือเป็นต้นเหตุของปัญหา ‘เอดส์’ จากการบ้าผู้ชาย จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่หลายประเทศที่ไม่ยอมรับเพศที่สามก็ใช้คำกล่าวอ้างในเรื่องของปัญหา ‘เอดส์’ มาห้ามเช่นกัน

เปีย นักตบวอลเล่ย์บอลซึ่งมีรูปหลักภายนอกเป็นผู้หญิง

กลับมาดูละครเรื่อง ‘มาตาลดา' เมื่อสังคมผ่านมา 20 ปี เรายังจะพบคาแรคเตอร์ของกลุ่มคนเพศหลากหลายที่มีสีสันและความสนุกสนานเช่นเดิมไม่ต่างจากในสตรีเหล็ก  ยกเว้นการถึงเนื้อถึงตัวผู้ชายที่แทบจะไม่เห็นในละครไทยยุคใหม่ เพื่อเป็นการลดอคติต่อคนในสังคมที่ชอบมองว่าเป็นกระเทยต้องบ้าผู้ชายดังกล่าว  .. อย่างไรก็ตามในมิติของคำว่า ‘กระเทย’ ก็ไม่มีการใช้อีกแล้วในละครมาตาลดา แต่มีการเรียกว่า LGBTQ แทน  นอกจากนี้มิติของละครเรื่องนี้มีการพูดถึงเรื่อง ‘สิทธิสตรี’ ร่วมด้วย ผ่านคำพูดของ ‘แพง’ ตัวละครสาวชั้นสูง มีการศึกษาที่ดี

 

การสื่อสารประเด็นสิทธิสตรีในละครที่มีการพูดถึงประเด็น LGBTQIA+ ไปพร้อมกันนั้น  นัยหนึ่งนั้นทำให้เราเห็นว่าประเด็นของ ‘กระเทย’ ในทุกวันนี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก้อนเล็ก ๆ ของสังคมเฉกเช่นสมัยก่อน การเหมารวมให้ทุกคนเป็นกระเทย  ทำให้ปัญหาของพวกเขากลายเป็นปัญหาของคนกลุ่มเล็กๆ เพียงแค่กลุ่มเดียว   แต่เมื่อสังคมขยับขยายโลกทัศน์ที่มีต่อคำว่า กระเทยเปลี่ยนเป็น LGBTQIA+  ซึ่งหมายถึงการเรียกร้องไปสู่ความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ นับรวมเรื่องของทุกคนที่มีความหลากหลายและแตกต่าง นั่นทำให้การเรียกร้องเรื่อง LGBTQIA+  ในทุกวันนี้เมื่อสังคมผ่านมา 20 ปีเป็นประเด็นทางสังคมที่ ไม่ได้ยึดติดแค่รูปธรรมในเรื่องเพศเท่านั้น แต่มันคือการเรียกร้องเพื่อความหลากหลายและแตกต่างที่แท้จริง อาจรวมไปถึงกลุ่มคนผู้พิการ กลุ่มคนที่ไม่มีเสียงในสังคม กลุ่มคนที่ถูกมองว่าแตกต่างออกไปจากกลุ่มใหญ่  .... ทำให้ LGBTQIA+ ในทุกวันนี้ ใหญ่มากขึ้นและกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สุดอันดับต้นๆ ในปัจจุบัน

 

‘ตุ๊ด’ คำล้อที่รอวันสังคมเปลี่ยน

 

แตกต่างจากคำว่ากระเทยที่ออกจะเป็นทางการและไม่มีน้ำเสียงของการดูถูกดูแคลน คำว่า ‘ตุ๊ด’ นั้นถูกใช้เป็นคำล้อมานาน ... เมื่อพูดว่าตุ๊ด หลายครั้งที่มันแฝงไปด้วยความรู้สึกของการดูถูกว่าไม่แมนเอาซะเลย และมันก็ถูกใช้ในภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก เมื่อกลุ่มชายแท้เล่นวอลเล่ย์บอลอยากจะดูถูกกลุ่มสตรีเหล็ก ..  ยี่สิบปีผ่านไป ในละครเรื่องมาตาลดา มีตอนหนึ่งที่นางเอกในวัยเด็กถูกเพื่อนล้อว่า ‘มีพ่อเป็นตุ๊ด’ จนทำให้เกิดเรื่องทะเลาะ ถึงขั้นเรียกผู้ปกครองมานั่งไกล่เกลี่ยกัน .. ฉากนี้เองที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว เมื่อพ่อเกรซสั่งสอนมาตาลดาในประเด็นดังกล่าวว่า

 

‘ในโลกเรานี้นะลูก มีคนหลากหลายเพศเต็มไปหมดเลย ไม่ใช่แค่เฉพาะชายหรือหญิง คนเราเป็นคนธรรมดาเหมือนกันหมดเลย บางวันก็หงุดหงิด บางวันก็ใจดี แต่เพศไม่เกี่ยวกับการที่เราจะเป็นคนดีหรือไม่ดีเลยนะลูก

… คำว่าตุ๊ด ไม่ใช่คำหยาบ ถ้าใจเราไม่ได้เหยียด’

พ่อเกรซซึ่งเป็นกลุ่มคนเพศหลากหลาย

 

แค่เพียงไดอะล็อกเดียวแต่เราเห็นได้ถึงพัฒนาการของสื่อละครหรือภาพยนตร์บ้านเรา ที่มองมิติของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้ลึกขึ้นตามพัฒนาการของสังคม  ทั้งในประเด็นของการยอมรับว่าคนมีหลากหลายเพศ หรือการออกมาชี้ประเด็นว่าเพศไม่เกี่ยวกับการจะเป็นคนดีหรือไม่ดี และเป็นคนธรรมดาเท่าเทียมกัน  ที่สำคัญคือประเด็นการใช้คำว่า ‘ตุ๊ด’ ซึ่งเป็นคำล้อเลียนที่มีมานานในสังคมไทยหลายสิบปี  ซึ่งละครเรื่องนี้มองว่า ‘ภาษาไม่ได้ผิด คำว่าตุ๊ดไม่ได้ผิด แต่สิ่งที่ผิดคือใจของผู้พูดที่ยังคงมีความไม่เข้าใจและอคติต่อคนกลุ่มนี้’ บางทีเราอาจไม่ต้องพูดคำว่า LGBTQIA+ ซึ่งยาวขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ในอนาคต เราจะใช้คำว่า ‘กระเทย’ หรือ ‘ตุ๊ด’ ก็ย่อมได้ ถ้าหัวใจของคนที่พูดเข้าใจจริงๆ ถึงสาระสำคัญของความหลากหลายและความแตกต่างอย่างแท้จริง

 

“เขาใจร้ายเพราะว่าเราไม่เหมือนเขาแค่นั้น"

 

เมื่อได้เห็นแบบนี้ เคยสงสัยหรือไม่ว่า .. ความคิดที่ว่าการเป็น ‘ตุ๊ด’ แล้วไม่ดี มันเริ่มจากที่ตรงไหนกัน?  เริ่มจากสังคมที่มองแบบเหมารวมว่าคนเป็นตุ๊ดนั้นมั่วผู้ชาย เริ่มจากการที่เขาแสดงออกมาไม่ตรงกับภายนอกที่พวกเขาไม่ได้เลือกเองหรืออย่างไร .. ถ้าไม่ใช่ แล้วเป็น ‘ตุ๊ด’ ไม่ดีที่ตรงไหนกัน  ทำไมอคติที่มีต่อพวกเขาจึงไม่ลดลงไปเสียที

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ‘ไม่เหมือนเขา และไม่เหมือนที่เขาหวัง’  ละครมาตาลดาเป็นละครฟีลกู้ดที่เน้นความสัมพันธ์ในครอบครัว แม้ออกมาแค่เพียงสองสามตอน แต่เราก็พอได้กลิ่นว่า ‘ทุกอย่างนั้นเริ่มจากครอบครัว’ แม้มาตาลดาจะไม่ได้มีครอบครัวที่สมบูรณ์ แต่เธอกลับมีความสุขและใจดีกับผู้อื่นได้ และเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่บนโลกใบนี้ มีหลายครั้งที่เธอยอมรับว่าตัวเอง ‘โง่’ ด้วยซ้ำ .. นี่คือเสน่ห์ของมาตาลดาที่ไม่เคยตัดสิน หรือมีอคติต่อรูปแบบชีวิต หรือไม่ตัดสินใคร เพราะเธอ ‘ใจดี’ กับทุกคน  สิ่งเหล่านี้ถูกหล่อหลอมจากพ่อที่เป็น LGBTQIA+ ของเธอ หลังจากที่เขาเคยถูกตัดสินมาทั้งชีวิต เริ่มต้นจากครอบครัวซึ่งไม่ยอมรับและผิดหวังในตัวเขาหลังจากทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้เรียนสูงๆ

เช่นกันกับภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก ตัวละครหนึ่งต้องโดนบังคับจากครอบครัวคนจีนให้หมั้นหมายกับหญิงสาวคนหนึ่ง และต้องเก็บซ่อนความเป็นตัวเอง  สุดท้ายจบลงด้วยการออกจากครอบครัวที่ไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยอีกต่อไป เช่นเดียวกันพ่อของมาตาลดา  ..

สิ่งนี้ยังคงถูกสะท้อนออกมาเหมือนกัน ไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะผ่านมานานแค่ไหน เราคงต้องยอมรับว่ายังคงมีเรื่องแบบนี้ในมุมหนึ่งของสังคม มันน่าปวดใจที่คนที่พวกเขารักที่สุดไม่อาจยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น เพียงเพราะไม่เป็นอย่างที่หวัง ..

 

การผลิตละครหรือภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง นั้นมีพลังมากพอที่จะพูดหรือสื่อสารประเด็นสังคม จรรโลงสังคม และปลอบประโลมสังคมไปพร้อมๆ กัน  เช่นเดียวกับ การเดินทางจาก ‘สตรีเหล็ก’ สู่ ‘มาตาลดา’ ซึ่งทำให้เรายิ้มได้อีกครั้ง ตอนที่สตรีเหล็กออกฉาย ดังเป็นพลุแตกจนทำให้เกิดการทำภาคสอง สังคมไทยชื่นชอบคนที่เป็น LGBTQIA+ และเปิดใจให้กับคนกลุ่มนี้ด้วยความน่ารักและมีเสน่ห์  แม้ว่าบางสิ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป แต่การสื่อสารในประเด็นความหลากหลายและความแตกต่างที่ออกมาย่อมมีสักมุมหนึ่งไม่มากก็น้อยที่จะหล่อหลอมให้คนในสังคม ‘ใจดี’ ต่อเพื่อนมนุษย์ที่แตกต่างได้มากขึ้น อย่างที่ละคร ‘มาตาลดา’ พยายามจะบอกกับคนดูทุกคน